Gulf ลั่น พร้อมลงทุนพลังงานหมุนเวียน รับ PDP ใหม่ กางแผน 5 ปี 9 หมื่นล้าน

รัฐพล ชื่นสมจิตต์
รัฐพล ชื่นสมจิตต์
สัมภาษณ์พิเศษ 

Gulf ลั่นพร้อมลงทุนพลังงานหมุนเวียนรับ PDP ใหม่ กางแผน 5 ปี ทุ่ม 9 หมื่นล้าน หลังประเมิน “ค่าพีกไฟฟ้า” แตะ 40,000 MW แล้ว สำรองไฟหดเหลือ 7-8% – สมาร์ดกริดต้องเพิ่ม

วันที่ 29 มิถุนายน 2567 เมื่อเร็วๆนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “นายรัฐพล ชื่นสมจิตต์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ซึ่งคนในวงการเรียกขานว่าเป็นมือขวาของ “สารัชถ์ รัตนาวะดี” ถึงมุมมองด้านพลังงาน และแผนการลงทุนธุรกิจด้านพลังงานของ GULF

แนวโน้มค่าไฟงวด 3 (ก.ย.-ธ.ค.)

แนวโน้มค่าไฟฟ้างวด 3 มองว่าน่าจะทรงตัว เพราะว่าตอนนี้ค่าก๊าซธรรมชาติลดลง แต่ก็ยังต้องคืน แต่ต้องมีการนำเงินส่วนหนึ่งนำไปคืนให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประมาณ 30 สตางค์ต่อหน่วย ต่อเนื่องอีก 2 ปี ถึงราว เดือนเมษายน 2569 หรือประมาณ 7 งวด ซึ่งกฟผ.ช่วยประชาชน

มองแผน PDP 2024 เพิ่ม RE 50% อย่างไร

GULF มีนโยบายส่งเสริมแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) 2024 เพราะเป็นเรื่องที่ประเทศไทยไปรับปากกับนานาชาติในการประชุม COP26 ว่าเราจะต้องลดสัดส่วนในการปล่อยคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2030, 2050,2065 ตามลำดับ โดยระดับการลดก็จะต่างกันไปในแต่ละปี ซึ่งถ้าจะไปถึงจุดนั้นไทยต้องเพิ่มโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable หรือ RE ) จำนวนเยอะ ซึ่งเราพร้อมที่จะลงทุนตามนโยบายของภาครัฐเต็มที่ เชื่อว่าคงจะพร้อมเช่นเดียวกับเอกชนหลายๆราย รวมถึงภาครัฐด้วย

ใน PDP ใหม่มีการเพิ่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) ด้วย มองอย่างไร

กรณีที่จะมีการเพิ่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) นั้น เรายังไม่ได้มีการศึกษา แต่มองว่าเรื่องนี้คงจะเป็นการลงทุนโดยภาครัฐก่อน เพราะอาจจะโดนต่อต้านเยอะ ซึ่งเมื่อเวลารัฐทำเองจะสามารถเลื่อนกำหนด COD ได้ หรือ Financial growth อย่างไรก็ปรับได้หมด แต่ถ้าเป็นเอกชนไปลงทุน หากทำไม่ทันตามกำหนดหรือติดไฟแนนเชียลไม่ตรงตามกำหนดกฎเกณฑ์ โดนปรับหมดทุกอย่าง ทีนี้ถ้าเป็นโครงการนิวเคลียร์ เราไม่รู้จะคุมชุมชนอย่างไรก็อาจจะมีโดนปรับดีเลย์ ฉะนั้นต้องให้รัฐลองทำไปก่อน

Advertisment

“ถ้าภาครัฐจะลองทำ SMR เราก็ไม่ได้ขัดข้อง ก็คงต้องไปดูว่าต่างชาติเค้าทำกันหรือไม่ เท่าที่เห็นก็จะมีแต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ ส่วนโรงนิวเคลียร์เล็กๆ ที่มีทำคล้ายๆ เรือดำน้ำ ที่อเมริกา ทำใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เยอะก็ใช้มา 40-50 ปีแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ไม่เคยเอามาใช้เป็นโรงไฟฟ้า ทำให้คนมีความกังวลเยอะ เห็นด้วยกับทางท่านนายกรัฐมนตรีที่ว่าควรจะนำเรื่องนี้มาทำประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ควรทยอยทำ ผมคิดว่าภาครัฐก็คงเห็นว่าไม่มีเคสประเทศอื่นทำให้เป็นตัวอย่างเยอะสักเท่าไร แล้วอยู่ดีๆ เราจะมาทำเป็นประเทศต้นๆ ของโลกมันก็ทำให้เข้าใจทางกระทรวงว่าสื่อสารอย่างไร ซึ่งตอนนี้รีนิวเอเบิ้ลก็ถือว่าตอบโจทย์ที่สุดทำได้จริง”

