ดอลลาร์ทรงตัว จับตาเงินเฟ้อและผลประชุมเฟด

ธนบัตร U.S.dollar banknotes
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

ดอลลาร์ทรงตัว จับตาเงินเฟ้อและผลประชุมเฟด ล่าสุด CME FedWatch Tool บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนัก 100% ว่าเฟดยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมครั้งนี้

วันที่ 12 มิถุนายน 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 12 มิถุนายน 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/6) ที่ระดับ 36.75/76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (11/6) ที่ระดับ 36.71/72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยระหว่างวันนักลงทุนชะลอการซื้อ-ขาย ขณะจับตารอการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือน พ.ค. และมติการประชุมนโยบายการเงินประจำวันที่ 11-12 มิ.ย. รวมถึงรายงานการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ และคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ของเจ้าหน้าที่คณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในคืนวันนี้ (12/6) หลังจากที่มีการเปิดฉากการประชุมนโยบายการเงินเมื่อคืนวานนี้ (11/6) โดยตลาดจับตารายงานเหล่านี้อย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินหาสัญญาณบ่งชี้ที่แน่ชัดเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้

ล่าสุด CME FedWatch Tool บ่งชี้ว่านักลงทุนยังคงให้น้ำหนักราว 100% ว่าเฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมครั้งนี้ ขณะที่นักลงทุนยังคงให้โอกาสราว 50% ว่าเฟดมีโอกาสที่จะลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในการประชุมเดือน ก.ย.

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงจับตาการเปิดเผยดัชนี CPI ประจำเดือน พ.ค. ในคืนวันนี้ (12/6) โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงานจะยังคงทรงตัวที่ระดับ 3.4% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกันกับเดือน เม.ย. ทั้งนี้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.5% เมื่อเทียบรายปี จะเป็นการปรับตัวเลขลดลงจากเดือน เม.ย.ที่ระดับ 3.6%

Advertisment

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ วันนี้ (12/6) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงมติประชุมนโยบายการเงิน 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี พร้อมทั้งคงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไทยในปี 2567 ไว้ที่ 2.6% และปี 2568 ที่ระดับ 3.0% ตามเดิม โดยแรงหนุนหลักมาจากแนวโน้มการขยายตัวจากอุปสงค์ในประเทศและภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการเบิกจ่ายภาครัฐที่กลับมาเร่งขึ้นในไตรมาสที่ 2 ขณะที่การส่งออกขยายตัวต่ำ

ส่วนทางด้านอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับขึ้น และจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2567 ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แตะระดับ 36.69/70 บท/ดอลลาร์สหรัฐ

อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน และเพื่อรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า ขณะที่นักลงทุนยังคงจับตาความเคลื่อนไหวทางการเมืองในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 36.68-36.76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.67/68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/6) ที่ระดับ 1.0736/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (11/6) ที่ระดับ 1.0739/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร วันนี้ (12/6) สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนี CPI ของเยอรมนีเดือน พ.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1% เดือนต่อเดือน ซึ่งปรับตัวลดลงจนเดือน เม.ย.ที่ระดับ 0.5% แต่ยังคงอยู่ในระดับเดียวกันกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0733-1.0753 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0748/52 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/6) ที่ระดับ 157.12/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดัลปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (11/6) ที่ระดับ 157.26/28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เช้าวันนี้ (12/6) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาสินค้าผู้ประกอบการ (CGPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อจากภาคค้าส่งของบริษัทญี่ปุ่น ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.4% ในเดือน พ.ค.เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 2.0% และสูงกว่าเดือน เม.ย.ที่ระดับ 1.1% ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นรายปีที่สูงที่สุดในรอบ 9 เดือน

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 157.03-157.37 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 157.30/33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ CPI เดือน พ.ค. (12/6), ประชุมนโยบายการเงินของเฟด (11-12/6), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (13/6), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน พ.ค. (13/6), ราคานำเข้าและส่งออกเดือน พ.ค. (14/6), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน มิ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (14/6), การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน เม.ย.ของยูโรโซน (13/6) และประชุมนโยบายการเงินของญี่ปุ่น (BOJ) (13-14/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.3/-9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7.6/-6.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