เกษตรฯ เร่งเครื่องดันไทยฮับออร์แกนิคอาเซียน ลั่นขยายพื้นที่กว่า 1.5 ล้านไร่

เกษตรกร
Photo : Pixabay

เกษตรฯ เร่งเครื่องดันไทยฮับออร์แกนิคอาเซียน ลั่นขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์แล้วกว่า 1.5 ล้านไร่เกินเป้าหมาย เปิดแนวรุกใหม่เดินหน้าโครงการ ”เกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง” สร้างคานงัดใหม่ยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมือง

วันที่ 4 มีนาคม 2565 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นผู้นำเกษตรอินทรีย์ในภูมิภาคอาเซียน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ภายในปี 2565 โดยการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปีงบประมาณ 2560-2564) มีโครงการเพื่อขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งสิ้น 342 โครงการ เพื่อมุ่งสู่การเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 1.3 ล้านไร่ และมีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 80,000 ราย รวมถึงมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปี

อลงกรณ์ พลบุตร

ซึ่งปรากฏว่าในปี 2564 มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน (ภาครัฐและภาคเอกชน) อยู่ที่ 1.51 ล้านไร่ มีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์จำนวน 95,752 ราย เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ และกำลังขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2566-2570 ประกอบด้วย ประเด็นการพัฒนา

ได้แก่ 1.ส่งเสริมการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และฐานข้อมูลเกษตรอินทรีย์ 2.พัฒนาศักยภาพการผลิต และการบริหารจัดการตลอดโซ่อุปทานเกษตรอินทรีย์ 3.ยกระดับมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ และ 4.พัฒนาการตลาด และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์

ทั้งนี้ ในปี 2565 กระทรวงเกษตรฯ ได้รับจัดสรรงบประมาณ 851.10 ล้านบาท ดำเนินการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ รวม 94 โครงการ ประกอบด้วย แผนการส่งเสริม วิจัย พัฒนานวัตกรรม ฐานข้อมูล และถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ รวม 48 โครงการ งบประมาณ 176.83 ล้านบาท พัฒนาการผลิตและการบริหารจัดการเกษตรอินทรีย์ รวม 21 โครงการ งบประมาณ 552.00 ล้านบาท และพัฒนาการตลาด การบริการ และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ รวม 25 โครงการ งบประมาณ 122.27 ล้านบาท

Advertisment

นอกจากนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อนประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเล็งเห็นความสำคัญการแก้ไขปัญหาภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารในเมือง ต้องเร่งขับเคลื่อนพัฒนาการเกษตรในเมือง (Urban Agriculture) โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 และยุคต่อไป (Next normal) เป็นการพัฒนาเกษตรในเมืองควบคู่กับเกษตรในชนบท จึงได้จัดตั้งและเดินหน้าโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองมอบหมายตนเป็นประธานบูรณาการทำงานเชิงรุกร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ

มีวัตถุประสงค์ 6 ประการ ได้แก่ 1.การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง 2.การเพิ่มพื้นที่สีเขียว 3.การลด PM 2.5 และลดก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas) 4.การเพิ่มคุณภาพอากาศ 5.การอัพเกรดคุณภาพชีวิตของประชาชน 6.การสร้างเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของสหประชาชาติ ในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change) ของโลก