ดอลลาร์แข็งค่า รับตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐแกร่งเกินคาด

US Dollars ดอลลาร์สหรัฐ
FILE PHOTO: U.S. dollar banknotes REUTERS/Dado Ruvic

ดอลลาร์แข็งค่า รับตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐแกร่งเกินคาด รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 69.4 ในเดือน ธ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. และเป็นการปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 12 ธันวาคม 2566 ว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/12) ที่ระดับ 35.63/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ (8/12) ที่ระดับ 35.33/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น หลังกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ (8/12) ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 199,000 ตำแหน่งในเดือน พ.ย.สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 180,000 ตำแหน่ง และเพิ่มขึ้นจากระดับ 150,000 ตำแหน่งในเดือน ต.ค. ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 3.7% ต่ำกว่าตัวเลขที่นักวิเคราะห์คาดการณ์และเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 3.9%

ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของงานเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 4.0% เมื่อเทียบรายปี ถือเป็นการเพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% ส่วนตัวเลขอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของสหรัฐ ซึ่งแสดงสัดส่วนของกำลังแรงงานต่อจำนวนประชากรทั้งหมด อยู่ที่ระดับ 62.8%

นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการเปิดเผยผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐ พุ่งขึ้นสู่ระดับ 69.4 ในเดือน ธ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. และเป็นการปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน

Advertisment

โดยดัชนีความเชื่อมั่นดังกล่าวสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 62.0 จากระดับ 61.3 ซึ่งข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งดังกล่าวทำให้ตลาดลดคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ

สำหรับปัจจัยในประเทศ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย. 66 อยู่ที่ระดับ 90.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 88.4 ในเดือนก่อนหน้า โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ซึ่งเมื่อพิจารณาองค์ประกอบของค่าดัชนี พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีคำสั่งซื้อโดยรวมยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

นอกจากนี้ นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก คาดการณ์ส่งออกรวมทั้งปี 2566 ว่าจะหดตัว 1.5-1% หลังจากตัวเลขการส่งออกในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่า236,648.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการหดตัว 2.7% โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่

1) เศรษฐกิจทั่วโลกปี 66 ในภาพรวมเติบโตได้น้อยกว่าที่คาดไว้และยังคงอยู่ในทิศทางชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศหลัก 2) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์จากภาวะสงครามที่ยืดเยื้อส่งผลให้ความต้องการสินค้าไม่แน่นอน และกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจโดยรวม 3) อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังคงทรงตัวระดับสูง ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

Advertisment

4) ดัชนีภาคการผลิตยังคงทรงตัวและมีแนวดน้มหดตัวในบางตลาดสำคัญ และ 5) ความกังวลเรื่องต้นทุนภาคการผลิตที่ยังมีความไม่แน่นอน อาทิ ค่าไฟฟ้า และค่าแรงขั้นต่ำ เป็นต้น ขณะที่ปี 2567 สรท.ได้คาดการณ์ส่งออกไทยจะเติบโตที่ 1-2%

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.48-34.70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.64/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/12) ที่ระดับ 1.0762/64 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (8/12) ที่ระดับ 1.0774/76 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมันเปิดเผยรายงานดัชนีราคาค้าส่ง (WPI) ประจำเดือน พ.ย. หดตัวลง 0.2% เมื่อเทียบรายเดือน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -0.1% แต่น้อยกว่าดือนก่อนหน้าที่ระดับ -0.7% โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0757-1.0792 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0787/90 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/12) ที่ระดับ 144.77/80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (8/12) ที่ระดับ 144.28/31 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยธนาคารกลางญี่ปุ่นเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นน้อยที่สุดในรอบเกือบ 3 ปี โดยปรับตัวขึ้นเพียง 0.3% ในเดือน พ.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี แต่นับเป็นการเพิ่มขึ้นมากกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ดัชนี PPI ของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือน ต.ค.

โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 145.21-145.84 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 145.36/39 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือน พ.ย. ของสหรัฐ (12/12), การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) (12-13/12), ธนาคารกลางอังกฤษ (14/12) และธนาคารกลางยุโรป (14/12), ดัชนียอดค้าปลีกประจำเดือน พ.ย.ของสหรัฐ (14/12), จำนวนผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (14/12), ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมประจำเดือน พ.ย.ของจีน (15/12), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคการผลิตและภาคบริการของยูโรโซน และสหรัฐ (15/12)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.60/-10.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.50/-8.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