สันติธาร เสถียรไทย เศรษฐกิจไทยกับภาวะ “วิกฤตซ้อนวิกฤต”

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่เหมือนจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน รอการกระตุ้นจากนโยบายของรัฐบาลใหม่ แต่ประเทศไทยยังคงมีโจทย์ใหญ่เรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเรื่องสังคมสูงวัย แรงงานลดลง และการเติบโตที่ลดลง ภายใต้ปัจจัยแวดล้อมที่มีความเสี่ยงจากปัญหาสงครามที่เกิดขึ้นกลายเป็น polycrisis ที่มีความซับซ้อนขึ้น

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ดร.สันติธาร เสถียรไทย” นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่มาแรง อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ Sea Group ซึ่งล่าสุดได้รับคัดเลือกและแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งมีอายุน้อยที่สุด ถึงโจทย์ประเทศไทยที่ต้องเร่งลงมือทำ กับสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศที่เปรียบเหมือน “นักกีฬาสูงวัย” ในขณะที่โลกกำลังเผชิญปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) ก่อเป็นสงคราม ทำให้อยู่ในภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤต

เศรษฐกิจไทยเหมือน “นักกีฬาสูงวัย”

“สันติธาร” กล่าวว่า จากที่เศรษฐกิจประเทศไทยเปรียบเหมือนนักกีฬาสูงวัยที่มีอายุเฉลี่ยกว่า 40 ปี จัดอยู่ในกลุ่มพี่ใหญ่ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ ขณะที่อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ที่มีอายุเฉลี่ย 20-30 ปี อย่างไรก็ดี นอกจากอายุ สิ่งที่สะท้อนว่าไทยเป็นนักกีฬาสูงวัยคือ “อาการ” และสมรรถนะร่างกายที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนจาก 3 ปัจจัยหลัก

คือ 1.การเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะเห็นว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย โตเฉลี่ยปีละ 7% แต่ปัจจุบันขยายตัวเพียง 3% เปรียบเป็นนักกีฬาที่เคยวิ่งเร็ว แต่ตอนนี้วิ่งได้ช้าลง

2.ความสามารถในการแข่งขัน เป็นนักกีฬาสูงวัย ทำให้แมวมองไม่สนใจ ไม่ดึงดูดสายตานักลงทุน เพราะหากดูภาพรวมตอนนี้หลายคนกำลังให้ความสนใจในตลาดอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) หรือบริษัทข้ามชาติที่ให้ความสนใจเข้ามาลงทุน แต่จากข้อมูลพบว่า “ไทย” ได้รับความสนใจน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยต่างชาติจะเลือกไปสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนามก่อน และมีบางครั้งไปมาเลเซียก่อนไทย สะท้อนผ่านตัวเลขการส่งออกที่ปรับตัวลดลง ทั้งในแง่ส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) และโปรดักต์

Advertisment

และ 3.สัญญาณของนักกีฬาสูงวัย คือวิ่งเร็วแรง ได้ไม่นาน และผลข้างเคียงเยอะ จะเห็นว่าเศรษฐกิจเราโตเร็วเป็นช่วง ๆ พอโตปุ๊บก็จะมีปัญหาตามมา เช่น ในช่วงที่เศรษฐกิจโตเร็วมาก ๆ ส่วนหนึ่งมาจากหนี้ครัวเรือนที่โตเร็วขึ้น อันนี้เป็นเหมือนนักกีฬาที่ใช้สเตียรอยด์มาวิ่ง แต่สุดท้ายแล้วเกิดอาการกระดูกผุ อาการแย่ลงกว่าเดิม

เปลี่ยนเกม-ผ่าตัดกฎหมาย

“สันติธาร” สะท้อนว่า เมื่อไทยยอมรับและเข้าใจว่าเป็นนักกีฬาสูงวัย ไม่เป็นที่สนใจของนักลงทุน อันดับแรก ประเทศไทยจะต้องเป็นคนเดินเข้าไปหานักลงทุน นักธุรกิจจากทั่วโลก และบอกว่าจุดแข็งของไทยคืออะไร เป็นเรื่องของระดับผู้นำประเทศจะต้องไปเร่งเจรจากับผู้นำของแต่ละประเทศ เพื่อดึงดูดการลงทุน

