ยกเครื่องโคนมไทย-เดนมาร์ค รับมือลดภาษี ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ 1 ม.ค. 68 เป็น 0%

กรมเจรจาฯ ชูต้นแบบเกษตรกร ‘สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ห้วยสัตว์ใหญ่’ เติมนวัตกรรมนมไทย ส่งนมเม็ดรสทุเรียนทุเรียนหมอนทองป่าละอู เปิดตลาดส่งออกสร้างแต้มต่อทางการค้า และเตรียม พร้อมรับการเปิดเสรีสินค้านมและผลิตภัณฑ์ 1 มกราคม 2568 ลดภาษีนำเข้านมและผลิตภัณฑ์จากออสเตรเลีย – นิวซีแลนด์ เป็น 0%

วันที่ 29 มิถุนายน 2567 นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผย ในโอกาสลงพื้นที่พบหารือเกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์ พร้อมเยี่ยมชมกระบวนการผลิตนมอัดเม็ดและนมพาสเจอร์ไรส์ ณ สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัดจ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นเครือข่ายที่เข้าร่วม โครงการ  “โคนมไทยก้าวไกล ขยายตลาดส่งออกได้ด้วย FTA”

“กรมได้ติดอาวุธความรู้เรื่องความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA การค้าระหว่างประเทศ กลยุทธ์การทำตลาดแบบออนไลน์และออฟไลน์ การเขียนแผนธุรกิจ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ ให้พร้อม สำหรับการลดภาษีนำเข้าสินค้านมและผลิตภัณฑ์ภายใต้กรอบความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA)และไทย-นิวซีแลนด์ ที่จะลดภาษีเป็น 0% และปลอดโควต้าในวันที่ 1 มกราคม 2568 เพื่อ ส่งเสริมเกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ FTA เป็นเครื่องมือสร้างแต้มต่อทางการค้า ขยายการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ”

ทั้งนี้ สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัด เป็นสหกรณ์หนึ่งใน 4 สหกรณ์ ที่ได้เข้าร่วมโครงการ  “โคนมไทยก้าวไกล ขยายตลาดส่งออกได้ด้วย FTA” อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน จนสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์นมโดยใช้นวัตกรรมต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้มีรายได้มากกว่า 350 ล้านบาทต่อปี

Advertisment

และยังมีแผนที่จะต่อยอดในการผลิตผลิตภัณฑ์นม เช่น นมเม็ดรสทุเรียนทุเรียนหมอนทองป่าละอู ขยายตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์นมไปยังหลากประเทศในอาเซียน เช่น เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ รวมถึงจีน และต่อยอดนมสเตอริไล สำหรับใช้เป็นส่วนผสมของการชงกาแฟสดซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ได้อีก 1-2 เท่า

“สหกรณ์สามารถรวบรวมน้ำนมดิบได้ 18 ตันต่อวันจากโคนมของสมาชิกทั้งหมด 3,247 ตัว และบริการตรวจคุณภาพน้ำนม รวมทั้งเป็นสหกรณ์ที่มีเครื่อง Spray Dryer 1 ใน 3 ของประเทศ ที่ใช้น้ำนมดิบของเกษตรกรในพื้นที่มาผลิตเป็นนมผงและนมอัดเม็ด มีศักยภาพในการผลิต 1 ตันต่อวัน”

อีกทั้งสหกรณ์ยังมีโรงงานผลิตอาหารสัตว์ให้กับสมาชิก ทำให้ช่วยลดต้นทุนในการเลี้ยงโคนม สร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกและประชาชนในชุมชน นอกจากนี้ กรมยังได้ลงพื้นที่ ควาลิตี้ไทม์ฟาร์มสเตย์เป็นแหล่งปลูกทุเรียนหลายสายพันธุ์ อาทิ หมอนทอง พวงมณี เป็นต้น โดยเฉพาะทุเรียนหมอนทองป่าละอูที่ได้ขึ้นทะเบียนสินค้า GI และมีเอกลักษณ์โดดเด่นคือ มีรสหวาน เนื้อหนาเนียนละเอียด สีเหลืองอ่อน เนื้อแห้งมีความมันมากกว่าความหวาน กลิ่นไม่รุนแรง ทำให้เป็นที่ชื่นชอบของคนไทยและชาวต่างชาติ

Advertisment

นอกจากนี้ โครงการนี้ยังได้ส่งเสริมเกษตรกรสหกรณ์โคนมวาริชภูมิสกลนคร สหกรณ์โคนมพัทลุง และองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ศ.ค.) สหกรณ์แห่งนี้มีศูนย์รับน้ำนมดิบทั้งในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดเพชรบุรี

นางสาวโชติมา เพิ่มเติมว่า ในอนาคตกลุ่มเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะมีการขยายการเจรจาเพื่อเปิดตลาดผลักดันการส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์ไปยังความตกลง FTA อื่นที่อยู่ระหว่างการเจรจาเช่น ไทย-ศรีลังกา เพื่อจะได้มีส่วนช่วยผลักดันให้เกษตรกรไทยสามารถผลิตและส่งออกสินค้าเพิ่มมูลค่าได้มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้FTA ไทย-ออสเตรเลีย และ FTA ไทย-นิวซีแลนด์ มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2548 และไทยผูกพันเปิดเสรีสำหรับสินค้านมและผลิตภัณฑ์ให้กับประเทศคู่ค้า 2 ประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2548 ที่ผ่านมา เกษตรกร สหกรณ์โคนม และผู้ประกอบการนมโคแปรรูปได้เตรียมตัวเข้าสู่ตลาดการค้าเสรี อีกทั้งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ตระหนักถึงความจำเป็นของการเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกร สหกรณ์โคนม และผู้ประกอบการนมโคแปรรูป ใช้ประโยชน์จาก FTA เป็นเครื่องมือขยายตลาดส่งออก และรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดการเปิดการค้าเสรี

ดังนั้น ตั้งแต่ปี2561 กรมได้ดำเนินโครงการ “โคนมไทยก้าวไกล ขยายตลาดส่งออกได้ด้วย FTA” เร่งผู้ประกอบการใช้ FTA และเข้าถึงโอกาสทางการค้าในตลาดประเทศคู่ FTA ทั้งจีน สิงคโปร์ และกัมพูชา โดยกรมจัดโครงการโคนมอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2567 เป็นระยะเวลากว่า 6 ปี ซึ่งการดำเนินโครงการได้รับผลตอบรับที่ดีและประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม เป็นโครงการต้นแบบที่กรมพัฒนาศักยภาพของกลุ่มเป้าหมาย ผู้ประกอบการได้ยกระดับการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพและมาตรฐาน และใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีต่อยอดผลิตภัณฑ์ สร้างความแตกต่างและเพิ่มมูลค่า

เช่น นมอัดเม็ดเสริมโปรไบโอติกส์ป้องกันฟันผุ นมอัดเม็ดพลัสแคลเซียม นมพาสเจอร์ไรส์ช่วยให้หลับง่าย นม UHT แลกโตสฟรี เป็นต้น และการทำธุรกิจนมโดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เช่น ออร์แกนิกโยเกิร์ตแดรี่โฮมและนม UHT mMilk มีมูลค่าส่งออกนมโคแปรรูปภายใต้โครงการกว่า 300 ล้านบาท และพัฒนาผู้ประกอบการเป็นผู้ส่งออกที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)

ดังนั้น กรมมั่นใจว่า จากการเตรียมตัวรองรับการเปิดเสรีทางการค้าสำหรับสินค้านมและผลิตภัณฑ์ตลอด 20 ปีและการจัดโครงการเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการกว่า 6 ปีที่ผ่านมา วันนี้เกษตรกร สหกรณ์โคนม และผู้ประกอบการพร้อมใช้ประโยชน์จาก FTA และเข้าสู่ตลาดการค้าเสรี นมแบรนด์ไทยแข่งขันได้ในตลาดโลก

ด้าน นายประจักษ์ มีลิ ผู้จัดการสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัด กล่าวว่า
เกษตรกรก็มีความกังวลว่าผลจากการเปิดเสรี fta จะทำให้ผลิตภัณฑ์นมของประเทศไทยอาจจะแข่งขันได้ลำบากเนื่องจากไทยยังมีต้นทุนการผลิตที่สูง เมื่อนำน้ำนมดิบมาแปรรูปเป็นนมผงจะมีต้นทุนสูงถึง 220 บาทต่อกิโลกรัมเทียบกับราคานมผงนำเข้าจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์อยู่ที่ 150-170 บาท ต่างกว่ากันกิโลละเกือบ 100 บาท

