EIC หั่นจีดีพี-ห่วงการเมืองไม่แน่นอนกระทบเศรษฐกิจ

Household debt

อีไอซี หั่นจีดีพีปี’67 เหลือ 2.5% ห่วงเศรษฐกิจไทยเจอ 3 ปัจจัยเสี่ยง “หนี้ครัวเรือนสูง-ความสามารถแข่งขันลดลง-หนี้สาธารณะสูง” แนะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ-เยียวยากลุ่มเปราะบาง ห่วงการเมืองไม่แน่นอนกระทบนโยบาย-ฉุดความเชื่อมั่น

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า อีไอซีปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2567 ลงมาอยู่ที่ 2.5% ต่อปี จากเดิม 2.7% เป็นการปรับประมาณการครั้งที่ 2 จากปลายปีก่อนคาดว่าจะขยายตัวได้ 3% โดยเศรษฐกิจไทยยังคงสะท้อนภาพ “โตช้า เปราะบาง ไม่แน่นอน” ซึ่งคาดว่าครึ่งปีแรกจะขยายตัว 2% และครึ่งปีหลัง 3.1%

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ

“ธีมเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ภายใต้ เศรษฐกิจโตช้า เปราะบาง ไม่แน่นอน มี Downside Risk มากกว่า Upside Risk ซึ่งกรณีเลวร้าย หากมีสงครามการค้าโลก ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ การเลือกตั้งสหรัฐมีความวุ่นวาย สงครามระหว่างไต้หวันและจีน จนกระทบภาคส่งออก ทำให้จีดีพีก็มีโอกาสหลุด 1% ได้เหมือนกัน”

โดยปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นเรื่องน่ากังวล เพราะกระทบเศรษฐกิจระยะสั้นและต่อเนื่องไปในระยะยาวได้ สะท้อนผ่าน 3 สถานการณ์ คือ 1.ภาคการผลิตลดลงต่อเนื่อง กระทบมายังภาคการจ้างงาน และรายได้ลดลง 2.ภาคเศรษฐกิจจริงและภาคการเงินไม่สนับสนุนกัน

โดยปัจจุบันจะเห็นสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อน้อยลง สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยไม่ดี ทำให้ธนาคารเข้มการปล่อยสินเชื่อ ทำให้คนเข้าถึงสินเชื่อและเงินทุนยากขึ้น ยิ่งทำให้อุปสงค์แย่ลงไปเรื่อย ๆ และ 3.วัฏจักรเศรษฐกิจภายในประเทศที่เปราะบาง กระทบต่อการลงทุน ทำให้ไทยไม่สามารถเติบโตได้ตามศักยภาพได้

Advertisment

“เศรษฐกิจไทยต้องการแรงขับเคลื่อนทั้งการกระตุ้นระยะสั้น และการแก้ไขเชิงโครงสร้างระยะยาว โดยการกระตุ้นอาจจะต้องกระตุ้นคนที่มีกำลังซื้อและมีเงินออม ซึ่งอาจจะไม่ใช่แค่ระดับปัจเจกบุคคล แต่ในระดับห้างร้าน ขณะที่กลุ่มระดับกลางและล่างที่มีความเปราะบางมากขึ้น ซึ่งกลุ่มนี้จำเป็นต้องใช้มาตรการช่วยเหลือและเยียวยา เพราะมีรายได้ไม่พอรายจ่าย”

ทั้งนี้ ข้อมูลจากการสำรวจพบว่า ครัวเรือนที่มีรายได้ไม่พอจ่าย จะอยู่ในกลุ่มรายได้ 4 หมื่นบาท/ครัวเรือน แต่ปัจจุบันพบว่ารายได้ 5-6 หมื่นบาท ก็มีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายมากขึ้น จึงเป็นที่มาการกระตุ้นรากหญ้าอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องกระตุ้นคนที่มีเงินเหลือมากขึ้น

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่อีไอซีให้ความเป็นห่วงมีอยู่ 3 เรื่อง คือ 1.หนี้ครัวเรือนที่เริ่มเป็นปัญหาสุกงอม 2.ความสามารถในการแข่งขัน และ 3.หนี้สาธารณะที่ปรับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นข้อจำกัดในการดูแลเศรษฐกิจ ขณะที่ความไม่แน่นอนทางการเมืองจะส่งผลต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนที่อาจจะเปลี่ยนใจไปลงทุนในประเทศอื่น

“ประเทศร่างกายอ่อนแอลง เศรษฐกิจไทยที่โตช้าลง ยังไม่ใช่วิกฤต แต่จากปัญหาสุขภาพของเราที่อ่อนแรงลง เรายังป่วย ติดเชื้อได้ง่าย หากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวชัดเจน หรือประเทศอื่นวิกฤต เกิดสงคราม เราจะเกิดวิกฤตง่าย เร็วขึ้น การกระตุ้นก็ทำได้ยากขึ้น”

Advertisment

ดร.สมประวิณกล่าวว่า สำหรับแนวโน้มนโยบายการเงิน คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งปลายปี 2567 เหลือ 2.25% และปรับลดอีกครั้งเหลือ 2% ในช่วงต้นปี 2568 จากแรงส่งอุปสงค์ในประเทศในระยะข้างหน้าที่อาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากฐานะครัวเรือนที่ยังเปราะบาง และปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังมีอยู่ รวมถึงภาวะการเงินตึงตัวที่จะส่งผลกระทบชัดเจนขึ้น และความเสี่ยงเศรษฐกิจในปี 2568 ที่จะปรับเพิ่มขึ้น