สมคิด ห่วง EEC ไม่ถูกดันต่อ ส่อกระทบแลนด์บริดจ์

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

สมคิดมองเศรษฐกิจไทยอ่อนแอ-โตต่ำลงเรื่อย ๆ ชี้มาจากปัญหาการเมืองแบ่งสี-แบ่งค่าย กระทบการผลักดันนโยบายระยะยาวไม่เกิด ห่วงรัฐบาลไม่ดัน EEC ต่อ ส่อกระทบถึง “แลนด์บริดจ์”

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา ฝ่าเศรษฐกิจปีงูใหญ่ ชวนสร้างไทยให้ยั่งยืน ในหัวข้อ จับชีพจรประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มอ่อนแอ เพราะไทยยังเดินไปข้างหน้าช้ามาก ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเติบโตอย่างก้าวกระโดด ได้พัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ตลาดหุ้นมีการขยับขึ้นตลอด ประเทศอินโดนีเซียกลายเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจ ขณะประเทศมาเลเซียมุ่งนโยบายเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว นับว่าอาเซียนทุกประเทศปรับตัวเร็วมาก

ดร.สมคิดระบุว่า หากดูตัวเลข GDP ย้อนหลังของไทย 20 ปี โตเฉลี่ย 6-7% ต่อปี แต่หลังจากนั้นเริ่มลดลง โดยเฉพาะช่วงหลังเกิดรัฐประหาร เจอวิกฤตโควิด ขณะที่ในปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการประเมินตัวเลข GDP โต 1.8% สะท้อนว่าประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ยุคเติบโตต่ำมาเรื่อย ๆ จึงต้องดูปัจจัยพื้นฐานของประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขัน เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล หรือ AI อุตสาหกรรมแห่งอนาคต การใช้เทคโนโลยีต้องกระจายไปทุกจังหวัด ประเทศเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อัตราการเกิดน้อย ตลาดของผู้สูงอายุจึงมีโอกาส

“ยอมรับว่าปัญหาเศรษฐกิจไทยมาจากปัญหาการเมือง การแบ่งสี แบ่งค่าย มุ่งยึดฐานเสียงในทุกรูปแบบ รัฐบาลต้องผลักดันนโยบายระยะยาว แม้จะมีมาตรการระยะสั้นบ้าง เมื่อไทยต้องพัฒนาโครงสร้างระยะยาว จึงเป็นห่วง หากผลักดันเขตอีอีซีที่ไม่ได้รับการดูแลสานต่อ จึงทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่สนใจ หากเป็นแบบนี้โครงการแลนด์บริดจ์อาจมีปัญหาได้” นายสมคิดกล่าว

นอกจากนั้น ไทยกำลังเดินไปสู่จุดที่มีความเสี่ยง เพราะหากจีดีพีปี 2566 ขยายตัว 1.8% คงต้องเตรียมรับมือกับปัญหาเติบโตต่ำ ต้องมุ่งเน้นโครงสร้างพื้นฐานระยะยาว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน

Advertisment

ดร.สมคิดกล่าวเพิ่มเติมว่า หากจะให้ตัวเลขจีดีพีโตขึ้น ต้องเร่งเปลี่ยนเครื่องยนต์ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะเครื่องยนต์เดิมที่ใช้เก่าแล้ว ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล AI และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

ขณะเดียวกัน การจะพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศ ยังต้องมองภาพรวมเศรษฐกิจโลกไปพร้อม ๆ กัน ในสถานการณ์ที่ทั่วโลกมีปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะการรักษาสมดุลความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐให้ดี