ธปท.ส่งซิกวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นจบแล้ว คาดปีหน้าเศรษฐกิจโต 4.4%

นายปิติ ดิษยทัต

ธปท.ปรับประมาณการจีดีพีปี’66 เหลือ 2.8% จาก 3.6% และปี’67 ปรับขยายตัวเพิ่มเป็น 4.4% จาก 3.8% หลังส่งออกพลิกบวก-มาตรการภาครัฐหนุนเครื่องยนต์เศรษฐกิจโตเต็มสูบ เผยดอกเบี้ย 2.50% เข้าสู่ระดับสมดุล หลังเศรษฐกิจฟื้นตัวชัด-เงินเฟ้อเข้ากรอบ ประเมินดิจิทัลวอลเลต 1 หมื่นบาท หนุนเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 0.3-0.6 เท่า เชื่อเงินบาทอ่อนค่ายังปรับตัวแบบมีเหตุผล

จีดีพี 67 ขยายตัว 4.4% เครื่องยนต์เศรษฐกิจครบ

วันที่ 27 กันยายน 2566 นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2566 ชะลอตัว จากตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2/2566 ที่ออกมาต่ำกว่าคาด 1.8% มาจากภาคต่างประเทศเป็นหลัก

ทั้งในส่วนของการส่งออกที่หดตัวล้อกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง และรายจ่ายจากนักท่องเที่ยวที่ไม่เป็นไปตามคาด จึงมีการปรับประมาณการนักท่องเที่ยวปีนี้เหลือ 28.5 ล้านคน จาก 29 ล้านคน และในปี 2567 ปรับจาก 35.5 ล้านคน เหลือ 35 ล้านคน

จึงเป็นที่มาของการปรับตัวเลขประมาณการจีดีพีปี 2566 จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 3.6% เหลือ 2.8% และในปี 2567 ธปท.ได้มีการควบรวมมาตรการภาครัฐ เช่น ดิจิทัลวอลเลต 1 หมื่นบาท มาตรการปรับค่าแรงขั้นต่ำ และมาตรการลดค่าครองชีพ เข้ามารวมในการประเมินการเติบโต โดยคาดว่าจีดีพีจะขยายตัวที่ระดับ 4.4% จากประมาณการเดิมอยู่ที่ 3.8%

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมาย และคาดว่าจะอยู่ที่ 1.6% จาก 2.5% และในปี 2567 อยู่ที่ 2.6% จาก 2.4% โดยมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำในปีนี้ จากผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ และผลของฐานที่สูงในปีก่อนหน้า

Advertisment

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในปี 2567 โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 1.4% อยู่ที่ 2.0% และ 2.0% ในปี 2567 อย่างไรก็ดี มองข้างหน้ายังคงมีความเสี่ยงด้านสูงจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้นจากนโยบายภาครัฐ และต้นทุนราคาอาหารที่อาจปรับสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน รวมถึงเอลนีโญรุนแรงกว่าคาด

“จีดีพีปีนี้เหลือ 2.8% จาก 3.6% มาจากจุดตั้งต้นของเศรษฐกิจไตรมาส 2/66 และปี’67 ขยายตัว 4.4% สูงกว่าประมาณการไว้ ซึ่งปีนี้การส่งออกยังคงติดลบ จึงเป็นแรงฉุดเศรษฐกิจ แต่ในปี’67 การส่งออกเริ่มบวก ดังนั้น เครื่องยนต์ในปี’67 จะเต็มสูบครบครันกว่าปีนี้ ซึ่งมาตรการภาครัฐจะเป็นตัว Add on จากปัจจัยเครื่องยนต์ที่มีดีอยู่แล้ว”

หมดยุดดอกเบี้ยขาขึ้น

นายปิติกล่าวว่า ทิศทางนโยบายการเงิน ภายหลังจากคณะกรรมการมีมติเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.25% ต่อปี จาก 2.25% ต่อปี เป็น 2.50% ต่อปี มองว่าหากแนวโน้มเศรษฐกิจเป็นไปตามคาดการณ์และไม่มีปัจจัยเปลี่ยนแปลง โดยเข้าสู่ภาวะปกติ (Normalization) อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันที่มีอยู่ถือว่าเหมาะสมสักระยะหนึ่ง หรือ Neutral Rate

อย่างไรก็ดี ธปท.ก็ยังคงให้ความสำคัญกับบริบทที่จะมาข้างหน้า เพราะยังคงมีความเสี่ยงด้านสูง ในเรื่องของความไม่แน่นอน เช่น จำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดไว้จะมาตามที่ตั้งไว้หรือไม่ หรือมาตรการภาครัฐจะสามารถเริ่มได้เมื่อไร และใช้เงินเท่าไร โดยภายใต้การยึดกรอบ 3 ด้านคือ 1.เศรษฐกิจเข้าสู่ระดับศักยภาพ ภาพปัจจุบันถือว่าเป็นแบบนั้น 2.อัตราเงินเฟ้อโน้มเข้ากรอบ ภาพสะท้อนไปในทิศทางนั้น และ 3.ระบบการเงิน คาดว่าเศรษฐกิจฟื้นตัว สินเชื่อน่าจะมีการขยายตัวได้ดีขึ้น โดยทั้ง 3 ภาพสะท้อนไปในทิศทางแบบนี้ อัตราดอกเบี้ยถือว่าเหมาะสม

