SCBX ผนึกยักษ์เกาหลี ชน กรุงไทย+ GULF ชิงไลเซนส์ Virtual Bank

ธนาคาร

แบงก์-กลุ่มธุรกิจการเงิน ประกาศชิงไลเซนส์ “Virtual Bank” คึกคัก ล่าสุด “SCBX จับมือ KakaoBank” ลงสนามแข่ง หลังจาก “กรุงไทย-AIS” ยืนยันไม่ถอย แม้ธปท.ประกาศเลื่อนออกหลักเกณฑ์-รับสมัครไปหนึ่งไตรมาส นอกจากนี้ กลุ่ม ซี.พ.- JMART ให้ความสนใจ

วันที่ 17 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระแสเรื่องธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง เมื่อล่าสุดบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX ยานแม่ของธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศร่วมมือกับ “KakaoBank” ธนาคารดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเกาหลีใต้ ร่วมลงนามจัดตั้ง “Consortium” เพื่อเตรียมความพร้อมในการยื่นขอใบอนุญาต (License) การจัดตั้ง Virtual Bank จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

โดยการลงนามจัดตั้ง “Consortium” ครั้งนี้ SCBX จะมีสัดส่วนการถือหุ้นเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ “KakaoBank” จะมีสัดส่วนการถือหุ้นอย่างน้อย 20% ทั้งนี้ SCBX และ KakaoBank กำลังร่วมกันพิจารณาหาพันธมิตรเพิ่มเติม เพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนความแข็งแกร่งให้ครบทุกมิติในการขอใบอนุญาตเพื่อจัดตั้งและประกอบธุรกิจ Virtual Bank ในประเทศไทย เพื่อพัฒนาบริการสำหรับกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบ (Underserved Group) ให้มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และทั่วถึง

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ ธนาคารกรุงไทย ได้ประกาศชัดเจนให้ความสนใจในการยื่นขอไลเซนส์ “Virtual Bank” เช่นเดียวกัน โดยผ่านความร่วมมือกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ AIS ซึ่งจะเป็นผู้ร่วมลงทุนเป็นผู้ให้บริการ Virtual Bank

นอกจาก SCBX และ ธนาคารกรุงไทย ที่ประกาศชิงไลเซ่นส์ Virtual Bank แล้ว ยังมีผู้ประกอบการเจ้าใหญ่ให้ความสนใจในตลาดนี้ เช่น เจริญโภคภัณฑ์ ในวงการทราบกันดีว่ากลุ่ม ซี.พี. สนใจและต้องการขยายบริการธุรกิจการเงินอย่างเต็มตัว อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่ากลุ่ม ซี.พี.จะจับมือกับพันธมิตรรายใด หรือจะเลือกดำเนินการเอง

Advertisment

เนื่องจากกลุ่มทรูก็มีศักยภาพทั้งในแง่ฐานลูกค้าผู้ใช้บริการมือถือและอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ซึ่งหลังดีลควบรวมดีแทคก็จะทำให้มีฐานลูกค้ามือถือกว่า 51 ล้านราย และอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ “ทรูออนไลน์” อีกราว 4.7 ล้านราย รวมทั้งกลุ่ม ซี.พี.ได้เข้าสู่ธุรกิจการเงินมานานแล้ว ผ่านบริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป

และที่ผ่านมาเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) เข้าสู่ธุรกิจการเงินผ่าน บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด เจ้าของอีวอลเลตอย่าง “ทรูมันนี่” (TrueMoney) และในปี 2559 บริษัท แอนท์ ไฟแนนเชียล เซอร์วิสเซส กรุ๊ป ในเครืออาลีบาบา ได้ประกาศความร่วมมือกับบริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด และร่วมร่วมลงทุนในบริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด เพื่อร่วมผลักดันการเติบโตของระบบการใช้จ่ายดิจิทัลในประเทศไทย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขณะเดียวกัน บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ได้ประกาศให้ความสนใจในการให้บริการ Virtual Bank โดยผ่านความร่วมมือกับพันธมิตร “KB Financial Group” กลุ่มธุรกิจการเงินชั้นนำในประเทศเกาหลีใต้ โดยได้ระบุว่าได้เริ่มมีการหารือในเรื่องนี้มาสักระยะแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก่อนหน้านี้ได้ประกาศเลื่อนกำหนดการออกหลักเกณฑ์การอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ฉบับสมบูรณ์ออกไป โดยคาดว่าจะเสนอหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้กระทรวงการคลังพิจารณาภายในเดือนกรกฎาคม 2566

Advertisment

โดยภายหลังจากเสนอหลักเกณฑ์การอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ให้กระทรวงการคลังพิจารณาภายในเดือนกรกฎาคม 2566 แล้ว และจะมีการเปิดรับสมัครได้ในช่วงปลายไตรมาส 3 ปี 2566 ก่อนจะมีกระบวนการคัดเลือกและประกาศผู้ที่เหมาะสมภายในสิ้นปี 2567 ซึ่ง Virtual Bank ที่มีความพร้อมน่าจะเริ่มเปิดดำเนินการได้ภายในสิ้นปี 2568 (จากกำหนดการเดิม คือ เปิดรับสมัครช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2566 คัดเลือกและประกาศผลภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2567 และเริ่มเปิดดำเนินการได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2568

ทั้งนี้ ธปท.ยังคงยืนยันการให้ใบอนุญาตการจัดตั้ง Virtual Bank อยู่ที่ 3 รายเช่นเดิม โดยมองว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสม และต้องการประเมินผลจากการจัดตั้งก่อนจะมีการทบทวนเปิดใหม่อีกครั้ง