เลื่อนตัดสินคดีเหมืองทองอัคราอีก 3 เดือน เจรจายังยุติไม่ได้

เลื่อนตัดสินคดีเหมืองทองอัคราอีก 3 เดือน

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เผยอนุญาโตตุลาการเลื่อนตัดสินคดีเหมืองทองอัครา ระหว่างรัฐบาลไทย-กับคิงส์เกตฯ ไปอีก 3 เดือน ลุ้นเปิดทางเจรจาให้ได้ข้อยุติดีที่สุดอีกครั้ง 30 ก.ย. 2567

วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากกรณีข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทย กับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ผู้ถือหุ้น บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำอัครา คณะอนุญาโตตุลาการได้เลื่อนการออกคำชี้ขาดหรือคำตัดสินออกไปอีก 3 เดือน หรือวันที่ 30 กันยายน 2567 จากเดิมที่ต้องตัดสินไปเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายยังมีแนวโน้มการเจรจาที่ยังตกลงกันได้

“ศาลเลื่อนการออกคำขี้ขาด ส่วนการเจรจาก็ยังมีช่องทางที่เปิดพร้อมเจรจาอยู่ ส่วนเนื้อหาการเจรจาไม่สามารถเปิดเผยได้ ส่วนเรื่องการพิจารณาที่ขออาชญาบัตรพื้นที่ใหม่ อาชญาบัตรของอัครา 44 แปลงได้อนุญาตไปหมดแล้ว ซึ่งเป็นคำขอเดิม พื้นที่เดิม ส่วนคำขอที่ค้างอยู่ในกรณีบริษัทลูกริชภูมิไมนิ่งนั้น ยังติดเรื่องการร้องเรียนคัดค้านของชุมชนในพื้นที่ จ.จันทบุรี จึงไม่สามารถอนุญาตได้

ส่วนที่อัคราฯได้ยื่นขอแก้ไขแผนผังโครงการทำเหมืองกับทาง กพร. เพื่อขอขยายพื้นที่ให้กว้างขึ้นและลึกลง แต่ยังคงอยู่ในพื้นที่ประทานบัตรเดิม เรื่องนี้ต้องไปผ่านคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ทราบว่าในการพิจารณา คชก.ได้สั่งให้อัคราฯปรับปรุงรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อนำเสนอให้ คชก. สผ.พิจารณาอีกครั้ง ขณะนี้อัคราฯ จึงอยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม เมื่อผ่านการพิจารณาของ คชก. สผ.แล้วจึงจะส่งให้ กพร.พิจารณาอนุญาตต่อไป”

Advertisment

สำหรับคดีเหมืองทองอัครา หรือเหมืองแร่ชาตรี ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ย้อนไปจุดเริ่มต้นเกิดจากการร้องเรียนของชาวบ้านพื้นที่รอบเหมืองหลายครั้ง ถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม การพบสารปนเปื้อนของโลหะหนักในแหล่งน้ำ ฝุ่นควัน เสียงระเบิดเหมือง และบ่อเก็บกากแร่ที่มีการรั่วซึม ซึ่งคาดว่าจะทำให้สารไซยาไนด์รั่วไหลสู่ชุมชน

ส่งผลให้วันที่ 13 ธันวาคม 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 72/2559 ระงับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของชาวบ้านโดยรอบ จากคำสั่งดังกล่าวของรัฐบาล ทำให้เหมืองทองอัคราได้ถูกยุติการประกอบกิจการนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป

บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด บริษัทแม่ของอัคราฯ จึงฟ้องร้องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดเชยค่าเสียหายหลายหมื่นล้านบาท การต่อสู้ได้ดำเนินเรื่อยมาด้วยการเปิดทางให้ทั้ง 2 ฝ่ายเจรจาข้อยุติร่วมกัน ในระหว่างนั้น กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ปรับปรุงหมายใหม่เป็น พ.ร.บ.แร่ ฉบับปี 2560

ส่งให้ให้อัคราฯ ที่ได้ดำเนินตามกฎหมายจนถูกต้องทั้งหมดตามขั้นตอน ได้กลับมาประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำอีกครั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2566

Advertisment