ทางเกษตรกรจึงได้ร่วมกับทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศในการยกเครื่อง พัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และนำนวัตกรรมมาต่อยอดผลิตภัณฑ์ โดยก่อนหน้านี้ได้นำระบบการผลิตนมอัดเม็ดโดยแปรรูปเป็นนมอัดเม็ดรสทุเรียนเพื่อส่งออกและจำหน่ายไปยังประเทศต่างๆในอาเซียนและในจีน

ล่าสุดในปีนี้สหกรณ์ได้เตรียมขยายการลงทุนโดยอาศัยงบประมาณจากสถาบันการเงินและโครงการนาแปลงใหญ่วงเงิน 3-5 ล้านบาทเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์นมสเตอริไลส์สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการชงกาแฟสด ซึ่งจะเป็นการต่อยอดจากการรวบรวมรับซื้อผลิตภัณฑ์นมจากเกษตรกร เพราะผลิตภัณฑ์นี้จะมีจุดเด่นคือสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานถึง 6 เดือน ซึ่งจะทำให้ร้านกาแฟสามารถเก็บสต๊อกนมได้นานกว่าการใช้นมสดแบบพาสเจอร์ไรส์ที่เก็บได้เพียง 7 วัน ซึ่งหลังจากดำเนินการแล้วเสร็จอาจจะส่งให้กับร้านกาแฟโดยขณะนี้ได้มีการไปเจรจาเพื่อขอจำหน่ายเข้าร้านกาแฟชื่อดังหลายแบรนด์เช่น cafe Amazon อินทนิลและ Milk Land

” ปัจจุบันสหกรณ์ได้รับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกร 18 ตันต่อวัน โดยแบ่งเป็นใช้สำหรับการแปรรูป 6 ตันต่อวันและส่งขายเป็นน้ำนมดิบ 12 ตันต่อวันให้กับ โครงการสวนจิตรลดาโครงการชั่งหัวมันอสคและนครแดรี่ โดยรับซื้ออยู่ที่ระดับราคา ตามเกรดของปริมาณเนื้อนม ตั้งแต่ระดับ 21.50- 22 .25 บาท/กก. สตางค์ต่อกิโลกรัม ทำให้เกษตรกรมีรายได้รายละ 15,000 ถึง 4 หมื่นบาทต่อเดือนต่อคน”

นายประมาณ เกตุสิงห์ ประธานกรรมการสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัด เปิดเผยว่าคณะกรรมการ สมาคมชุดที่ 33 ซึ่งมีวาระจนถึงปี 2568 นั้น มีสมาชิกทั้งเป็นสมาชิกสมทบและสมาชิกสามัญอยู่ 99 ฟาร์ม โดยสมาชิกสามัญต้องได้รับการอบรม ให้ความรู้ในการพัฒนาการเลี้ยงโค และในทุกวันที่ 10 ของเดือนจะมีการประชุมซึ่งหากสมาชิกคนใดเข้าร่วมประชุมก็จะมีสิทธิ์ได้รับราคาน้ำนมเพิ่มขึ้น 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม

” ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีอายุมากขึ้นเรื่อยๆโดยความที่เข้าร่วมสหกรณ์ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงขณะนี้เจ้าของฟาร์มมีอายุสูงสุด 70 ปีเตรียมจะส่งผ่านให้กับทายาทรุ่นที่ 2 หากมีการส่งเสริมเกษตรกรในการลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าก็จะช่วยต่อยอดให้อาชีพนี้คงอยู่ได้”

ด้านนายวิชิต จาดสี ที่ปรึกษาสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัด เปิดเผยว่า แม้ว่าจะมีการปรับขึ้นราคารับซื้อน้ำนมดิบจาก 19 บาทเป็น 22 .25 บาทต่อกิโลกรัมแต่หากเทียบกับต้นทุนของเกษตรกรซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 18 บาทต่อกิโลกรัมก็ถือว่าเกษตรกรได้กำไรประมาณกิโลกรัมละ 4-5 บาท แต่สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลสำหรับขนส่งปรับสูงขึ้นและราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ก็ปรับสูงขึ้น เกษตรกรมีภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น