สิ่งสำคัญเมื่อนักลงทุนให้ความสนใจเข้ามาลงทุน เราจะต้องช่วยลดกติกา ขั้นตอนต่าง ๆ ให้มีความง่ายขึ้น และสามารถทำได้จริง เพื่อสนับสนุนให้นักลงทุนสามารถเข้ามาทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น ซึ่งการผ่าตัดกฎหมาย กติกาทำได้ 2 ทางคือ 1.การทบทวนกฎหมายซับซ้อน (regulatory guillotine) เพื่อให้สามารถทำธุรกิจได้คล่องตัวมากขึ้น ดึงดูดการลงทุนง่ายขึ้น และยังสามารถดึงแรงงานที่มีความสามารถ (talent) เข้ามาง่ายขึ้น เพราะไทยยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีความสามารถ และคนอยากมาเมืองไทยอยู่แล้ว ขนาดเราเต็มไปด้วยกฎ เข้ามาได้ยาก คนยังอยากเข้า

และ 2.เร่งเจรจาเข้าร่วมในความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศ เช่น เขตการค้าเสรี (FTA) ซึ่งไม่ใช่เป็นการเปิดตลาดขายของอย่างเดียว แต่เป็นการช่วยอัพเกรดกฎหมาย กฎกติกา เพราะเราสามารถไปให้สัญญา ร่วมกันในการพัฒนาหรือกรอบกติกาต่าง ๆ เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม ข้อมูลต่าง ๆ เป็นต้น

Advertisment

“นักลงทุนเขาจะดูในเรื่องของทุน ที่เป็นเงินและเรื่องของทุนมนุษย์ (talent) ซึ่งสำคัญมาก ซึ่งข้อดีของไทยคือ เป็นประเทศที่คนเขาชอบมาอยู่กันแล้ว และ talent ก็ชอบมาทำงานที่นี่ มาแบบระยะสั้น workcation หากเราสามารถทำให้เป็นระบบดึงดูด talent จากทั่วโลกมาอยู่ที่ไทยและอยู่ได้ยาว เป็น global talent และเป็นฮับได้ สุดท้ายแล้วจะช่วยเป็นแรงแม่เหล็กดึงดูดเงินทุนทั้งหลายมาลงทุนได้เหมือนกัน”

“Care Economy” จุดแข็งของไทย

“สันติธาร” ฉายภาพว่า ไทยจะต้องเปลี่ยนจากการเน้นเชิงปริมาณ มาเป็น play smart หรือการเล่นกีฬาโดยใช้ร่างกายน้อยลง แต่ให้ประโยชน์มากขึ้น หรือการเพิ่มผลิตภาพ (productivity) มากขึ้น โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพราะไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย และประชากรวัยแรงงานมีน้อยลง หากเราสามารถนำแรงงานที่ใช้ประสิทธิภาพตัวเองไม่เต็มที่มา reskill ให้สามารถมาทำงานในภาคส่วนเศรษฐกิจที่มีความต้องการสูง โดยเฉพาะภาคสาธารณสุข ภาคบริการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นจุดแข็งของไทย

ภาคเศรษฐกิจที่ผมเรียกว่า “care economy” ที่เป็นภาคบริการของประเทศไทย ทั้งภาคท่องเที่ยว เฮลท์แคร์ wellness บริการทั้งหลายเหล่านี้ต้องการคนมหาศาล และยังเป็นโอกาสใหญ่ เพราะเทรนด์โลกเข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้คนมีความต้องการทางด้านสุขภาพ และชีวิตหลังเกษียณ และไทยมีจุดแข็งทางด้านสาธารณสุข ผลิตภัณฑ์ยา และการดูแลสุขภาพกายและจิตใจ ซึ่งไทยสามารถสร้างรายได้ตรงให้แซงหน้าสิงคโปร์และอินโดนีเซียได้

