สันติธาร-พิพัฒน์ ชี้เศรษฐกิจไทยโตช้า-กินบุญเก่า แนะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างก่อนแก้ยาก

นักเศรษฐศาสตร์ส่องเศรษฐกิจไทยโตช้า-โตต่ำกว่าศักยภาพ เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง ด้าน “สันติธาร” ชี้เศรษฐกิจไทยเป็นนักกีฬาสูงวัย วิ่งช้า-ถูกแซงหน้า แนะเร่งลดกฎระเบียบ-เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน-จับคลื่นให้ทันมีโอกาสแซงหน้าได้ ด้าน “พิพัฒน์” มองเศรษฐกิจไทยโตต่ำศักยภาพ หรือศักยภาพโตช้าลง หลังจีดีพีจะโต 3% ยังลำบาก ชี้ไทยกินบุญเก่า

วันที่ 22 มกราคม 2567 ดร.สันติธาร เสถียรไทย กรรมการผู้ทรงวุฒิ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแห่งอนาคต สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในเวทีเสวนาในหัวข้อพิเศษ “เศรษฐกิจไทย…เปลี่ยนอย่างไรให้ไปไกลกว่าเดิม” ที่จัดโดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ว่าประเทศไทยเปรียบเหมือนนักกีฬาสูงวัยที่มีอายุและอาการเฉลี่ย 41 ปี เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่อายุเฉลี่ย 30 ปี โดยมี 2-3 ข้อที่สะท้อนอาการดังกล่าว

1.เราวิ่งช้าลง แม้ช่วงเวลาปกติเราก็วิ่งช้า สะท้อนจากการเติบโตที่เคยโต 7% เหลือ 5% ปัจจุบันเหลือ 3% และ 2.ความสามารถในการแข่งขันและการดึงดูดน้อยลง สะท้อนจากตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่มาไทยน้อยลง และ 3.กระตุ้นหนัก ๆ ช่วงที่เติบโตจะทำให้มีปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น หนี้ หรือ PM 2.5

“ข้อดีของนักกีฬาสูงวัยคือ เราจะไม่ล้มหนักเหมือนศรีลังกา หรืออาร์เจนตินา เพราะไทยมีเสถียรภาพระบบการเงินค่อนข้างแข็งแรงนับตั้งแต่ปี 2540 แต่ปัญหาเราตามเพื่อนไม่ทัน และโดนทิ้งห่างไปเรื่อย ๆ เรามีทางออก แต่เราไม่มีทางลัด เราควรเป็นนักกีฬาต้อง Play Smart คือใช้ร่างกายน้อยลง แต่ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น เน้นเรื่องความยั่งยืน เพราะที่ผ่านมาเรายังมีปัญหาหนี้ครัวเรือน และหนี้ภาคการคลังที่สูงขึ้น แต่เราจะเห็นว่ามีทางออกมากขึ้น”

อย่างไรก็ดี มองว่าประเทศไทยยังมีความหวัง แต่ต้องหา Solution ภายใต้ “ข, ก, และ ค” คือ 1.ข คือ ขนาดของมาร์เก็ต ซึ่งไทยถือว่าค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับอินเดียและอินโดนีเซีย ซึ่งหลังจากมีเรื่องปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ทำให้มีการลดความเสี่ยงจากลงทุน และย้ายออกจากประเทศจีนมาที่อินเดียและอาเซียน ซึ่งไทยจะทำอย่างไรให้ดึงดูด เพราะเราไม่มีเสน่ห์ จึงต้องทำให้ง่ายขึ้น และนิสัยดีขึ้น

Advertisment

โดยมาสู่ ก. คือ กฎกติกาต้องง่าย เปิดกว้างขึ้น ซึ่งมีการทบทวนกฎหมาย หรือกฎเกณฑ์ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน หรือ Regulatory Guillotine โดยมีการศึกษาว่า หากสามารถทำสำเร็จที่ลดขั้นตอนกระบวนการกว่า 1,000 ขั้นตอน จะเพิ่มเม็ดเงินกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี แต่จะต้องมีการเปิดเรื่องของ Open Data ด้วย

