รัฐบาลเคาะแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มแรก 14.98 ล้านคน

Digital-Wallet

โฆษกรัฐบาลเผยรัฐบาลเคาะแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ให้กลุ่มเปราะบางผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรคนจน 14.98 ล้านคน กลุ่มแรก ภายในสิ้นปีงบประมาณ 2567 ขณะที่ล่าสุด “เผ่าภูมิ” ชี้เข้าใจคลาดเคลื่อน ยันแจกพร้อมกันทุกกลุ่ม 5 แสนล้าน

วันที่ 5 มิถุนายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่ประชุม ครม. วานนี้ (4 มิ.ย. 67) มีมติให้ความเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอจำนวน 122,000 ล้านบาท สำหรับเป็นงบฯกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ

โดยมีแหล่งเงินจากการจัดเก็บรายได้ที่เดิมไม่ได้กำหนดไว้ในประมาณการเพิ่มเติมจำนวน 10,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณจำนวน 112,000 ล้านบาท

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 เห็นชอบในหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยใช้จ่ายจาก 3 แหล่งเงิน ได้แก่

  • การบริหารงบประมาณ ปี 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท
  • การดำเนินการผ่านหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท
  • งบประมาณ ปี 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท

ขณะที่มติเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบฯ 2568-2571) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 ประกอบกับตามปฏิทินงบฯ เพิ่มเติมปี 2567 กำหนดให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบนโยบายงบฯ วงเงินงบฯ และโครงสร้างงบฯ เพิ่มเติมปี 2567 ในวันที่ 4 มิถุนายน 2567

Advertisment

ทั้งนี้ สำนักงบประมาณได้ประชุมหารือเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยกำหนดวงเงินงบฯ เพิ่มเติมปี 2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 สำหรับการดำเนินการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของรัฐบาล

โดยที่ประชุมได้กำหนดงบฯ เพิ่มเติมปี 2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท สำหรับเป็นงบฯกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ โดยมีแหล่งเงินจากการจัดเก็บรายได้ที่เดิมไม่ได้กำหนดไว้จำนวน 10,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณจำนวน 112,000 ล้านบาท

“การดำเนินการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะต้องลงทะเบียนผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการให้ทันภายในปีงบฯ 67 เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายงบฯ เพิ่มเติมปี 2567 ได้ทันภายในวันที่ 30 กันยายน 2567 และสอดคล้องตาม ม. 1 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินโครงการดังกล่าวสามารถดำเนินการทันภายในปีงบฯ 2567 จึงอาจพิจารณาผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการที่เป็นประชาชนกลุ่มเปราะบางผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 14.98 ล้านคน ตามขั้นตอนในโอกาสแรกก่อน” นายชัยกล่าว

Advertisment

ทั้งนี้ วงเงินงบฯเพิ่มเติมปี 2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับงบฯปี 2567 จำนวน 3,480,000 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,602,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบฯ 2566 จำนวน 417,000 ล้านบาท (ร้อยละ 13.1) ซึ่งเท่ากับกรอบวงเงินตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบฯ 2568-2571) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 และสำหรับงบฯลงทุน และงบฯชำระคืนต้นเงินกู้ มีสัดส่วนอยู่ภายในกรอบที่กำหนดตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

ต่อมา นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กรณีกระแสข่าวรัฐบาลเตรียมแผนจ่ายเงินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ให้กับกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14.98 ล้านคนก่อน หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอวงเงิน 122,000 ล้านบาท สำหรับเป็นงบฯกลางปี ว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

โดยทุกอย่างยังเดินหน้าตามที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ คือ เริ่มลงทะเบียนประชาชนและร้านค้า ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ และเงินกระจายถึงมือประชาชนในไตรมาส 4 ปีนี้ ดังนั้นทุกอย่างยังเป็นไปตามไทม์ไลน์เดิม

“ยังยืนยันว่าการจ่ายเงินในโครงการเป็นการจ่ายงวดเดียวทั้งก้อน 5 แสนล้านบาท ทุกคนได้ 10,000 บาท จำนวน 50 ล้านคนได้พร้อมกัน ตอนนี้ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ ข่าวที่ออกมาอาจเป็นความเข้าใจกันที่คลาดเคลื่อน โดยจะไม่มีการพิจารณากลุ่มนั้นกลุ่มนี้ก่อนตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ทุกคนได้เงินพร้อม ๆ กัน ในระยะเวลาเดียวกัน ในจํานวนเงินที่เท่ากัน เพราะเราต้องการเม็ดเงินจำนวนมาก ๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นก็ไม่ควรจะมีการทําเป็นแยกหลาย ๆ ภาคส่วน” นายเผ่าภูมิกล่าว

สำหรับงบประมาณที่มาทำในโครงการ Digital Wallet ยังคงเหมือนเดิม คือ ส่วนหนึ่งก็มาจากงบฯกลางปีเพิ่มเติมของการบริหารงบประมาณปี 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท โดยในส่วนนี้ได้ออกงบฯกลางปีจำนวน 122,000 ล้านบาท ส่วนที่ 2 มาจากที่ขยายงบฯขาดดุลของปี 2568 จำนวน 152,300 ล้านบาท และส่วนที่ 3 จากการใช้เงินตามมาตรา 28 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังปี 2561 ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 172,300 ล้านบาท

ส่วนงบประมาณที่ยังขาด จำนวน 10,000 ล้านบาท จะมีแหล่งเงินจากการจัดเก็บรายได้ที่เดิมไม่ได้กำหนดไว้ในประมาณการเพิ่มเติม เมื่อรวมกับเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 112,000 ล้านบาท จะอยู่ที่จำนวน 122,000 ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้เป็นรายละเอียดให้สํานักงบประมาณชี้แจง