“ทอง” รับข่าวร้ายดันราคาขาขึ้น บาทอ่อนค่าจ่อทะลุ 37 บาท

ส่องเทรนด์ “หุ้น-ทอง-เงินบาท” ผันผวนหนักท่ามกลางภาวะสงคราม “อิสราเอล-อิหร่าน” เอฟเฟ็กต์ราคาน้ำมันพุ่งกระทบต้นทุนผลิตปรับตัวเพิ่มกดดันเงินเฟ้อ “กสิกรฯ-กรุงศรีฯ” ประเมินเงินบาทอ่อนจ่อแตะ 37 บาทต่อดออลาร์ “ทองคำ” รับอานิสงส์บวกข่าวร้าย ซีอีโอ YLG ประเมินราคาทองขาขึ้นต่อ ลุ้นแนวต้าน 2,430 เหรียญ/ออนซ์ “ไพบูลย์-ทิสโก้” มองหุ้นไทยไตรมาส 2 “พักตัว” เต็มไปด้วยสารพัดปัจจัยเสี่ยง-ความไม่แน่นอนสูง โบรกฯชี้กรณีเหตุการณ์รุนแรงส่อทุบหุ้นไทย แนวรับ 1,310 จุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางรุนแรงสูงขึ้นเมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2567 หลังอิหร่านตอบโต้อิสราเอลด้วยการยิงโดรน และขีปนาวุธเกือบ 200 ลำ ใส่อิสราเอล เพื่อตอบโต้ที่สถานกงสุลอิหร่านในกรุงดามัสกัส ของซีเรีย ถูกทิ้งระเบิดโจมตีเมื่อวันที่ 1 เม.ย. จนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย และเช้าวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา อิสราเอลก็ส่งขีปนาวุธโจมตีกลับอิหร่าน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกดดันราคาสินทรัพย์ทั่วโลกผันผวนอย่างหนัก โดยพบว่าตลาดหุ้นไทยหลังหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ กลับมาเปิดทำการวันแรก (17 เม.ย.) ดัชนี SET ดิ่งหนัก ปิดตลาด 1,366.94 จุด ลดลงไป 29.44 จุด ติดลบ 2.11% วันถัดมา (18 เม.ย.) หุ้นไทยยังดิ่งลงต่อเนื่อง

และเช้าวันที่ 19 เม.ย. ร่วงหนักอีกครั้ง เปิดตลาดทำจุดต่ำสุดที่ 1,333.23 จุด ลดลงไป 29.79 จุด ขณะที่ค่าเงินบาทนับจากต้นปีถึงวันที่ 19 เม.ย. อ่อนค่าราว 7.4% จากระดับ 34.14 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ระดับ 36.85 บาทต่อดอลลาร์

นายภราดร เตียรณปราโมทย์ รองผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่เกิดขึ้น ทำให้สินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวลดลง และส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่ง เม็ดเงินไหลเข้าสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น

Advertisment

โดยเหตุการณ์โจมตีในช่วงเช้าวันที่ 19 เมษายน (เวลาในไทย) ส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์ ปรับลดลงเกิน 500 จุด ตลาดหุ้นเอเชียปรับลดลง 4-5% อาทิ ตลาดหุ้นญี่ปุ่นและไต้หวัน ปรับลดลง 4% ขณะที่ช่วงเช้าหุ้นไทยปรับตัวลดลงตามกว่า 20 จุด

สาเหตุที่ตลาดหุ้นไทยดิ่งน้อยกว่าประเทศอื่น เนื่องจากหุ้นไทยอิงกับหุ้นพลังงาน ราคาน้ำมันปรับขึ้น 3-4% จึงช่วยพยุงตลาดหุ้นไทยไว้ได้ อย่างไรก็ตาม หากเหตุการณ์ความไม่สงบยังมีอยู่ต่อเนื่อง หุ้นกลุ่มสายการบินอาจจะกระทบได้ในช่วงสั้น รวมถึงกลุ่มเทคโนโลยีอาจปรับตัวลดลงตามตลาดต่างประเทศ

