EIC หั่นจีดีพีเหลือโต 2.5% หนี้ครัวเรือนสูง-ปัญหาโครงสร้าง ฉุดเศรษฐกิจโตช้า

อีไอซี หั่นจีดีพีรอบ 2 เหลือ 2.5% จาก 2.7% ห่วงปัญหาเชิงโครงสร้าง-หนี้ครัวเรือนสูง กระทบเศรษฐกิจระยะสั้น ยันไทยยังไม่วิกฤต แค่ร่างกายอ่อนแอ ติดเชื้อง่ายหากเจอปัจจัยภายนอกกระทบ

วันที่ 18 มิถุนายน 2567 ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2567 อยู่ภายใต้ “เศรษฐกิจโตช้า เปราะบาง ไม่แน่นอน” ซึ่งยอมรับว่าส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยต่างประเทศที่สร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาหนี้ที่อยู่ระหว่างสูง ที่สร้างความเปราะบางต่อเศรษฐกิจไทย

ดังนั้น ล่าสุดอีไอซีได้ปรับประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) เหลือ 2.5% เป็นการปรับจีดีพีครั้งที่ 2 ของปี จาก 3% และ 2.7% ความกังวลจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่เพิ่มขึ้น ซึ่งที่เป็นเรื่องระยะยาวที่แก้ยาก และถูกกระทบจากปัญหาระยะสั้น ทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นยังมีความจำเป็น โดยเฉพาะการช่วยเหลือเยียวยาคนระดับล่าง ระดับกลางที่ยังเปราะบาง

ดังนั้น แม้เศรษฐกิจโลกเติบโตได้ดี แต่เศรษฐกิจไทยยังเติบโตช้า เศรษฐกิจไทยไม่ได้เติบโตดีไปด้วย ดังนั้น ต้องการทั้งแรงขับเคลื่อน ทั้งการกระตุ้นระยะสั้น และการแก้ไขเชิงโครงสร้างระยะยาว

Advertisment

“ปัจจัยการเมืองเข้าเพิ่มความไม่นอนของเศรษฐกิจไทย เพราะหากรัฐบาลเปลี่ยนนโยบายจะถูกกระทบ ความไม่มั่นใจในการลงทุนเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากเรื่องหนี้ครัวเรือน ปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่เรากังวลมาก เพราะเริ่มกระทบเศรษฐกิจในระยะสั้น และจะกระทบต่อเนื่องถึงระยะยาว”

นอกจากนี้ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์จะสร้างความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นในโลก และยิ่งเร่งโลกแบ่งขั้ว (Decoupling) แต่จะเป็นโอกาสของภาคอุตสาหกรรมไทยได้ SCB EIC ประเมินว่ารูปแบบการค้าโลกกำลังจะเปลี่ยนไป เนื่องจากกลุ่มประเทศที่มีขั้วเศรษฐกิจต่างกันจะพึ่งพาการค้ากันลดลง และหันมาพึ่งพาประเทศที่มีบทบาทเป็นกลาง (Neutral Stance) มากขึ้น

ประเทศไทยซึ่งรักษาบทบาทเป็นกลางในเกมภูมิรัฐศาสตร์โลกจะได้รับประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทางการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Diversion) จากกลุ่มประเทศที่แบ่งขั้วกันมากขึ้น อย่างไรก็ดี ภาคอุตสาหกรรมไทยจะได้รับผลกระทบต่างกันใน 2 กลุ่มคือ

1.กลุ่มที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ เช่น คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์และส่วนประกอบ

Advertisment

2.กลุ่มที่มีความเสี่ยงทั้งจากผลกระทบที่สหรัฐหันไปนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่แข่งในภูมิภาคมากขึ้น หรือมีการแข่งขันรุนแรงกับประเทศที่เป็นกลางอื่น ๆ เช่น สิ่งทอและอุปกรณ์ไฟฟ้า

ไทยจะคว้าโอกาสท่ามกลางโลกแบ่งขั้วรุนแรงขึ้นได้ ต้องมีนโยบายส่งเสริมการส่งออกและการปรับตัวธุรกิจเชิงรุก ซึ่งจะต้องออกแบบให้สอดคล้องกับบริบทเฉพาะของสินค้าแต่ละประเภทที่อาจได้หรือเสียประโยชน์แตกต่างกัน แบ่งได้ 4 กลุ่มคือ

1.กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตเก่ง แต่แข่งขันสูง : นโยบายภาครัฐควรเน้นพัฒนาความสามารถในการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม และความได้เปรียบในการแข่งขัน ขณะที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวชูจุดแข็งของสินค้าและเจาะตลาดเป้าหมาย รวมถึงวางกลยุทธ์เพิ่มส่วนแบ่งตลาด และปรับสินค้าให้ทันเทรนด์โลก

2.กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตเก่ง และการแข่งขันไม่สูง : นโยบายภาครัฐควรสนับสนุนให้ผู้ส่งออกเปิดตลาดใหม่กระจายความเสี่ยง และยกระดับกระบวนการผลิตตามมาตรฐานความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวลดความเสี่ยงจาก Climate Change และลงทุนพลังงานหมุนเวียน

3.กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตไม่เก่ง แต่การแข่งขันไม่สูง : นโยบายภาครัฐควรให้สิทธิประโยชน์จูงใจให้ดำเนินธุรกิจเดิม แต่ลงทุนเพิ่มศักยภาพการผลิต มุ่งตลาดส่งออกที่มีอยู่ ขณะที่ภาคธุรกิจควรปรับตัวเพิ่มศักยภาพเทคโนโลยีการผลิตและสร้างความเข้าใจในตลาดขั้วสหรัฐและขั้วจีน เพื่อเข้าถึงความต้องการของตลาดได้ดีขึ้น

4.กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตไม่เก่ง และแข่งขันสูง : นโยบายภาครัฐควรช่วยให้ธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปยังภาคการผลิตที่มีศักยภาพในการเติบโตบนห่วงโซ่การผลิตใหม่ได้ ขณะที่ภาคธุรกิจควรเร่งปรับตัวสู่ห่วงโซ่การผลิตใหม่และหาพันธมิตรด้านเทคโนโลยีสนับสนุน

“ประเทศร่างกายอ่อนแอลง เศรษฐกิจไทยที่โตช้าลง ยังไม่ใช่วิกฤต แต่จากปัญหาสุขภาพของเราที่อ่อนแรงลง เรายังป่วย ติดเชื้อได้ง่าย หากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวชัดเจน หรือประเทศอื่นวิกฤต เกิดสงคราม เราจะเกิดวิกฤตง่าย เร็วขึ้น ซึ่งการกระตุ้นก็ทำได้ยากขึ้น”