กกร.เฉือนจีดีพีปีนี้เหลือ 2.5-3% เสนอรัฐบาลเร่งนโยบายลดค่าครองชีพ

กกร. เฉือนจีดีพีปีนี้เหลือ 2.5-3%

กกร.หั่นจีดีพีปี’66 เหลือโต 2.5-3% จาก 3-3.5% หลังเศรษฐกิจโลกชะลอ-กำลังซื้อหด กดดันภาคส่งออกติดลบ 10 เดือนต่อเนื่อง พร้อมเสนอรัฐบาลเร่งลดค่าครองชีพภาคธุรกิจ-ประชาชน

วันที่ 7 กันยายน 2566 นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงต่อเนื่อง และสัญญาณความเสี่ยงในเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อภาคส่งออกของไทยที่ยังมีอุปสรรคในการฟื้นตัว

ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนแรงลงอย่างเห็นได้ชัด โดย กกร.ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตชะลอลง โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จากเดิมอยู่ที่ 3.0-3.5% เป็น 2.5-3.0% เนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาส 2 เติบโตเพียง 1.8% ต่ำกว่าประมาณการที่ 3.1% อย่างมาก

เช่นเดียวกับภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่มีการหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการส่งออกที่ติดลบต่อเนื่องมา 10 เดือน และติดลบแทบทุกหมวด ส่งผลให้ กกร.ปรับประมาณการจากเดิมมองอยู่ที่ -2.0 ถึง 0.0% มาอยู่ที่ -2.0 ถึง -0.5% และเงินเฟ้อที่ 1.7-2.2% จากเดิม 2.2-2.7%

ขณะเดียวกัน การใช้จ่ายภาครัฐที่หดตัวต่อเนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่มีแนวโน้มล่าช้า นอกจากนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวยังต่ำกว่าที่คาด เนื่องจากการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังต่ำกว่าปกติอยู่ราว 13% และค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปของคนไทยในการเที่ยวในประเทศต่ำกว่าปกติราว 33%

Advertisment

“ภาครัฐควรมีมาตรการเพื่อเร่งขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยในปี’66 ยังสามารถเติบโตได้ระดับ 3.0% การเร่งรัดมาตรการด้านเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้ประกาศไว้จึงมีความจำเป็น ได้แก่ การลดภาระรายจ่ายค่าไฟและราคาน้ำมัน การผลักดันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้ไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคน ในขณะที่เร่งจัดทำมาตรการเพื่อเสริมสร้างรายได้ให้กับ SMEs และครัวเรือนเพื่อแก้ปัญหาภาระหนี้ได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืน”

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย เปิดเผยว่า สำหรับนโยบายเร่งด่วนที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการนั้น โดยอยากให้ทางรัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องปากท้องประชาชน ทั้งเรื่องการปรับค่าไฟและราคาน้ำมันลง ก็เป็นการช่วยประชาชนอยู่แล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการแบกภาระต้นทุนในเรื่องของต้นทุนพลังงานไม่ไหว จึงมีการส่งผ่านไปยังผู้บริโภค หากมีการลดภาระตรงนี้ จะช่วยลดค่าครองชีพได้เช่นกัน

นอกจากนี้ การท่องเที่ยว มาตรการที่ยกเว้นวีซ่าจีนนั้นเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยการเพิ่มเที่ยวบินและมีการสื่อสารถึงความปลอดภัยในการเข้ามาเที่ยว ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจให้ได้ขยายตัวตามเป้า 3% ภายใต้นักท่องเที่ยว 30 ล้านคน เนื่องจากช่วง 7 เดือนแรกอยู่ที่ 18 ล้านคน รวมถึงปัญหาภัยแล้วก็มีงบประมาณที่ค้างท่ออยู่ ซึ่งคาดว่าน่าจะสามารถนำออกมาแก้ไขได้

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า อยากให้ทางรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาปากท้องเป็นหลัก ส่วนค่าแรง 600 บาทนั้น เชื่อว่าทางรัฐบาลและไตรภาคี จะมีการหารือเพื่อให้เป็นไปตามกลไกที่เคยกล่าวไว้

Advertisment