อย่างไรก็ดี ในการขยายตลาด “care economy” ปัจจุบันพบว่าไทยยังคงขาดแคลนบุคลากรทั้งพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาลที่มีไม่เพียงพอกับความต้องการ หากต่างชาติเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของการสนับสนุนให้เพิ่มผลิตภาพให้คนมาทำงานตรงนี้มากขึ้น เปิดทางให้แรงงานต่างชาติเข้ามาง่ายขึ้น เช่น พยาบาลฟิลิปปินส์ เพื่อให้มาดูแลต่างชาติ เพราะเป็นตลาดที่มีโอกาสมหาศาล ไทยจึงต้องปลดล็อกตรงนี้

ชู DCA อนาคตประเทศไทย

“สันติธาร” ฉายภาพว่า แม้ประเทศไทยจะเป็น “นักกีฬาสูงวัย” แต่ก็ยังมีโอกาสมายื่นอยู่ในอันดับต้น ๆ ได้ เพราะเทคโนโลยีสามารถทำให้นักกีฬาอายุเยอะแต่เล่นได้นานและเล่นได้เก่ง แต่ต้องดูแลร่างกายตัวเอง และเชื่อว่าประเทศไทยก็เป็นอย่างนั้น เพราะมีจุดแข็งหลายอย่างที่น่าสนใจ

“เพราะคลื่นลูกใหม่มันแรงกว่าคลื่นลูกเก่าเสมอ ถ้าเราพลาดคลื่นลูกที่แล้วไป เราสามารถเกาะคลื่นลูกใหม่และวิ่งแซงคนอื่นได้เหมือนกัน”

สำหรับจุดแข็งของประเทศไทยในยุคปัจจุบัน ที่น่าดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศ มีอยู่ด้วยกัน 3 ธีม ภายใต้คำว่า DCG หมายถึง digital หรือ generative AI เพราะเทรนด์มาทางนี้ เราเป็นประเทศที่มียูสเซอร์ค่อนข้างเยอะ และจาก Tech War ทำให้หลายคนเริ่มกลัวที่จะไปลงทุนในจีน เลยวิ่งผ่านมาทางอาเซียน ทั้งเรื่อง data center และ cloud เป็นต้น ส่วน C คือ care economy และ G คือ green economy เทรนด์ความยั่งยืน เช่นที่มีการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นต้น

สร้างภูมิคุ้มกันรับ “วิกฤตซ้อนวิกฤต”

ดร.สันติธารกล่าวว่า การสร้างภูมิคุ้มกันถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะปัจจุบันโลกมีความเสี่ยงเกิดขึ้นจากหลายทาง หากล้มก็อาจบาดเจ็บหนักได้ ไม่ว่าจะเป็นภูมิคุ้มกันเกี่ยวกับ global warning ภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป ซึ่งไทยติดท็อปเทนของโลกที่เจอความเสี่ยง ทั้งเรื่องน้ำท่วมและแล้งอยู่ในประเทศเดียวกัน โดยเฉพาะภาคเกษตรที่มีแรงงานสัดส่วนประมาณ 30% และภาคท่องเที่ยวอีก 20% ซึ่งอาจถูกกระทบได้โดยตรง

หรือสถานการณ์โลกที่อยู่ในภาวะ “polycrisis” มีวิกฤตซ้อนวิกฤตหลาย ๆ อันเข้ามา และคาดเดาได้ยากมาก แต่ที่เห็นได้ชัดเจนคือ เกี่ยวกับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) คาดเดายากขึ้นกว่าเดิมมาก เพราะเป็นภาวการณ์ที่ “ระเบียบโลกที่ยังไม่มีระเบียบ” คือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งที่ผ่านมาคนมักจะบอกว่าเป็นยุคที่สหรัฐมีอำนาจมาก และยุคต่อไปจะมาทางเอเชียและจีนมากขึ้น แต่ภาพปัจจุบันยังมาไม่ถึง ทำให้ช่วงนี้เป็นช่วงสุญญากาศ ช่วงการเปลี่ยนผ่านที่ยังไม่มีใครขึ้นไปอยู่บนบัลลังก์ได้เต็มที่

ดังนั้น ระเบียบโลกต่าง ๆ ยังไม่นิ่ง และเมื่อเป็นภาวะเช่นนี้จึงมีความผันผวนเกิดขึ้นได้เยอะ ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะปัญหาเรื่องของความไว้เนื้อเชื่อใจกันที่ลดลงอย่างเดียว ขณะเดียวกัน โลกกำลังมีปัญหาอื่น เช่น ปัญหาโลกเดือด เทคโนโลยีที่สร้างการเปลี่ยนแปลง พอมารวมกันแล้วมันทำให้โจทย์ยากขึ้น

