ดร.สันติธาร เสถียรไทย ตั้งคำถามชวนคิด “AI จะทำให้เราฉลาดขึ้น หรือโง่ลง?”

สันติธาร เสถียรไทย
สันติธาร เสถียรไทย

ดร.สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ TDRI และกรรมการ กนง. โพสต์ตั้งคำถามชวนคิด “AI จะทำให้เราฉลาดขึ้น หรือ โง่ลง?” พร้อมแนวคิดรับมือผลกระทบ “Generative AI” ต่อการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย

วันที่ 30 มกราคม 2567 ดร.สันติธาร เสถียรไทย Future Economy Advisor สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โพสต์เฟซบุ๊กแฟนเพจ “สันติธาร เสถียรไทย – Dr Santitarn Sathirathai” ตั้งคำถามว่า AI จะทำให้เราฉลาดขึ้น หรือ โง่ลง?

โดยระบุว่า “วันก่อนผมได้มีโอกาสไปฟังศาสตราจารย์ Emma McCoy รองอธิการบดีและศาสตราจารย์ด้านสถิติของ LSE (London School of Economics and Political Science) มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกมาเล่าถึงแนวคิดในการรับมือผลกระทบของ Generative AI ต่อการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย

ซึ่งมี 4 ประเด็นหลักที่น่าสนใจดังนี้

1.อ้าแขนรับ GenAI แบบมีสติ

ทาง LSE ดูจะเปิดรับการใช้ GenAI ไม่ว่าจะเป็น เครื่องมือแบบ ChatGPT, Co-Pilot, Bard ฯลฯ ในการศึกษาอย่างชัดเจน เพราะเล็งเห็นศักยภาพของเครื่องมือเหล่านี้ในการพัฒนาการเรียนรู้ให้คน

Advertisment

แต่ทำอย่าง “มีสติ“ ทางวิชาการ คือมีการค้นคว้าและศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบและข้อดีข้อเสียการใช้เทคโนโลยีนี้ไปพร้อมกับการทดลองใช้จริง เพื่อเก็บข้อมูลและคอยประเมิน ไม่ใช่ปล่อย AI วิ่งเข้าห้องเรียนแล้วจบกัน

เช่น มีการตั้งกลุ่มโฟกัสกรุ๊ป GENIAL : GENerative AI Tools as catalyst for Learning มาศึกษาการนำ GenAI มาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนวิชาโปรแกรมมิ่งและ Data Science

2.เห็นนักเรียนเป็น “พาร์ตเนอร์”

ไม่ใช่ว่าอาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัยคิดกันเองว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ เกี่ยวกับการใช้ GenAI แต่ทางมหาวิทยาลัยจะพยายามดึงให้นักเรียนมามีส่วนร่วมในการศึกษาและพัฒนาวิธีการใช้ GenAI ในการเรียนรู้ มาช่วยกันเรียนรู้ว่า Use Case แบบไหนเวิร์ก/ไม่เวิร์ก มาดูด้วยกันว่าเมื่อไรที่ GenAI มักจะ “หลอน” หรือ “มโน” คำตอบ (Hallucination) มาช่วยกันดีไซน์ Prompt หรือคำสั่งที่เหมาะสมที่จะป้อนให้กับ GenAI

เพราะสุดท้ายนักเรียนก็คือ “User” คนสำคัญ จึงต้องให้มีส่วนมาช่วยดีไซน์การศึกษาในโลกของ AI ไปด้วยกัน

Advertisment

3.กลัวเสีย “การเรียนรู้โดยไม่รู้ตัว”

ศาสตราจารย์ McCoy ยอมรับว่า แม้โดยรวมจะเชื่อในประโยชน์ของ GenAI แต่สิ่งที่กังวลอยู่คือ กระบวนการเรียนรู้ของคนหลายอย่างนั้นเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว (การเรียนรู้โดยปริยาย-Implicit Learning)

บางกิจกรรมที่ดูซ้ำซาก เสียเวลา ใช้ AI ลัดได้อาจกลายเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการเรียนรู้ของคน ยกตัวอย่าง หากเรายอมให้นักเรียนใช้ ChatGPT ช่วยเขียนเรียงความร่างแรก แล้วตัวเองเล่นบทบาทเป็น บ.ก. คอยตรวจและปรับปรุงงาน วันนี้อาจจะคิดว่าดี เพราะ AI + คนทำงานประสานกันมีประสิทธิภาพขึ้น

