เปิดแผนเจรจา FTA ครึ่งหลัง เร่งสรุปผลไทย-EFTA ภายในปี 67

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เดินหน้าทำงานครึ่งหลังปี 2567 เร่งสรุปผลการ เจรจา FTA ไทย-EFTA ภายในปีนี้ ลุยเจรจากับ EU เกาหลีใต้ ภูฏาน และอาเซียน-แคนาดา ดันเจรจาอัปเกรดความตกลง เตรียมแผนสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับ UK และ EAEU กรุยทางจัดทำเอฟทีเอในอนาคต พร้อมใช้เวที JTC ถกแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้า ชี้ช่องผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์ FTA ขยายโอกาสการค้าและการลงทุน 

วันที่ 29 มิถุนายน 2567 นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงแผนการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) และการประชุมระหว่างประเทศ ในช่วงครึ่งหลังปี 2567 ว่า กรมได้มุ่งการเจรจาเชิงรุกเพื่อเร่งรัดหาข้อสรุป FTA ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA)

และผลักดัน FTA ที่อยู่ระหว่างการเจรจา อาทิ ไทย-สหภาพยุโรป (EU) อาเซียน-แคนาดา และ FTA 2 ฉบับใหม่ คือ ไทย-เกาหลีใต้ และไทย-ภูฏาน รวมทั้งผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จาก FTA เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลและรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายภูมิธรรม เวชยชัย) ที่ให้ความสำคัญกับการเจรจาจัดทำ FTA เพื่อเปิดประตูสู่ตลาดใหม่ๆ และขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนของไทยในตลาดโลก

นางสาวโชติมา เพิ่มเติมว่า กรมได้เร่งเดินหน้าการเจรจา FTA ไทย-EFTA โดยตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาให้ได้ภายในปี 2567 ซึ่งหากเป็นไปตามเป้าหมายจะถือเป็น FTA ฉบับแรกที่ไทยทำกับประเทศในทวีปยุโรป ส่วนการเจรจา FTA ไทย-EU และอาเซียน-แคนาดา กรมได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด เพื่อผลักดันให้การเจรจามีความคืบหน้าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไทย โดยจะมีการหารือ FTA ทั้งสองฉบับนี้อย่างเข้มข้น เพื่อเร่งหาข้อสรุปร่วมกันให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ สำหรับการเจรจา FTA กับกลุ่มประเทศ EU และ EFTA ถือว่ามีความท้าทายมาก เนื่องจากมีประเด็นใหม่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน แต่หากสามารถสรุปผลการเจรจาได้จะเป็นโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยที่จะขยายการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศยุโรปได้มากขึ้น

Advertisment

นอกจากนี้ ไทยยังผลักดันการเจรจายกระดับความตกลงที่มีอยู่เดิม เพื่อให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับรูปแบบการค้าในปัจจุบัน และช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทย อาทิ ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) อาเซียน-จีน อาเซียน-อินเดีย และไทย-เปรู รวมทั้งอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์

ซึ่งได้เจรจายกระดับเสร็จแล้ว ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมี FTA 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ สำหรับ FTA ฉบับที่ 15 ของไทย คือ FTA ไทย-ศรีลังกา ได้ลงนามความตกลงไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 และคาดว่าจะมีผลใช้บังคับภายในปีนี้

นางสาวโชติมา เสริมว่า ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ กรมยังมีแผนใช้เวทีการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) กับประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ มาเลเซีย บังกลาเทศ และจีน เพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้า และกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งไทยยังมีแผนจะหารือกับสหราชอาณาจักร (UK) และสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) เพื่อจัดทำความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะนำไปสู่การจัดทำ FTA ร่วมกันในอนาคต

สำหรับในช่วง 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค. 2567) การค้าของไทยกับ 18 ประเทศคู่ค้า FTA มีมูลค่า 145.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.1  โดยไทยส่งออกไปประเทศคู่ค้า FTA มูลค่า 70.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.4 และไทยนำเข้าจากประเทศคู่ค้า FTA มูลค่า 74.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 2.0 สินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ

Advertisment

รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของไทย อาทิ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ  เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และแผงวงจรไฟฟ้า

FTA ของไทย