Advertisment

เงินบาทอ่อนค่ายังสอดคล้องกับภูมิภาค

สำหรับทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนนั้น มองว่า ภาพรวมเงินบาทยังคงสอดคล้องกับภูมิภาค โดยที่ดอลลาร์มีทิศทางแข็งค่าจากการส่งสัญญาณนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และหากดูนับตั้งแต่ต้นปี-ปัจจุบันเงินบาทอ่อนค่า 3-4% อย่างไรก็ดี ถือว่าเงินบาทยังคงมีความผันผวนอยู่ แต่การอ่อนค่าไม่ได้หลุดลอย ซึ่งการอ่อนค่าก็ยังมีประโยชน์ และเป็นการปรับตัวอ่อนค่าที่มีเหตุผล จึงยังไม่ได้เกิดพลวัตที่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด

“ดอกเบี้ยถือเป็นเครื่องมือในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงินย่อมมีผลต่อค่าเงินอยู่ เช่นเดียวกับเฟดที่มีการปรับลดหรือเพิ่มขึ้นดอกเบี้ยก็มีผลต่อค่าเงิน แต่การปรับอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ของเราไม่ใช่ปัจจัยหลักเพื่อดูแลค่าเงิน”

ดิจิทัลวอตเลตหนุนเม็ดเงินในเศรษฐกิจ 0.3-0.6 เท่า

สำหรับในส่วนของมาตรการภาครัฐ โดยเฉพาะในส่วนของมาตรการดิจิทัลวอตเลต 1 หมื่นบาท วงเงิน 5.6 แสนล้านบาท ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเริ่มได้เมื่อไร และเม็ดเงินที่จะนำมาใช้

ซึ่งมีการพูดถึงว่าจะเริ่มได้เดือนกุมภาพันธ์ 2567 แต่คาดว่าจะล่าช้าออกไป จึงต้องมีการประเมินใน 2 ด้านคือ โครงการจะสามารถเริ่มได้เมื่อไร ส่วนเม็ดเงินที่จะนำมาใช้จะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจเท่าไร ซึ่งเป็นเหมือนตัวคูณในเศรษฐกิจ

โดยที่ผ่านมา ธปท.ได้มีการศึกษามาตรการทางการคลังทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีลักษณะการโอนเงินให้ประชาชน ไม่ได้เป็นการบริโภคโดยตรง ซึ่งที่ผ่านมาจะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ราว 0.3-0.6 เท่า เป็นสิ่งที่เรานำมาวิเคราะห์และต้องดูในหลายสมมติฐาน (Scenario)

ส่วนแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้นั้น มองว่ารัฐบาลคงหาทางออกที่ดีที่สุดในการหาแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ แต่จุดตั้งต้นของเสถียรภาพทางการคลังของเรายังคงดีอยู่เมื่อเทียบกับตลาดเกิดใหม่ (Emerging) หากเศรษฐกิจยังโตได้ตามศักยภาพ และแม้ว่าภาครัฐมีการก่อหนี้เพิ่มยังถือว่ามีความยั่งยืนอยู่ แต่ในช่วงนี้อาจจะยังไม่มีความชัดเจนของมาตรการ ทำให้หลายฝ่ายมีความเป็นห่วง และ ธปท.ก็ยังคงติดตาม เพราะเสถียรภาพการคลังเป็นสิ่งสำคัญต่อระบบทุกอย่าง

“เรามองว่ามาตรการดิจิทัลวอลเลตต้องมาแน่นอน และไม่ว่าจะมาในรูปแบบไหน อัตราการเติบโตจีดีพีจะขยายตัวในระดับ 4% ส่วนจะขยายได้ระดับ 4.2% หรือ 4.6% ต้องรอดูความชัดเจน

อย่างไรก็ดี มาตรการที่เป็นการโอนเงินให้ประชาชน จะต้องดูว่าเป็นการใช้เงินเพิ่มเติมจากสิ่งที่ใช้หรือไม่ เพราะหากเป็นการซื้อของที่เคยซื้ออยู่แล้วก็ไม่ได้เป็นการเพิ่มเติมให้เศรษฐกิจ แต่เป็นการซื้อของที่เดิมไม่เคยซื้อจะช่วยสร้างเม็ดเงินเพิ่มเติมได้ แต่เป็นการคำนวณแบบหยาบ ๆ ซึ่งเราต้องดูรูปแบบด้วย”