แต่ต่อไปอาจมารู้ที่หลังว่า การหัดร่างเรียงความจากศูนย์นั้นช่วยฝึกฝนทักษะบางอย่างที่สำคัญให้กับนักเรียนมากกว่าแค่การเขียน (เช่น การคิดเชิงวิพากษ์, ความคิดสร้างสรรค์ ฯลฯ) และการเรียนรู้ฝึกฝนทักษะนี้ได้หายไปแล้ว

คล้ายกับบทสนทนาอีกวงที่ผมเคยได้ยินคุณหมอคนหนึ่งตั้งคำถามว่า

“แม้วันนี้ AI จะอ่าน x-ray สู้กับแพทย์ที่มีประสบการณ์สูง ๆ ยังไม่ได้ แต่หากต่อไปนักศึกษาแพทย์เอาแต่พึ่ง AI กันหมด แล้วพวกเขาจะยังได้ฝึกฝนพัฒนาทักษะการอ่าน x-ray จนกลายเป็นหมอที่มากประสบการณ์ได้ยังไง”

4.ทักษะแห่งอนาคตไม่ใช่ Prompt Engineering แต่คือการตั้งคำถามที่ดี

ศาสตราจารย์ McCoy คิดว่าทักษะแห่งอนาคตไม่ใช่แค่การรู้ว่าต้องป้อนคำสั่ง AI ยังไงถึงจะได้ผลตามที่ต้องการมากที่สุด

เพราะวิธีการเหล่านั้นก็จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ และอาจง่ายขึ้นด้วย

แต่ที่ยากจริง ๆ คือการตั้งคำถามที่ดี ซึ่งมาจากทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) อีกที

สำหรับเขาสิ่งที่เป็นหัวใจของการศึกษาที่ LSE ไม่ว่าจะเป็นยุคไหน เทคโนโลยีเป็นอย่างไร คือการสร้าง “Deep Thinker” หรือคนที่สามารถคิดวิเคราะห์ มีทักษะคิดเชิงวิพากษ์อย่างลึกซึ้ง และไม่พอใจกับคำตอบที่ผิวเผิน

อาจารย์คงไม่อยากเห็นการใช้ AI ในการศึกษาทำให้คนเสียความเป็น Deep Thinker ไป คำพูดนี้ทำให้ผมย้อนเวลากลับไปนึกถึงสมัยที่เคยเรียนที่มหาวิทยาลัยนี้ว่ามีอาจารย์ท่านหนึ่งเคยบอกว่า

“หากคุณเขียนคำตอบตรงใจตามที่อาจารย์สอนหมด ต่อให้ดีแค่ไหนก็จะได้แค่เกรด B ถ้าทั้งห้องทำแบบนั้น ทั้งห้องก็จะได้ B (ไม่มีการตัดเกรดตาม Curve) หากอยากได้ A ต้องบอกให้ได้ว่าที่อาจารย์สอน หรือหนังสือบอกนั้นมีจุดอ่อนตรงไหนและเราเห็นต่างอย่างไร“

พอตอนหลังพอมีโอกาสได้มาเป็นอาจารย์บ้างถึงได้รู้ว่าเวลาออกข้อสอบแบบนี้ ไม่ได้แค่ยากสำหรับนักเรียน แต่โหดกับคนตรวจด้วยมากเช่นกัน

ตอนจบศาสตราจารย์ McCoy ปิดด้วยคำพูดของนักเขียนชื่อดัง Isaac Asimov ว่า

“สิ่งที่น่าเศร้าคือ วิทยาศาสตร์สามารถเก็บเกี่ยวความรู้ได้เร็วกว่าที่สังคมสามารถเก็บเกี่ยวปัญญา” (The saddest aspect of life is Science gathers knowledge faster than society gathers wisdom.)

สุดท้ายคำถามว่า AI จะช่วยให้เราฉลาดขึ้น หรือ โง่ลง อาจขึ้นอยู่กับว่ามนุษย์เก็บเกี่ยว “ปัญญา” ได้ดีแค่ไหนในยุคของ AI ก็เป็นได้