เงินบาทผันผวนหนัก

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า การโจมตีของอิสราเอลรอบนี้ได้สร้างความต้องการต่อสินทรัพย์ปลอดภัย กดดันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลง ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า ขณะที่ราคาทองพุ่ง 1.85% ทะลุ 2,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ อีกครั้ง และทำให้ราคาน้ำมันดิบเบรนต์พุ่ง 4% ยืนเหนือระดับ 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อีกครั้ง

เงินเฟ้อทั่วโลกมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องและอาจปรับเพิ่มอีกได้ หากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับเพิ่มขึ้นอีก ขณะที่ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าแตะ 37.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ได้ในช่วงนี้ จากปัจจัยกดดันหลายด้าน อย่างไรก็ดี ห้องค้ากสิกรไทยยังมองค่าเงินบาทปลายปีจะกลับมาอยู่ที่ 35.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงิน ตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า หากดูการเคลื่อนไหวในช่วงที่มีความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่านพบว่า นับตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.เป็นต้นมา เงินบาทอ่อนค่าแล้ว 0.7% จากระดับ 36.60 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ 36.85 บาทต่อดอลลาร์

และหากดูความผันผวนในช่วง 1 เดือน เฉลี่ยอยู่ที่ราว 7.8% ต่อปี สูงขึ้นจากระดับ 7.3% ต่อปี สะท้อนความผันผวนที่สูงขึ้น โดยค่าความผันผวนเคยสูงสุดในปี 2565 อยู่ที่ 12%

บาทอ่อนจ่อแตะ 37 บาท

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทระยะสั้นช่วง 2 สัปดาห์ ถึง 1 เดือนนี้ จะเห็นทิศทางการอ่อนค่าไปแตะระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าค่อนข้างมาก ทั้งในเรื่องของสงครามตะวันออกกลาง การคาดการณ์ของตลาดต่อเฟดในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดมีความผันผวนค่อนข้างสูง

“ปัจจัยที่จะเป็นจุดเปลี่ยนของเงินบาทกลับมาแข็งค่าได้มาจากเฟดเป็นหลัก โดยในระยะถัดไปหากข้อมูลเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐออกมาอ่อนแอ ทำให้เฟดมีโอกาสตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยได้ในช่วงครึ่งหลังของปี แม้ว่าตลาดมีการคาดการณ์ว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. หรือคงอัตราดอกเบี้ยตลอดทั้งปี”

อย่างไรก็ดี กรุงศรีฯมองกรอบเงินบาทสิ้นปี 2567 ที่ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ โดย 2-3 ปัจจัยที่ทำให้เงินบาทเปลี่ยนกลับมาแข็งค่า ได้แก่ เศรษฐกิจไทยที่กลับมาขยายตัวตามศักยภาพ แม้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับ 2.50% ต่อปี และมีการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวต่อเนื่อง รวมทั้งมีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและมีมาตรการกระตุ้นภาครัฐเข้ามาผ่านโครงการดิจิทัลวอลเลตจะช่วยหนุนเศรษฐกิจ

และหากรวมปัจจัยพื้นฐานที่หนุนค่าเงินชัดเจนคือ ภาคท่องเที่ยว ที่มีการขยายตัวได้ดีทั้งในแง่จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ จะเป็นตัวประคองตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัด โดยคาดการณ์ว่า ปี 2567 จะมีการเกินดุลราว 7,000 ล้านดอลลาร์ จากปีก่อนอยู่ที่ 6,000 ล้านดอลลาร์ ถือว่าค่อนข้างดี ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงสงครามตะวันกลางที่จะมีกาปิดช่องทางการขนส่ง ทำให้ต้นทุนค่าระวางเรือเพิ่มขึ้น

สงครามดันราคาทองพุ่งไม่หยุด

นายสาห์รัช ชัฏสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจัยเสี่ยงด้านสงครามทำให้ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง ทิศทางการลงทุนช่วงไตรมาส 2 จึงแนะนำให้หาจังหวะเข้าซื้อ โดยทองคำยังมีปัจจัยที่สนับสนุนทั้งดอกเบี้ยขาลง และความเสี่ยงด้านสงคราม