และ ค. คือ โครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากไทยมีการลงทุนที่ต่ำมานาน จึงต้องมีการโฟกัสมากขึ้น ทั้งในเรื่องของดิจิทัล หรือดาต้าเซ็นเตอร์ หรือด้านสิ่งแวดล้อม และอีก ค. คือ คน ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ ภายใต้ยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว หากสามารถเพิ่มทักษะ (Up Skill และ Re Skill) ได้ โดยเฉพาะในภาคบริการ และท่องเที่ยวที่ยังมีความต้องการจำนวนมาก

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่ดับไฟค่อนข้างเก่ง แต่ดับไฟและก็กลับไปเหมือนเดิม ไม่ได้มีการสร้างบ้านเพิ่ม ซึ่งเราต้องมี Long Term Vision มองไกล มองทะลุ และวางแผนแต่ละอัน เพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ซึ่งคนที่ชนะอาจจะไม่ใช่คนที่ว่ายน้ำเร็วกว่า แต่เป็นคนที่สามารถจับคลื่นและเทรนด์ได้ ซึ่งเราก็มีโอกาสที่จะแซงคนอื่นได้เช่นกัน”

เศรษฐกิจไทยโตช้า หรือศักยภาพโตต่ำ

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตรชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บล.เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเคยเป็นประเทศมหัศจรรย์แห่งเอเซีย เคยโตเร็วสุดและสูงสุดอยู่ที่ 7-9% และแม้หลังจากเจอวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 เศรษฐกิจไทยยังโตได้ 5% แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเติบโตช้าลง โดยในปี 2553-2562 อัตราการเติบโตเฉลี่ยเหลือเพียง 3% ซึ่งหลายคนมองว่าหลังโควิด-19 เศรษฐกิจจะกลับไปขยายตัวเหมือนเดิม ซึ่งมองว่าการเติบโตได้ 3% ถือว่าค่อนข้างยาก เพราะดูตัวเลขปีก่อนเติบโตได้เพียง 1.5%

Advertisment

ดังนั้น การที่ประเทศไทยฟื้นตัวช้ามาก สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยหากไม่มีดิจิทัลวอลเลต คาดว่าเศรษฐกิจกิจไทยจะเติบโตได้เพียง 2.9% แต่หากมีดิจิทัลวอลเลตจะอยู่ที่ 3.7% อย่างไรก็ดี ดิจิทัลวอลเลตยังมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ภาพปัญหาของเศรษฐกิจไทยวันนี้ไม่ใช่วิกฤตระยะสั้น แต่เป็นภาพระยะยาวที่จะกลายเป็นปัญหาให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลง ทั้งโตช้าและศักยภาพไทยที่ต่ำลง โดยระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยปัจจุบันต่ำลงเหลือเพียง 3%

ส่วนมุมมองดอกเบี้ยมองว่า หากมีดิจิทัลวอลเลตปีนี้ จะไม่เห็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยลง เนื่องจากมีแรงกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวเพิ่ม แต่หากไม่สามารถทำได้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ โดยฉพาะครึ่งปีหลังจะชะลอตัวลง ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยให้ กนง.ลดดอกเบี้ยได้ในปลายปีได้

“จึงเกิดเป็นคำถามว่า เราโตต่ำกว่าศักยภาพ หรือศักยภาพในการเติบโตต่ำ เพราะเรายังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งประชากรที่แก่ก่อนรวย เรื่องคุณภาพก็มีปัญหาในเรื่องของการศึกษา เราจึงเผชิญปัญหาทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ การลงทุนต่อจีดีพีน้อยลง เราซ่อมแซ่มบ้านน้อยลง เรากินบุญเก่าอยู่ และถ้าเรายิ่งโตช้าลงจะยิ่งแก้ยากขึ้น”