“พาณิชย์” ชี้ช่องลงทุนในแอฟริกาใต้ หลังรายใหญ่เข้ามาลงทุนเพิ่ม

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สำรวจภาวะการลงทุนตลาดแอฟริกาใต้ พบบริษัทข้ามชาติหลายรายทยอยถอนตัวออกจากตลาด แต่มีรายใหญ่เข้ามาลงทุนเพิ่มทั้ง Amazon, Volkswagen และ BP Group แนะผู้ประกอบการไทยศึกษาตลาด และหาโอกาสเข้าไปลงทุนเหตุยังมีโอกาสสูง

วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเปิดเผยว่า ล่าสุดได้รับรายงานจากนางวิชุดา อัครเมธาทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพริทอเรีย แอฟริกาใต้ ถึงธุรกิจข้ามชาติในตลาดแอฟริกาใต้ที่ทยอยออกจากตลาด และโอกาสในการเข้าไปลงทุนของผู้ประกอบการไทย

โดยทูตพาณิชย์ได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันธุรกิจข้ามชาติบางราย ได้ออกจากตลาดแอฟริกาใต้ หรือมีแผนจะออกจากแอฟริกาใต้ อาทิ ธนาคาร BNP Paribas (ธนาคารสัญชาติฝรั่งเศส ขนาดใหญ่อันดับ 6 ของโลก ได้เปิดให้บริการให้แอฟริกาใต้เมื่อปี 2555) ได้ประกาศเมื่อเดือนมีนาคม 2567 ว่าหยุดให้บริการในแอฟริกาใต้ โดยจะให้มุ่งให้ความสนใจตลาดยุโรปและเอเชียแทนตลาดแอฟริกา Anglo-American (บริษัทเหมืองแร่รายใหญ่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน) ประกาศว่า ปี 2567 มีแผนที่จะขายธุรกิจเพชร De Beers เพื่อปกป้องบริษัทจากการถูกเทกโอเวอร์โดย BHP ซึ่งเป็นคู่แข่งรายใหญ่ที่สำคัญด้านธุรกิจเหมืองแร่

เนื่องจากขณะนี้ธุรกิจเพชรกำลังเผชิญปัญหาจากยอดลดลง เหตุจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ประกอบกับผู้บริโภคเริ่มหันไปเลือกซื้อเพชรจากห้องทดลอง (Lab Diamonds) แทนเพชรแท้ EL AL Airline (สายการบินแห่งอิสราเอล) ได้ยุติบริการในแอฟริกาใต้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567

เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างแอฟริกาใต้และอิสราเอล โดยสายการบินได้หยุดเที่ยวบินระหว่างเทลอาวีฟ อิสราเอลและโจฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้ (2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์) หลังจากที่แอฟริกาใต้ได้ยื่นฟ้องศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice : ICJ) ประเด็นอิสราเอลฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในฉนวนกาซา

Advertisment

นอกจากนี้ ยังมี Shell (ธุรกิจน้ำมันรายใหญ่ มีปั๊มน้ำมัน 600 แห่งในแอฟริกาใต้) มีแผนที่จะขายหุ้น
Shell Downstream South Africa ภายในปี 2567 เนื่องจากจะไปดำเนินธุรกิจต้นน้ำ (ธุรกิจสำรวจและผลิตน้ำมัน) Anglo Gold Ashanti (บริษัทเหมืองแร่รายใหญ่) ได้ขายสินทรัพย์ในแอฟริกาใต้เมื่อปี 2563 แล้วย้ายที่ตั้งของบริษัทจากแอฟริกาใต้ไปที่สหราชอาณาจักร และหุ้นในตลาดหลักทรัพย์โจฮันเนสเบิร์กได้ย้ายไปยังตลาดหุ้นนิวยอร์ก

เมื่อปี 2566 Fitbit (บริษัทลูกของ Google) ได้ยกเลิกการจำหน่ายสินค้าในแอฟริกาใต้เมื่อปี 2566 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของบริษัท Google BP (บริษัทน้ำมันและแก๊ส มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ลอนดอน) ได้หยุดดำเนินธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับการบินในแอฟริกาใต้

เมื่อปี 2566 เนื่องจากเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ทางธุรกิจ Barclays (ธนาคารรายใหญ่จาก UK) ได้ออกจากตลาดแอฟริกาใต้เมื่อปี 2565 หลังจากขายหุ้นที่เหลือทั้งหมดให้แก่ Absa (ธนาคารรายใหญ่ในแอฟริกาใต้) เนื่องจากภาวะวิกฤตด้านการเงิน Chevron (บริษัทน้ำมันรายใหญ่ แบรนด์ Caltex) ได้ออกจากตลาดแอฟริกาใต้เมื่อปี 2561 โดย Glencore (บริษัทเหมืองแร่รายใหญ่ของแอฟริกาใต้) ได้ซื้อสินทรัพย์ของ Chevron ในแอฟริกาใต้ ขณะนี้ Caltex อยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแบรนด์เป็น Astron Energy (Glencore เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่)

และ GM (ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ อาทิ แบรนด์ GMC และ Chevrolet) ได้ประกาศในปี 2560 ว่าจะออกจากแอฟริกาใต้เนื่องจากการปรับโครงสร้างภายใน ต่อมา Isuzu ได้เทกโอเวอร์ GM ในแอฟริกาใต้แล้ว

Advertisment

อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทข้ามชาติระหว่างประเทศรายใหญ่ได้โบกมือลาแอฟริกาใต้ด้วยเหตุผลต่าง ๆ
แต่พบว่าแอฟริกาใต้ยังคงดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ อาทิ เมื่อเร็ว ๆ นี้ Amazon มีแผนจะลงทุนในแอฟริกาใต้มูลค่า 30 พันล้านแรนด์ (ประมาณ 59.4 พันล้านบาท) ในช่วง 10 ปีข้างหน้า

ขณะนี้ Amazon ได้ลงทุนสร้างสำนักงานที่เคปทาวน์ มูลค่า 4.5 ล้านแรนด์ (ประมาณ 8.91 ล้านบาท) และได้เปิดตัว www.amazon.co.za ที่แอฟริกาใต้แล้ว และเมื่อเดือนเมษายน 2567 Volkswagen ได้ประกาศแผนการลงทุนมูลค่า 4 พันล้านแรนด์ (ประมาณ 7.92 พันล้านบาท) ที่โรงงานในจังหวัดอีสเทิร์นเคป เพื่อผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ ที่จะผลิตสู่ตลาดในปี 2570 ในขณะที่ BP Group แอฟริกาใต้ ได้ประกาศทิศทางการดำเนินธุรกิจในโอกาสก่อตั้งที่แอฟริกาใต้ครบ 100 ปี เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 ว่าจะเพิ่มจำนวนสาขาปั๊มน้ำมันและยกระดับการบริการ

“ปัจจุบันแอฟริกาใต้ยังดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยมีปัจจัยสนับสนุน อาทิ การบริการทางการเงินและการสื่อสารระดับโลก ระบบกฎหมายที่โปร่งใส ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีจุดเด่นทางภูมิศาสตร์โดยแอฟริกาใต้เป็นประตูการค้าสู่ประเทศอื่น ๆ ในทวีปแอฟริกาตอนใต้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ตลาดแอฟริกาใต้ยังเป็นโอกาสต่อนักลงทุนต่างชาติสำหรับบางธุรกิจ แม้ว่ายังคงมีความท้าทายจากหลายปัจจัย และยังเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยที่จะเข้าไปทำตลาดและขยายตลาดในแอฟริกาใต้” นายภูสิตกล่าว