ยกตัวอย่างเรื่องความยั่งยืน พอมีสงครามที่เกิดขึ้น นอกจากเรื่องการสูญเสียชีวิต ยังมีปัญหาอื่นตามมา เกี่ยวกับราคาน้ำมัน ความมั่นคงทางพลังงานกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา ทำให้หลายประเทศต้องกลับมาคิดใหม่ว่า อยากจะลงทุนในพลังงานสะอาด ทิ้งพวกถ่านหิน น้ำมันต่าง ๆ แต่ถ้าความมั่นคงทางพลังงานเป็นประเด็น ทำให้พลังงานไม่เพียงพอ จะทำอย่างไร ซึ่งหลายคนอาจจะวิ่งกลับไปใช้ถ่านหิน หรือน้ำมันอีกครั้งหนึ่ง เกิดโจทย์ที่ยาก เพราะด้านหนึ่งอยากจะไปทางสีเขียว แต่อีกด้านบอกสีอะไรก็ได้ แต่ต้องมีพลังงานก่อน ทำให้ polycrisis มันซับซ้อน complicate ขึ้นในหลาย ๆ เรื่องที่ผสมกัน

“เรื่อง geopolitics ค่อนข้างแรงและซับซ้อน และไม่รู้จะไปในทิศทางใด และสถานการณ์พลิกค่อนข้างรวดเร็ว เป็นโลกที่ต้องเตรียมความพร้อม เพราะหลายคนก็ไม่คิดว่าจะมี แต่หากย้อนไปดูสถิติย้อนหลัง พบว่าทุก 50 ปีจะมีสงครามเกิดขึ้น”

นโยบายกระตุ้นจำเป็น…แต่ต้องตรงจุด

“สันติธาร” กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหลาย ยอมรับว่าบางครั้งก็ยังจำเป็น ไม่ใช่ว่าไม่จำเป็น เพียงแต่การใช้ต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะว่าเราไม่มีกระสุนหรือคลังยาเท่าเมื่อก่อน หลังจากเกิดโควิด-19 ดังนั้น การแจกจ่ายยาตรงนี้ต้องทำอย่างระมัดระวัง และพอเหมาะพอควร ภายใต้หลักการ 3T ซึ่งนำไปใช้ในอนาคตกรณีที่มีการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

ได้แก่ 1.target เฉพาะกลุ่ม โดยเป็นกลุ่มที่ต้องการจริง ๆ 2.transparent โปร่งใส และ 3.transform คือไม่ได้กระตุ้นแค่ดีมานด์ระยะสั้น แต่ถ้าสามารถดึงให้เขาปรับตัว หรือ transform ได้ในระยะยาว เช่นอาจทำให้มีแรงจูงใจในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจเป็นธุรกิจสีเขียว และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือการดึงให้คนไปเพิ่มทักษะ ทำเทรนนิ่ง เพื่อพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ในอนาคตได้มากขึ้น

นอกจากนี้ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ Sea Group ให้คำแนะนำสำหรับองค์กรธุรกิจในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว วิกฤตซ้อนวิกฤต สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่อง adaptability คือเราต้องได้ยิน เราต้องสัมผัสคลื่นลมของการเปลี่ยนแปลงได้เร็ว ต้องได้ยินเสียงของคนกลุ่มต่าง ๆ ได้เร็ว เหมือนกับถ้าดูธรรมชาติ ถ้าเห็นนกบินหนีมาจากไหนสักแห่ง เรารู้แล้วว่ามันมีอะไรเกิดขึ้น เขาหนีอะไรบางอย่าง เทรนด์มันกำลังเปลี่ยน หรือเหมือนคนที่เป็นกะลาสีเรือ สามารถสัมผัสได้เร็ว ว่าถ้าคลื่นลมจะเปลี่ยนเป็นอีกทาง พายุกำลังจะมา คือต้องมีทักษะการปรับตัวสูง