สุชาติ แนะเกษตรกร ผู้ประกอบการโคนม นำนวัตกรรม เพิ่มมูลค่า ใช้ FTA ส่งออก

โคนม

“สุชาติ” รมช.พาณิชย์ ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการนมโคแปรรูป จังหวัดนครราชสีมา แนะผู้ประกอบการเร่งใช้ประโยชน์จาก FTA ขยายตลาดส่งออก และเตรียมความพร้อมกลุ่มเป้าหมายเข้าสู่การเปิดเสรีสินค้านมและผลิตภัณฑ์ ภายใต้ FTA ไทย-ออสเตรเลีย และ FTA ไทย-นิวซีแลนด์ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2568

วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรนอกสถานที่ ณ จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2567 ว่าตนได้มาเยี่ยมชม บริษัท แดรี่โฮม วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด และบริษัท แมรี่ แอน แดรี่ โปรดักส์ จำกัด และได้พูดคุยกับเกษตรกรและผู้ประกอบการนมโคแปรรูปเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์การค้าและแนวทางการส่งออกสินค้านมโคแปรรูป

โดยใช้ประโยชน์จาก FTA รวมถึงเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการรับมือกับการเปิดเสรีทางการค้าสำหรับสินค้านมและผลิตภัณฑ์ ภายในปี 2568 ภายใต้ FTA ไทย-ออสเตรเลีย และ FTA ไทย-นิวซีแลนด์ รวมถึงหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องการเร่งใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อยกระดับการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างความแตกต่าง ทำให้สินค้าสามารถแข่งขันได้อีกทั้งเน้นการเพิ่มตลาดภายในประเทศ โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์เพื่อกระตุ้นคนไทยบริโภคนมเพิ่มขึ้น และขยายการส่งออกนมแบรนด์ไทยในตลาดต่างประเทศ

นายสุชาติกล่าวว่า “บริษัท แดรี่โฮม วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด และบริษัท แมรี่ แอน แดรี่ โปรดักส์ จำกัด ทั้ง 2 บริษัท เป็นผู้ประกอบการนมรายใหญ่และทำธุรกิจโมเดลเศรษฐกิจ SDG เน้นการรักษ์สิ่งแวดล้อม
โดยเฉพาะการเลี้ยงโคนมแบบออร์แกนิกและลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

Advertisment

โดยบริษัท แดรี่โฮม วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เป็นผู้ผลิตนมที่ใช้นวัตกรรมและเน้นจุดเด่นเรื่องนมออร์แกนิก เช่น นมพาสเจอไรซ์ bed time ที่ช่วยให้หลับง่าย โยเกิร์ตออร์แกนิก และนมอัดเม็ดเสริมโปรไบโอติกป้องกันฟันผุ วางจำหน่ายสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และตลาดออนไลน์ทั่วประเทศ

สำหรับบริษัท แมรี่ แอน แดรี่ โปรดักส์ จำกัด เป็นผู้ผลิตนมโคแปรรูปที่มีการใช้นวัตกรรม เช่น นมพาสเจอไรส์ที่มีความพิเศษใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มตีฟองได้มากและให้รสนุ่ม นม UHT แลกโตสฟรี นม A2+ มีโครงสร้างโปรตีนคล้ายนมแม่ ทำให้ย่อยง่าย และโยเกิร์ตพร้อมดื่ม โดยมีจุดเด่นด้านการปลูกหญ้าและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เองทำให้ลดต้นทุนการทำธุรกิจ อีกทั้งรับจ้างผลิตนมแบรนด์ต่าง ๆ วางจำหน่ายสินค้าทั่วประเทศและตลาดออนไลน์

โดยทั้ง 2 บริษัทเป็นผู้ประกอบการเครือข่ายของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่เข้าร่วมโครงการ “โคนมไทยก้าวไกล ส่งออกได้ด้วย FTA” ที่กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้จัดโครงการตั้งแต่ปี 2561-2567 ติดต่อกัน 6 ปี และโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างมาก ได้ช่วยพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรสหกรณ์โคนม

Advertisment

และผู้ประกอบการโคแปรรูปให้สามารถใช้ประโยชน์จาก FTA เพิ่มตลาดส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์ในตลาดการค้าเสรีคือ อาเซียนและจีน มีมูลค่าส่งออกผ่านการดำเนินโครงการไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท รวมถึงสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ด้านยุทธศาสตร์การสร้างความสามารถในการแข่งขันที่เน้นการพัฒนาผู้ประกอบการเป็นผู้ส่งออก

