ตลาดหุ้นไทย ยังมีเสน่ห์ในสายตา “ต่างชาติ” หรือไม่ ผู้จัดการ ตลท. มีคำตอบ

ภากร ปีตธวัชชัย
ภากร ปีตธวัชชัย

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยเดินทางพร้อมนายกเศรษฐา เข้าร่วมงาน UBS Asian Investment Conference 2024 ที่ฮ่องกง โรดโชว์พบกองทุนต่างชาติกว่า 3,000 กองทุน ชูจุดแข็งประเทศไทย ยันมาตรการกำกับตลาดหุ้นไม่กระทบนักลงทุนต่างชาติ พร้อมเผยมุมมองต่างชาติต่อประเทศไทย-หุ้นไทย

วันที่ 6 มิถุนายน 2567 นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (28-29 พ.ค.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปเข้าร่วมงาน UBS Asian Investment Conference (AIC) 2024 ที่ฮ่องกง และตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมเดินสายแนะนำข้อมูลตลาดทุนไทย (โรดโชว์) ให้กับนักลงทุนในต่างประเทศด้วย

ซึ่งถือเป็นงานใหญ่ที่จัดโดยธนาคาร UBS ของสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีผู้ลงทุนสถาบัน/กองทุน เข้าร่วมกว่า 3,000 กองทุน ซึ่งมีกองทุนขนาดใหญ่ อาทิ BlackRock, JPMorgen, Asset Management เป็นต้น

ทั้งนี้ นายกเศรษฐาได้อัพเดตภาพรวมประเทศไทย ทั้งนโยบายเศรษฐกิจไทย และภาพตลาดทุนไทย โดยจุดแข็งของประเทศไทยที่มีความสำคัญคือ 1. ประเทศไทยไม่ได้อิงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงเป็นมิตรกับทุกประเทศที่ค้าขาย โดยตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ของบริษัทต่างชาติสูงกว่าปีก่อน ๆ ในระดับ 100%

2. ประเทศไทยเป็นแหล่งพลังงานสะอาด (Clean Energy) ซึ่งประเด็นนี้ค่อนข้างได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติเป็นอย่างมาก และ

Advertisment

3. การยกระดับมาตรการกำกับตลาดหุ้นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้อธิบายให้บรรดากองทุนได้เกิดความเข้าใจว่า เป็นการยกระดับเพื่อป้องกันในวัตถุประสงค์ที่จำกัดเฉพาะ และนักลงทุนต่างชาติจะไม่ได้รับผลกระทบ โดยมีเป้าหมายสำคัญด้วยกัน 3 ส่วนคือ 1. เพื่อให้การเข้าถึงตลาดหุ้นเท่าเทียมกัน ระหว่างนักลงทุนรายย่อยกับนักลงทุนสถาบัน 2. เพื่อควบคุมไม่ให้ราคาหุ้นเคลื่อนไหวมากเกินไป และ 3. เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมหรือการซื้อขายที่ผิดกฎหมายหรือไม่เป็นไปตามข้อกำหนด ตลท. ยกตัวอย่างเช่น การทำ naked short selling เป็นต้น

ทั้งนี้บรรดากองทุนค่อนข้างเข้าใจ และเห็นด้วยกับมาตรการกำกับของตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมกันนั้นได้มีการให้คำแนะนำเพิ่มเติมคือ อยากให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการสื่อสารกับกองทุนในต่างประเทศให้มากขึ้น และมีการขอให้รับฟังถึงแนวทางการบังคับใช้ในแต่ละมาตรการในอนาคต พร้อมกับแจ้งให้ทราบล่วงหน้า เพื่อปรับตัวไม่ให้เกิดผลกระทบต่อธุรกรรมหรือธุรกิจต่าง ๆ ของพวกเขา

นายภากรกล่าวต่อว่า ตอนนี้ในสายตาของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทยและตลาดหุ้นไทย ถามว่ายังมีเสน่ห์หรือไม่นั้น พบว่าตอนนี้นักลงทุนต่างชาติจะมองออกเป็น 2 ส่วนคือ 1. ด้านปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental) ของประเทศไทย ซึ่งมีจุดแข็งระดับโลกและทุกคนยังยอมรับคือ อุตสาหกรรมทางด้าน Well-being Economy, การส่งออก, อาหาร, เฮลท์แคร์ และการท่องเที่ยว และสิ่งที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสำคัญต่อไปคือ ธุรกิจพวกนี้ปัจจุบันมีอัตราเติบโต ด้วยการใช้เทคโนโลยีและขยายการทำธุรกิจใหม่ ๆ หรือการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) อย่างไรบ้าง

ในอนาคตสิ่งนักลงทุนต่างชาติอยากได้คือ ข้อมูลที่ทันต่อเหตุการณ์ และข้อมูลภาษาอังกฤษ ที่จะแสดงให้เห็นว่าธุรกิจในประเทศไทยมีความหลากหลายอย่างไร นี่คือสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯต้องนำไปจัดการ ทำให้ต่อไปเวลาจะให้ข้อมูลต่าง ๆ ต้องมีความชัดเจนขึ้น เช่น บริษัทจดทะเบียนที่เติบโต รายได้มาจากส่วนไหน และการเติบโตของกำไรมาจากเซ็กเตอร์ไหนเป็นสำคัญ

Advertisment

2. นักลงทุนต่างชาติทุกคนให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนไทยค่อนข้างมีคุณภาพ ติดอยู่ในดัชนี DJSI, MSCI ESG, FTSE4Good ดังนั้นต้องให้ข้อมูลที่ให้นักลงทุนต่างชาติได้รับทราบว่าบริษัทพวกนี้ทำอะไรบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ

และ 3. ตามที่นายกเศรษฐาได้พูดถึงการ Relocation ของอุตสาหกรรมในอนาคต ทำไมประเทศไทยน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการมีสิทธิประโยชน์ด้าน BOI ที่น่าสนใจ ประเทศไทยไม่มีความขัดแย้งทางการเมืองกับประเทศอื่น ไปได้กับทุกกลุ่ม ซึ่งให้ความสำคัญและมุ่งเน้นเรื่องพลังงานสะอาด ทำให้หลายธุรกิจมองว่านี่คือสิ่งจำเป็นที่จะต้องใช้ในอนาคต จึงเป็นจุดที่จะขยายต่อได้ ซึ่งบรรดากองทุนมักจะมองปัจจุบันไปถึงอนาคต

และที่น่าสนใจมากกับเรื่องที่ตลาดทุนไทยสามารถระดมทุนไอพีโอได้อย่างต่อเนื่อง ในทุก ๆ ปี ปีละ 30-40 บริษัท มีมาร์เก็ตแคปปีละ 3-4 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีสภาพคล่องที่สูง และมีโปรดักต์ที่เชื่อมต่อกับประเทศอื่น เช่น DR, ETF ซึ่งโปรดักต์เหล่านี้นักลงทุนค่อนข้างให้ความสนใจ แต่ก็มีข้อเสนอแนะอยากให้มี DR, ETF ที่เชื่อมในภูมิภาคได้มากกว่านี้ เพราะจะลงทุนได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปทำ Due Diligence เพิ่มเติม นี่คือสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์จะต้องมุ่งเน้นต่อไป