เปิดประวัติ ราชินีวิพัฒน์ โรงเรียนหญิงล้วนเครือราชินี ประกาศเลิกกิจการ

ไม่ใช่แค่ ภาคธุรกิจ ร้านค้า ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ภาคอุตสาหกรรม เท่านั้นที่มีปัญหาต้องปิดกิจการ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา และเป็นข่าวออกมาเป็นระยะ ๆ ส่งผลกระทบต้องปลดคน ลดจำนวนพนักงาน ตามมา

ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจยังส่งผลไปถึงภาคการศึกษา ล่าสุดที่เป็นข่าวใหญ่ กรณี “โรงเรียนราชินีวิพัฒน์” โรงเรียนหญิงล้วนชื่อดังในเครือราชินี ประกาศเลิกกิจการอย่างเป็นทางการไปเมื่อ 5 มิถุนายน 2567

เนื่องจากโรงเรียนประสบปัญหาจำนวนนักเรียนไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการ ประกอบกับไม่มีนักเรียนประสงค์ศึกษาต่อในปีการศึกษา 2567

โรงเรียนราชินีวิพัฒน์จึงได้ดำเนินการแจ้งขอเลิกกิจการโรงเรียนต่อสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และขอประกาศเลิกกิจการโรงเรียนอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป

Advertisment

สำหรับโรงเรียนราชินีวิพัฒน์ มีชื่อเดิมคือ โรงเรียนราชินีมูลนิธิ เปิดสอนระดับมัธยมศึกษา ตั้งอยู่หมู่ 2 ซอยบ้านลาดปลาเค้า 6 ต.คลองเขื่อน อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา เริ่มก่อสร้าง พ.ศ. 2560 เสร็จสิ้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 และเปิดการเรียนการสอน พ.ศ. 2562 เป็นปีการศึกษาแรก

เท่ากับว่าเปิดทำการสอนมาได้ 5 ปีการศึกษาเท่านั้น

โรงเรียนราชินีวิพัฒน์

สำหรับ โรงเรียนราชินีมูลนิธิ ตั้งอยู่ในในจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นโรงเรียนน้องใหม่ในเครือราชินี ที่ขยายฐานไปแข่งขันในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC (Eastern Economic Corridor) เพื่อรองรับความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตจากการนักลงทุนที่จะทยอยเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ถือเป็นการขยายฐานที่ค่อนข้างท้าทายของเครือราชินี

Advertisment

โรงเรียนที่มีความแข็งแกร่งด้านหลักสูตร และมีจุดยืนเป็นโรงเรียนที่สอนความเป็น “กุลสตรี” ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และสอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป

โรงเรียนราชินีวิพัฒน์

“จารุรัตน์ ตู้จินดา” ผู้จัดการโรงเรียนราชินีมูลนิธิ (ณ ขณะนั้น) เคยให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ก่อนหน้านี้ว่า ราชินีมูลนิธิ แม้จะเป็นโรงเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก (english programe) แต่มีสิ่งที่ “เด่นกว่า” โรงเรียนทั่วไปในพื้นที่ตรงที่ การนำหลักสูตรจากเคมบริดจ์มาใช้ ซึ่งถือเป็นอีกความท้าทายของราชินีมูลนิธิ ภายใต้หลักสูตรของเคมบริดจ์จะต้องจ้างผู้สอนมาจากต่างประเทศ และใช้สื่อการเรียนการสอนต้นฉบับจากเคมบริดจ์อีกด้วย

ในเมื่อเลือกใช้มาตรฐานสากลแล้ว นั่นหมายถึงว่า ทั้งครูและนักเรียนจะต้องทำงานหนักไปพร้อม ๆ กัน เนื่องจากต้องเพิ่มตัว ”ชี้วัด” ตามแบบฉบับของเคมบริดจ์ ควบคู่ไปกับการใช้หลักสูตรไทยของกระทรวงศึกษาธิการคู่ขนานกันไป เพื่อไม่ให้ขาดตัวชี้วัดตามหลักสูตรของไทยด้วย อย่างเช่น ภาษาไทย

ทั้งนี้ การที่นำหลักสูตรเคมบริดจ์เข้ามาผสมผสานกับหลักสูตรไทยนั้้น ยังทำให้เพิ่มโอกาสให้กับนักเรียนที่มีความต้องการไปศึกษาต่อในต่างประเทศได้ทั่วโลก รวมถึงการสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติได้ เพราะเป็นหลักสูตรที่ได้การยอมรับในระดับสากล โดยราชินีมูลนิธิ สำหรับ A-level และอื่น ๆ ในขณะที่หากเป็นโรงเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษทั่วไป จะต้องดำเนินการสมัครสอบวัดความสามารถทางภาษาเอง

โรงเรียนราชินีวิพัฒน์

ถามว่าในเมื่อราชินีมูลนิธิ ใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนอยู่แล้ว ทำไมจึงไม่เปิดในรูปแบบโรงเรียนนานาชาติ “จารุรัตน์” ตอบคำถามนี้ว่าหากมองในแง่ของการแข่งขันในธุรกิจการศึกษา โรงเรียนที่มีในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราทั้งหมดก็ไม่สามารถแข่งขันกับโรงเรียนนานาชาติได้อยู่แล้ว อีกทั้งหลักสูตรนานาชาติมีกฎเกณฑ์ในการจ้างครูในจำนวนที่กำหนดไว้ แต่ต้องจ่ายค่าตอบแทนที่ค่อนข้างสูง ในขณะที่อัตราค่าเทอมที่ไม่แพงมากนักจึงทำให้ตัดสินใจใช้รูปแบบ english programe

“ราชินีมูลนิธิ จึงตัดสินใจเป็นโรงเรียน ลูกครึ่ง ดีกว่า อย่างน้อยที่สุด ไม่ต้องอยู่ในข้อบังคับของหลักสูตรอินเตอร์ อีกทั้งราชินีมูลนิธิยังให้โอกาสคนไทยเข้ามาเรียนมากกว่า หรืออาจจะเรียกได้ว่า เรียนกับราชินีไม่ต้องจ่ายแพง แต่ได้ประโยชน์เหมือนกับโรงเรียนอินเตอร์”

โรงเรียนราชินีวิพัฒน์

ตามมาด้วยอีกความท้าทาย คือ เรื่องของ “ต้นทุน” โดยต้นทุนหลักของโรงเรียนทั่วไปเป็นเงินเดือนครูไปแล้วกว่า 80% อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ยิ่งทำให้โรงเรียนต้องตั้งรับ ปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แต่เนื่องจากราชินีมูลนิธิ ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิจึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ซึ่งเชื่อมั่นว่าในอนาคตจะมีนักเรียนสนใจเข้ามาสมัครเรียนมากขึ้น

แต่แล้วเพียงแค่ 5 ภาคการศึกษา โรงเรียนราชินีวิพัฒน์ ที่เปิดตัวมาเพื่อรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ก็ต้องปิดตัวลงในปีการศึกษา 2566

ขณะที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของ ECC ยังรอการลงทุน และรอนักลงทุน รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง