มิถุนายน 67 เร่งส่งมอบข้าวขึ้นเรือ ดันยอดพุ่ง 8 แสนตัน

rice

ผู้ส่งออกข้าว คาดเดือนมิถุนายน 2567 ปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ที่ประมาณ 800,000 ตัน จากต้องเร่งส่งมอบ ส่วน 5 เดือนแรกของปี มีปริมาณ 4,057,711 ตัน มูลค่า 94,641 ล้านบาท

วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า สมาคมคาดว่าในเดือนมิถุนายน 2567 ปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ที่ประมาณ 800,000 ตัน เนื่องจากมีข้าวบางส่วนที่รอส่งมอบขึ้นเรือใหญ่ที่ตกค้างมาจากเดือนก่อน ประกอบกับผู้ส่งออกยังคงมีสัญญาที่ต้องเร่งส่งมอบพอสมควร

โดยเฉพาะในกลุ่มของข้าวขาวซึ่งมีทั้ง ข้าวตามสัญญาแบบรัฐต่อรัฐให้แก่อินโดนีเซีย และสัญญาของภาคเอกชนที่ส่งไปยังตลาดหลัก เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น รวมทั้งตลาดหลักในภูมิภาคแอฟริกา เช่น โมซัมบิก แองโกลา แคเมอรูน ตะวันออกกลาง เช่น อิรัก รวมทั้งตลาดในแถบอเมริกา เช่น เม็กซิโก บราซิล เป็นต้น ขณะที่ตลาดนำเข้าข้าวหอมมะลิที่สำคัญยังคงมีการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งในภูมิภาคอเมริกา เช่น สหรัฐ แคนาดา และภูมิภาคเอเชีย เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ จีน รวมทั้งตลาดยุโรป เช่น ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จากการที่ราคาข้าวของไทยในช่วงนี้อยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศคู่แข่งมาก โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งกำลังเสนอขายข้าวในราคาที่ต่ำลงจากการที่มีผลผลิตฤดูใหม่ (Summer-Autumn Crop) ออกสู่ตลาด จึงให้ไทยสูญเสียตลาดข้าวขาวบางส่วน เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เป็นต้น

ทั้งนี้ ราคาข้าวขาว 5% ของไทย ณ วันที่ 26 มิถุนายน 2567 อยู่ที่ 603 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม และปากีสถานอยู่ที่ 560-565 และ 575-580 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตามลำดับ ส่วนราคาข้าวนึ่งไทยอยู่ที่ 606 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่ข้าวนึ่งอินเดียและปากีสถานอยู่ที่ 540-545 และ 590-594 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตามลำดับ ซึ่งจากภาวะดังกล่าวคาดว่าจะทำให้การส่งออกข้าวของไทยในช่วงไตรมาส 3 ลดลงจากช่วงไตรมาส 1 และ 2 ของปีนี้

Advertisment

ขณะที่การส่งออกข้าวในเดือนพฤษภาคม 2567 มีปริมาณ 659,566 ตัน มูลค่า 16,124 ล้านบาท โดยปริมาณลดลง 29.3% และมูลค่าลดลง 26% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2567 ที่มีการส่งออกมีปริมาณ 933,559 ตัน มูลค่า 21,787 ล้านบาท เนื่องจากในเดือนพฤษภาคม 2567 การส่งออกในกลุ่มของข้าวขาว และข้าวนึ่ง มีปริมาณลดลงจากเดือนก่อน

เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยจากการที่มีฝนตกลงมาเกือบทุกวันจึงทำให้การขนถ่ายสินค้าขึ้นเรือทำได้ไม่เต็มที่และต้องล่าช้ากว่ากำหนด ส่งผลให้การส่งออกข้าวขาวมีปริมาณเพียง 407,608 ตัน ลดลง 88% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่งไปยังตลาดหลัก เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อิรัก ญี่ปุ่น แองโกลา มาเลเซีย แคเมอรูน โมซัมบิก เป็นต้น

ขณะที่การส่งออกนึ่งมีปริมาณเพียง 49,693 ตัน เพิ่มขึ้นถึง 70.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่งไปยังตลาดหลัก เช่น แอฟริกาใต้ เบนิน เป็นต้น ส่วนการส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) มีปริมาณ 109,218 ตัน เพิ่มขึ้น 7.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยยังคงส่งไปยังตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง แคนาดา สิงคโปร์ จีน ออสเตรเลีย เป็นต้น

จากข้อมูลของกรมศุลกากรการส่งออกข้าวช่วง 5 เดือนแรกของปี (มกราคม-พฤษภาคม 2567) มีปริมาณ 4,057,711 ตัน มูลค่า 94,641 ล้านบาท (2,659.5 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยปริมาณเพิ่มขึ้น 16.5% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 46.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2566 ที่ส่งออกปริมาณ 3,483,069 ตัน มูลค่า 64,573 ล้านบาท (1,903.6 ล้านเหรียญสหรัฐ)

Advertisment