ส่วนตลาดหุ้นทั่วโลกยังมีความผันผวน จากการคาดหมายในการลดดอกเบี้ยของเฟดที่ยืดระยะเวลาออกไป ทำให้การลงทุนในหุ้นทั่วโลกมีความตึงตัว บวกกับปัจจัยเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ในอิหร่านกับอิสราเอล ทำให้เกิดความกังวลเพิ่มมากขึ้น

นายสาห์รัชกล่าวว่า สำหรับการลงทุนกองทุน แนะนำกองทุนที่ลงทุนในหุ้นสหรัฐ เนื่องจากมีปัจจัยรับเทรนด์ดอกเบี้ยขาลง โดยให้น้ำหนักไปที่กลุ่มหุ้นเทคโนโลยี โดยเฉพาะกลุ่มที่อิงกับธุรกิจด้าน AI ส่วนนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ไม่มาก แนะนำพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวในต่างประเทศอย่าง บอนด์สหรัฐ เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนผ่านเงินเฟ้อสหรัฐที่ออกมาสูงกว่าคาด ทำให้บอนด์ยีลด์เพิ่มขึ้น

ลุ้นทองคำทะลุ 2,430 เหรียญ

นางสาวฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG) เปิดเผยว่า ระยะยาวประเมินว่า ราคาทองคำยังคงมีทิศทางเป็นบวก ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะกรณีอิสราเอลกับอิหร่าน ซึ่งยังเป็นอีกปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการปรับตัวขึ้นของทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

รวมถึงการคาดการณ์ว่า วงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดสิ้นสุดลงแล้ว และเฟดเตรียมปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ แต่หากเฟดไม่รีบร้อนลดดอกเบี้ย และคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไป จะเป็นปัจจัยหนุนดัชนีดอลลาร์และกดดันราคาทองคำ

นอกจากนี้ ทองคำยังได้รับปัจจัยบวกจากแรงซื้อทองคำของธนาคารกลางทั่วโลกโดยเฉพาะจีน ซึ่งข้อมูลอย่างเป็นทางการของธนาคารกลางจีน (PBOC) ระบุว่า PBOC ถือครองทองคำเพิ่มขึ้น 5 ตัน ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สู่ระดับ 2,262 ตัน ทำให้นับตั้งแต่ พ.ย. 2565 ถึง มี.ค. 2567 จีนซื้อทองแล้วมากถึง 314 ตัน

ทั้งนี้ คำแนะนำลงทุนสำหรับผู้ที่มีทองคำในมือเป็นจำนวนมาก แนะนำแบ่งขายทำกำไรบางส่วน เมื่อราคาทองคำปรับตัวขึ้น ส่วนนักลงทุนระยะสั้นถึงระยะกลาง ต้องจับตาระดับสูงสุดบริเวณแนวต้านแรก 2,430 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และแนวต้านถัดไปที่ 2,460 ดอลลาร์ต่ออนซ์ หรือทองแท่ง (บาท) ที่ 42,300 บาท และ 42,800 บาท

หากการดีดตัวขึ้นยังไม่ทะลุผ่านบริเวณดังกล่าว อาจแบ่งขายทำกำไรลดสถานะการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง สำหรับผู้ที่ไม่มีทองคำอยู่ในมือ ใช้ช่วงการพักตัวของราคาในระยะสั้นเป็นโอกาสทยอยซื้อ

“จะเห็นได้ว่าทองคำปรับตัวขึ้นได้ดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะลดลง รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ทั่วโลกยังไม่ได้กลับมาฟื้นตัวดีนัก รวมถึงกระแสของการย้ายเงินลงทุนจากที่เคยถือเงินดอลลาร์ เริ่มกระจายสินทรัพย์ตัวอื่น รวมถึงปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด” ซีอีโอวายแอลจีกล่าว

ไตรมาส 2 หุ้นไทย “พักตัว”

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพการลงทุนช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ ยังเป็นไตรมาสที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนสูง จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง

และภาพเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน จากนโยบายการเงินของเฟดที่ยังไม่มีท่าทีจะปรับลดดอกเบี้ย ประเด็นนี้จะเป็นปัจจัยที่มีผลต่อทิศทางการลงทุนใหญ่ที่สุด และรองลงมาคือ ปัญหาเศรษฐกิจจีน

