รีดภาษีเซฟการ์ดมะพร้าว 72% บี้เอกชนซื้อในประเทศ 2.5 แลกนำเข้า 1 ส่วน

มะพร้าว

ชาวสวนมะพร้าวเฮ ครม.ไฟเขียวใช้มาตรการเซฟการ์ดพิเศษสกัดมะพร้าวนอก ขีดเส้นนำเข้าเกินเกณฑ์ 335,926 ตัน ต้องเสียภาษี 72% พร้อมบีบเอกชนซื้อมะพร้าวในประเทศ2.5 ส่วน แลกสิทธินำเข้า 1 ส่วน หลังยอดนำเข้า 8 เดือนปี 63 เพิ่ม 3 เท่า

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่20 ตุลาคม 2563 เห็นชอบตามที่คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช เสนอให้กำหนดกฎระเบียบการนำเข้ามะพร้าวทั้งกะลามะพร้าวอ่อน และมะพร้าวอื่น ๆ (พิกัดอัตราศุลกากร 0801.12.00 0801.19.10 และ 0801.19.90) ให้เป็นแนวทางเดียวกันทั้งกรอบความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) และความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA)

โดยเป็นไปตามข้อเรียกร้องเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ โดยเฉพาะมะพร้าวกลุ่มอื่น ๆ ที่มีการนำเข้าเพิ่ม 2-3 เท่า 225,000 ตัน จากช่วงเดียวกันของปีก่อนนำเข้า 60,000 ตัน ซึ่งหลัก ๆ เป็นการนำเข้าจากเวียดนาม ทำให้ราคามะพร้าวในประเทศตกต่ำลง กก.ละ 5-6 บาท นับจากเมื่อเดือนธันวาคม 2562

สำหรับมาตรการบริหารจัดการนำเข้าสินค้ามะพร้าวครั้งนี้ กำหนดว่าหากนำเข้าตามความตกลง AFTA กำหนดให้สามารถนำเข้าได้ 4 เดือนนับตั้งช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2563 โดยจัดสรรปริมาณนำเข้าให้แก่ผู้นำเข้าต้องรับซื้อมะพร้าวผลในประเทศ 2.5 ส่วน เพื่อนำเข้าได้ 1 ส่วน เพิ่มจากเดิมที่ให้ซื้อในประเทศ 2 ส่วน (แต่น้อยกว่าที่เกษตรกรขอไว้ 3 ต่อ 1 ส่วน)

ทั้งยังให้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าวพิจารณาจัดสรรปริมาณการนำเข้ามะพร้าวผลให้แก่ผู้มีคุณสมบัติ ผู้มีสิทธินำเข้าดังกล่าว รายงานผลการพิจารณาให้คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชทราบแจ้งกรมการค้าต่างประเทศดำเนินการประกาศเกี่ยวกับช่วงเวลาการนำเข้าต่อไป

Advertisment

ส่วนในกรอบ WTO กำหนดให้นำเข้ามะพร้าวได้ 2 ช่วง คือ เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ และเดือนกันยายน-ธันวาคม รวมเวลา 6 เดือน จากเดิมเดือนมกราคม-พฤษภาคม และเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม สำหรับกรอบความตกลง WTO นอกโควตาไม่กำหนดช่วงเวลานำเข้า

ส่วนกรณีที่นำมะพร้าวนำเข้าภายใต้กรอบ WTO ไปกะเทาะนอกโรงงาน ให้ผู้ประกอบการแปรรูปมะพร้าวจัดทำทะเบียนเครือข่ายผู้กะเทาะมะพร้าว (รายย่อย) และระบุทะเบียนรถที่ใช้ในการขนส่งที่รับมะพร้าวผลนำเข้าไปกะเทาะและรายงานให้พาณิชย์จังหวัดใช้เป็นข้อมูลประกอบการตรวจสอบย้อนกลับกับเอกสารใบขนย้ายมะพร้าว เพื่อไม่ให้มะพร้าวนำเข้าที่นำไปกะเทาะนอกโรงงานออกไปหมุนเวียนในตลาดภายในประเทศ เป็นการบริหารการนำเข้ามะพร้าวภายใต้กรอบความตกลง WTO เพิ่มเติมจากที่มีอยู่

ที่สำคัญ ครม. ยังเห็นชอบให้ใช้มาตรการปกป้องพิเศษ หรือ special safeguard (SSG) ภายใต้ความตกลง WTO และ AFTA เมื่อมีการนำเข้ามะพร้าวทั้งกะลา มะพร้าวอ่อน และมะพร้าวอื่น ๆ มาในประเทศไทยรวมกันเกินกว่าปริมาณ trigger volume ที่กำหนด คือ 335,926 ตัน (คำนวณมาจากยอดนำเข้าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี นับจากปี2560-2562) ให้กรมศุลกากรจัดเก็บภาษีตามความตกลง WTO อัตรานอกโควตา 72% จากเดิมนอกโควตา 54% รวมกับเก็บอากรที่เพิ่มขึ้นอีก 18% และภาษีตามความตกลง AFTA 72% จากเดิมนอกโควตา 0%

เว้นแต่หากปริมาณมะพร้าวในประเทศไม่เพียงพอ และพิจารณาแล้วว่าการนำเข้าจะไม่กระทบต่อราคาเกษตรกรก็อาจไม่บังคับใช้ SSG ก็ได้ ในส่วนกรณีที่อยู่ระหว่างการขนส่งทางเรือ หากพิสูจน์ได้ว่าส่งออกจากท่าเรือต้นทาง และทำสัญญาก่อนหน้าวันที่กำหนดใช้มาตรการ SSG ก็ให้ยกเว้นภาษี และให้สามารถขอคืนอากรในส่วนที่ชำระเกินไว้ได้ ทั้งนี้ กรมศุลกากรฃผู้ดำเนินการต้องส่งข้อมูลให้กับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

Advertisment

พร้อมกันนี้ ครม.ยังได้เห็นชอบเรื่องการเปิดตลาดและบริหารการนำเข้าสินค้ากากถั่วเหลือง เฉพาะที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเพื่อมนุษย์บริโภคและใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ระหว่างปี 2564-2566 สำหรับการนำเข้าได้ภายใต้ความตกลง WTO ให้มีปริมาณ 230,559 ตัน ภาษีในโควตา 10% นอกโควตา 133%

โดยผู้นำเข้าต้องเป็นนิติบุคคลที่ใช้กากถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบผลิตในกิจการตนเอง นำเข้าเฉพาะด่านศุลกากรที่มีด่านพืชและด่านอาหารและยาเท่านั้น และหากนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารต้องแสดงใบรับรอง non-GMO จากประเทศผู้ผลิตต้นทาง

ส่วนการเปิดตลาดและบริหารการนำเข้าภายใต้กรอบการค้าอื่น เช่น AFTA ไม่จำกัดภาษี 0%, ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ภาษี 0% ไม่ต้องขออนุญาตนำเข้าและไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรการบริหารการนำเข้า, ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP), ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ยึดตามกรอบความตกลง WTO ส่วนความตกลงการค้าเสรีไทย-ชิลี (TCFTA) หากนำเข้าจากประเทศนอกความตกลงภาษี 6% และค่าธรรมเนียมพิเศษ ตันละ 2,519 บาท