จากการเข้าร่วมโครงการโคนมของกรม ทั้ง 2 บริษัท สามารถใช้ FTA และส่งออกไปตลาดการค้าเสรี คือ บริษัท แดรี่โฮม วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด สามารถส่งออกโยเกิร์ตออร์แกนิกไปตลาดสิงคโปร์ นมพาสเจอไรซ์ไปกัมพูชาและนมอัดเม็ดไปตลาดฮ่องกง ส่วนบริษัท แมรี่ แอน แดรี่ โปรดักส์ จำกัด สามารถส่งออกนมพาสเจอไรซ์ไปตลาดกัมพูชา มาเลเซีย และ สปป.ลาว รวมถึงพร้อมเข้าสู่การเปิดเสรีทางการค้าที่จะเกิดขึ้น

“การลงพื้นที่ครั้งนี้ ผมขอชื่นชมผู้ประกอบการ ที่ทำการค้าที่นอกกรอบ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์นมที่คุณภาพดี มีความน่าสนใจผ่านนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ และเป็นไปตามเทรนด์ของผู้บริโภค ซึ่งสิ่งนี้คือสิ่งที่เราจะแข่งขันได้ในตลาดโลก การเปิดโอกาสทางตลาดก็มีส่วนสำคัญ และขอชื่นชมกระทรวงพาณิชย์ ที่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่มีความเก่ง ใส่ใจพี่น้องประชาชนและผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่มีความรู้ความแม่นยำ ตั้งใจทำงาน

วันนี้ผมมาในฐานะตัวกลาง ระหว่างกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงต่าง ๆ ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ ให้ผ่านพ้นปัญหาอุปสรรคไปได้ และทำให้ FTA ต่าง ๆ ที่กระทรวงพาณิชย์ได้ทำมีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและประชาชนสูงสุด“ นายสุชาติกล่าว

นางสาวบุณิกา แจ่มใส รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า “โครงการ ‘โคนมไทยก้าวไกล ส่งออกได้ด้วย FTA’ เป็นโครงการที่เราได้ฟูมฟักมาเป็นเวลากว่า 6 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกร สหกรณ์โคนม และผู้ประกอบการนมโคแปรรูป เข้าสู่การเปิดเสรีทางการค้าสำหรับสินค้านมและผลิตภัณฑ์ และรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

โดยเฉพาะ FTA ไทย-ออสเตรเลีย และ FTA ไทย-นิวซีแลนด์ที่ไทยผูกพันเปิดเสรีทางการค้าของ ในสินค้า 3 รายการ ได้แก่ น้ำนมดิบ นมผงขาดมันเนย และเครื่องดื่มประเภทนม/นม UHT ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548

โดยโครงการนี้สืบเนื่องจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้เปิดเสรีทางการค้ากับประเทศต่าง ๆ ทั้งหมด 14 ฉบับ 15 ประเทศ เพื่อเป็นการสร้างแต้มต่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย ในการที่จะส่งออกไปประเทศที่เรามี FTA ด้วย โครงการพัฒนาผู้ประกอบการดังกล่าว เราได้คัดเลือกบริษัท เข้ามาติดอาวุธ โดยการอบรมให้ความรู้ ด้านกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศในการขายสินค้า ไปยังประเทศต่าง ๆ ที่เรามี FTA ด้วย และสอนให้รู้จักการตลาดทางออนไลน์และออฟไลน์ ให้ผู้ประกอบการก้าวทันการแข่งขัน เขตการค้าเสรีที่จะเกิดขึ้นในโลกอนาคตต่อไป

นอกจากนี้เรายังได้คัดเลือกผู้ประกอบการไทย นำไปเปิดโลกทัศน์ ปรับตัว ให้ทำอย่างไรให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค ในประเทศที่เราจำหน่าย ซึ่งโครงการของกรม ได้ทำให้ 80% ของผลิตภัณฑ์นม ส่งไปอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม กัมพูชา ลาว รองลงมาคือจีน ที่เป็นที่ทราบอยู่แล้วว่าชอบนมจากประเทศไทย โดยเฉพาะนมอัดเม็ดรสชาติต่าง ๆ ที่เราปรับเปลี่ยนให้ตรงกับพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้เห็นว่า 6 ปีที่ผ่านมา ทำให้เราสามารถขยายการส่งออกไปยังประเทศที่เรามี FTA โดยใช้การตลาดทางออนไลน์และออฟไลน์ โดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ใช้การตลาดออนไลน์และ TAOBAO ในการจำหน่ายสินค้า ทำให้เป็นที่รู้จัก