ดังนั้น เมื่อความชัดเจนยังมีไม่สูงมาก จึงทำให้โฟลว์ของเงินลงทุนยังไม่กล้าที่จะรับความเสี่ยงสูง สถานการณ์แบบนี้จะกดดันให้ภาพตลาดหุ้นโลกเพอร์ฟอร์มได้ไม่ค่อยดี

สำหรับตลาดหุ้นไทย ยังมีปัจจัยในประเทศที่กดดันอยู่ ทั้งนโยบายการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท, การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.), ภาพเศรษฐกิจไทยที่มีแค่แรงหนุนของภาคท่องเที่ยว ขณะที่ภาคส่วนอื่น ๆ ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวแรง และตอนนี้ภาคส่งออกโตต่ำ การบริโภคเริ่มแผ่วลง

“มองว่าไตรมาส 2 คงจะเป็นไตรมาสการพักตัวของสินทรัพย์เสี่ยงสูง ขณะที่สินทรัพย์เสี่ยงต่ำอย่าง ทองคำ จะเพอร์ฟอร์มได้ดี แต่ทั้งนี้ ด้วยจังหวะที่ราคาหุ้นไทยไม่แพง สามารถเลือกซื้อลงทุนได้ แต่อย่าคาดหวังว่าราคาจะกระโดดขึ้นเร็ว เป็นช่วงเวลาทยอยลงทุนได้”

นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า ถ้ามองภาพการลงทุนช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดการณ์ว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะฟื้นตัวได้ แม้ว่าความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ แต่คาดหวังว่าเฟดจะมีความชัดเจนเรื่องการลดดอกเบี้ยมากขึ้น แต่ทั้งนี้มองว่า เฟดจะยังไม่ลดดอกเบี้ยในช่วงเดือน มิ.ย. 2567 ตามที่ตลาดคาดไว้

ทำให้คาดการณ์ว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยปีนี้แค่ 1-2 ครั้ง จากเดิมที่มองไว้ 3 ครั้ง และเมื่อมีความชัดเจนเรื่องเฟดลดดอกเบี้ย ข้อดีคือจะทำให้ประเทศอื่น ๆ กล้าที่จะลดดอกเบี้ยตาม เพราะตอนนี้ทุกประเทศเป็นห่วงค่าเงิน ถ้าลดดอกเบี้ยก่อนประเทศอื่นจะกระทบค่าเงินอ่อนค่ามากเกินไปได้

หุ้นไทยซึมแนวรับ 1,310 จุด

ขณะที่นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย เปิดเผยว่า เหตุการณ์ในตะวันออกกลาง ประเทศไทยและฟิลิปปินส์จะได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันจำนวนมาก ซึ่งจะได้รับผลกระทบทั้งด้านต้นทุนการบริหารที่ปรับตัวขึ้น

สำหรับตลาดหุ้นกรณีที่เหตุการณ์รุนแรง ประเมินแนวรับของภาพดัชนีหุ้นไทย 1,310-1,330 จุด ซึ่งความไม่แน่นอนนี้จะเพิ่มความเสี่ยงให้กับราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นถึงระยะกลางมากขึ้น จึงมองว่า หุ้น บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ได้ประโยชน์มากที่สุด และโรงกลั่นก็ได้รับผลบวกในระยะสั้นเช่นกัน

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า สถานการณ์อิสราเอล-อิหร่านจะส่งผลทำให้ราคาพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น และจะส่งผลให้เงินเฟ้อกลับมาเร่งตัวขึ้น ซึ่งจะเป็นอุปสรรคให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยภาพรวมได้

ขณะที่กระทบตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย อย่างไรก็ตาม จากสถิติที่ผ่านมาแม้สถานการณ์จะเกิดความรุนแรงในระยะยาว แต่ผลกระทบต่อตลาดหุ้นมักจะเป็นช่วงระยะสั้น

“จากสถานการณ์ดังกล่าว จะทำให้ราคาน้ำมันและพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนของภาคการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม ซึ่งกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) ที่ปรับตัวขึ้นจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มไฟแนนซ์ ส่วนกลุ่มที่จะเคลื่อนไหวได้ดี มักเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากราคาพลังงานที่ขึ้น อย่าง PTTEP, SPRC รวมถึงกลุ่มการแพทย์”