กรมบัญชีกลาง เร่งรัดติดตาม “ส่วนกลาง-ภูมิภาค” เบิกจ่ายงบงบฯ 67

นางแพตริเซีย มงคลวนิช

กรมบัญชีกลาง เดินหน้าติดตามการเร่งรัด “ส่วนกลาง-ภูมิภาค” เบิกจ่ายงบปี 67 บังคับใช้ ตลอดจนแก้ไขปัญหาอุปสรรค

วันที่ 28 พฤษภาคม 2567 นางแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจในการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ได้มอบนโยบายให้คณะทำงานเฉพาะกิจในการติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ จำนวน 168 ทีม ประกอบด้วย

ข้าราชการกรมบัญชีกลางระดับชำนาญการพิเศษส่วนกลาง เป็นหัวหน้าทีม จำนวน 83 ทีม ดูแลส่วนราชการที่ได้รับงบประมาณรายจ่ายลงทุน และส่วนภูมิภาค จำนวน 85 ทีม (คลังเขต 9 ทีม คลังจังหวัด 76 ทีม) ดูแลส่วนราชการในพื้นที่จังหวัด เพื่อติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตลอดจนแก้ไขปัญหาอุปสรรค เพื่อให้ส่วนราชการเร่งรัดการก่อหนี้และการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และเป็นไปตามเป้าหมาย

จากการติดตามปัญหาอุปสรรคที่ทำให้หน่วยงานของรัฐก่อหนี้ได้ล่าช้า ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการจัดซื้อจัดจ้างที่ได้ผู้ยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียว ซึ่งหน่วยงานของรัฐส่วนใหญ่จะยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนั้น เนื่องจากไม่ได้มีการแข่งขัน และดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ทั้งกระบวนการ ทั้งที่ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ให้ดำเนินการต่อได้หากมีเหตุผลสมควร เป็นไปตามข้อ 56 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า

ในกรณีที่ปรากฏว่ามีผู้ยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียวหรือผู้ยื่นข้อเสนอหลายราย แต่ถูกต้องตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดในเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์เพียงรายเดียว ให้คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์เสนอหัวหน้าหน่วยงานของรัฐผ่านหัวหน้าเจ้าหน้าที่ เพื่อยกเลิกการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ครั้งนั้น แต่ถ้าคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุผลสมควรที่จะดำเนินการต่อไปโดยไม่ต้องยกเลิกการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ให้คณะกรรมการดำเนินการตามข้อ 57 หรือข้อ 58 แล้วแต่กรณี โดยอนุโลม

Advertisment

“ดังนั้น ภายใต้ข้อจำกัดของระยะเวลาที่เหลืออยู่ประมาณ 4 เดือน และเพื่อเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณที่ได้รับ อีกทั้งเพื่อให้การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างไม่ล่าช้า หน่วยงานของรัฐจะต้องพิจารณาว่า กรณีผู้ยื่นข้อเสนอราคาเพียงรายเดียว มีคุณสมบัติถูกต้องตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดในเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ และดำเนินการถูกต้องทุกขั้นตอน รวมทั้งไม่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ ให้สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างต่อได้เลย โดยไม่ต้องยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างนั้น และสามารถปฏิบัติตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างฯ และหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.3/ว350 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2562” อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าว