ส.อ.ท.ร่างแผนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เสนอนายกฯเศรษฐา “อย.” ขอถกด่วน

เครื่องมือแพทย์

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เตรียมร่างแผนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ภายใน 1 เดือน เสนอนายกฯ เศรษฐา ต้องแก้อุปสรรคทั้งการจัดซื้อ ห้องทดลอง เข้าบัญชีบัตรทอง ใช้ของผลิตจากไทย เปิดทางผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์หนีตายจาก EV ทางรอดมูฟสู่ผู้ผลิตชิ้นส่วนการแพทย์ ล่าสุด “อย.” ขอถกด่วน

วันที่ 29 พฤษภาคม 2567 นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  กล่าวว่า ส.อ.ท. ได้จัดตั้ง Cluster of  FTI Future Mobility-ONE หรือ CFM-ONE เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของยานยนต์สมัยใหม่กว่า 14 กลุ่มอุตสาหกรรม

เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และพลังงานทางเลือกอื่นๆ ซึ่งคาดกันว่าจะส่งผลให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ทั้ง Supply Chain ต้องปรับตัว โดยส่วนหนึ่งสามารถปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์

แต่ประเด็นสำคัญ คือ นอกเหนือจากที่ธุรกิจต้องหาแนวทางในการปรับเปลี่ยนธุรกิจแล้ว ภาครัฐจะต้องมีบทบาทสำคัญในการรองรับการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว รวมถึงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในทุกมิติ ทั้งการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิต การพัฒนามาตรฐาน การวิจัยและนวัตกรรม การส่งเสริมการใช้สินค้าเครื่องมือแพทย์ในประเทศ และการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ

ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมพร้อมกับรองรับอุตสาหกรรมอื่นๆ และสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมไทย

Advertisment

ดังนั้น ภายในระยะเวลา 1 เดือนนี้ ส.อ.ท. จะเร่งสรุปข้อเสนอ แนวทาง สิ่งที่เอกชนต้องการต่อ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เช่น การปลดล็อคกฎหมาย กฎระเบียบ การจัดซื้อจัดจ้าง การนำงานนวัตกรรมออกมาใช้ มาตรการทางด้านภาษีสำหรับการนำวัตถุดิบเข้ามาผลิตในประเทศเหลือ 0% รวมถึงการสนับสนุนให้นำสินค้าที่ผลิตในประเทศ มาใช้เพื่อทดลองกับโรงพยาบาลรัฐ และจดทะเบียนไว้ในบัญชีบัตรทอง เป็นต้น ล่าสุดทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตรียมหารือเรื่องดังกล่าวเร็วๆ นี้

นางสาวยุพิน บุญศิริจันทร์ ประธาน Cluster of FTI Future Mobility-ONE และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ยอมรับว่า EV คือความท้าทายของอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รถสันดาปภายใน มีการคาดการณ์ว่าตั้งแต่ปี 2573 (ค.ศ. 2030) จะมีการขายยานยนต์ประเภทสันดาปภายในลดลง โดยเฉพาะในประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา

สิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมและปรับตัว คือ  ไทยต้องรักษาและต่อยอดความเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก อีกส่วนคือการปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนสมัยใหม่อย่าง EV ให้ได้ เช่น การผลิตสินค้าที่ยังอยู่ในเชนเดิมแต่ป้อนให้กับ ระบบราง เครื่องมือแพทย์

นายสุพจน์ สุขพิศาล เลขาธิการ Cluster of FTI Future Mobility-ONE และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทย กำลังถูกดิปรัปชั่นจากการเข้ามาของรถยนต์ EV ซึ่งมันเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ที่ถูกกำหนดด้วยการปรับตัว รายใดที่ปรับตัวไม่ได้แน่นอนว่าจะต้องปิดกิจการ แต่เพื่อรักษาธุรกิจ การจ้างงาน

Advertisment

พร้อมทั้งการยกระดับการผลิต และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต หรือในบางธุรกิจที่ไม่สามารถไปต่อกับอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ ยังสามารถพัฒนาได้ไปสู่อุตสาหกรรมอื่น เช่น การเข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์มากขึ้น โดยผลิตสินค้าที่มีความเสี่ยงทางการแพทย์ไม่สูงมากนัก

โดยภาครัฐจะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่าน ผลักดันให้มีการกำหนดสัดส่วนการใช้ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ หรือออกนโยบายสนับสนุนการซื้อหรือผลิตเพื่อให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนสามารถเข้าสู่ supply chain ของอุตสาหกรรมอื่นในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐหรือเอกชนมากขึ้น

นายจารุเดช คุณะดิลก รองประธาน Cluster of FTI Future Mobility-ONE และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ จะสร้างความร่วมมือกับกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ ยานยนต์ ในการหาผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ที่มีความเป็นไปได้ มาผลิตหรือดัดแปลง จากชิ้นส่วนยานยนต์

โดยหาแนวทางการสนับสนุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานสำหรับการผลิตเครื่องมือแพทย์

ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ยังมีข้อจำกัดหลายประการ อาทิ องค์ความรู้ว่าด้วยมาตรฐานทางการแพทย์ เทคโนโลยีการผลิต กระบวนการคิดค้นเครื่องมือแพทย์เพื่อออกสู่ตลาดที่มีความซับซ้อน อัตราภาษีนำเข้าเครื่องมือแพทย์สำเร็จรูปที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ในประเทศที่นำเข้าวัตถุดิบมาผลิตไม่สามารถแข่งขันได้

อีกทั้งยังขาดนโยบายการสนับสนุนให้โรงพยาบาลใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ที่ผลิตจากการวิจัยและการพัฒนาภายในประเทศ รวมถึงมาตรฐานและข้อกำหนดของเครื่องมือแพทย์จากภาครัฐที่มีความหลากหลายและแตกต่างกันในแต่ละลำดับชั้นของเวชภัณฑ์ที่จำแนกตามระดับความเสี่ยงในการใช้งาน

ดังนั้น ภาครัฐจะต้องเข้ามาสนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม คือการใช้เครื่องมือแพทย์ที่ผลิตโดยคนไทยให้ได้ก่อนเป็นลำดับแรก การสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งานเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตในประเทศให้แก่ผู้ใช้งานตามสถานพยาบาล ที่ผ่านกระบวนการการรับรองหรือขึ้นทะเบียนกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)”

ส.อ.ท.ร่างแผนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เสนอนายกฯเศรษฐา “อย.” ขอถกด่วน

ส.อ.ท.ร่างแผนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เสนอนายกฯเศรษฐา “อย.” ขอถกด่วน