เมื่อเพิ่ม RE เยอะจะมีผลต่อความมั่นคงหรือไม่ หรือมองว่าไทยมีสำรองไฟเพียงพอ

“จริงๆ เดิมเราคิดว่าเรามีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve margin) เยอะ แต่จริงๆ มันไม่ได้เยอะ เพราะความต้องการใช้ไฟฟ้าเติบโตขึ้นมากกว่า PDP เล่มเก่า ซึ่งเดิมประเมินไว้ที 36,000 เมกะวัตต์ (MW)ถ้าไปดูเล่มเก่ามันไม่ถึง คนที่บอกว่ารีเสิร์ฟสูง ความต้องการใช้ไฟไม่ถึง คงต้องไปเรียกมาถามว่า เค้าวิเคราะห์ว่าสูงอย่างมากนั้นมันจริงหรือเปล่า”

“การจัดเตรียมแผน PDP ฉบับใหม่ ผมว่าเค้าเพิ่มสัดส่วน RE ไว้ถูกต้องเหมาะสม เพราะคงดูปัจจัยประกอบหลายตัว เช่น ตัวเลขไฟฟ้าสำรองที่มองว่าล้น เพราะคนชอบเอาตัวเลขอินสตอร์ไปหารค่าพีก (คิดตามตำรา) ซึ่งความเป็นจริงเราต้องดูช่วงเวลาที่เขาผลิตด้วยว่าตอนที่เขาผลิต และที่ตอนนี้ว่าค่าพีกย้ายมาอยู่ตอนกลางคืน

ซึ่งเอาจริงๆ ค่าพีกค่าไฟฟ้าของไทยไม่เคยอยู่กลางคืนมาก่อน ค่าพีกของไทยอยู่กลางวันมาตลอด ยังต้องบอกว่าความเป็นจริงตอนนี้พีกก็ยังอยู่กลางวัน เพียงแต่ที่ไม่เห็นค่าพีก เพราะว่าเราไปติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปผลิตไฟใช้เอง นั่นจึงทำให้เห็นว่า ค่าพีกไปเป็นกลางคืน สูงถึง 36,000 เมกะวัตต์ ผมเชื่อว่าถ้าไม่มีโซลาร์รูฟท็อป พีกกลางวันน่าจะมีถึง 40,000 เมกกะวัตต์ไปเรียบร้อยแล้ว เพราะมีโซลาร์รูฟท็อปผลิตไฟมาใช้จึงทำให้ไม่เห็นค่าพีกเกิดในตอนกลางวัน ”

Advertisment

เมื่อค่าไฟพีก 36,000 เมกะวัตต์ และในตอนกลางคืนการผลิตไฟฟ้าโซลาร์ทำไม่ได้ และฤดูแล้ง ซึ่งเป็นช่วงที่ค่าไฟพีกเกิดในเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2567 ก็เป็นช่วงที่การผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนไม่สามารถทำได้เต็มที่

ฉะนั้น ไฟฟ้าสำรองไม่ได้เหลือเฟืออย่างที่ว่ากัน ที่มองว่าสำรอง 30% ตัวเลขนั้นเลิกใช้ได้แล้ว เพราะเชื่อว่าตอนกลางไฟฟ้าสำรองหล่นไปเหลือ 7-8% เพียงแต่ว่ามันไม่ได้มีการมาพูดกัน ตอนนี้ไทด์มากตอนกลางคืนนับว่าน่ากังวล คนส่วนใหญ่ที่คิดและพูดตัวเลขไม่ได้เข้าใจธุรกิจ ก็ใช้วิธีเอาตัวเลขเมกะวัตต์ไปหาร แล้วก็บอกว่าเยอะ คิดเหมือนเข้าใจ แต่ความเป็นจริงไม่ได้เข้าใจ”

อย่างไรก็ตาม ปีนี้ผ่านไปแล้วจะต้องรอปีหน้า ปีหน้าก็น่าจะแก้ไขปัญหาได้ เพราะจะการผลิตไฟฟ้าพลังงานโซลาร์ร่วมกับแบตเตอรี่ (BESS) มาช่วยหนุนการจัดเก็บพลังงาน ส่วนพลังงานลม 400 MW แม้อาจจะไม่ทันในปีหน้า และยังมีโรงไฟฟ้าหินกอง 2 ที่จะเข้า และมีโรงไฟฟ้า 5,000 MW เข้า ปี 2568 ก็น่าจะอยู่ได้

การทำ PDP ปรับใช้ดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (Loss of Load Expectation : LOLE) แทน Reserve Margin เหมาะสมหรือไม่

การใช้หลักการดัชนีไฟดับหรือ LOLE มาใช้ในการพิจารณจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือ PDP ฉบับใหม่นี้นับว่าถูกต้อง เพราะว่า LOLE จะพิจารณาเจเนอเรเตอร์แต่ละประเภท ว่าผลิตได้จริงหรือไม่จริง อันนี้จะถูกต้อง

แผนพลังงานมีพูดถึงการลงทุนเรื่องสมาร์ดกริด มองโอกาสหารลงทุนอย่างไร

สมาร์ดกริดเป็นการลงทุนที่ตอบโจทย์เรื่อง RE เพราะถ้าจะให้มีพลังงานนี้เยอะขึ้นจะต้องพัฒนาระบบส่ง ทั้งส่งไฟสูงและส่งไฟต่ำ เพราะไม่อย่างนั้นสายส่งจะรับไม่ได้ ซึ่งจะทำให้ประเทศไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องสมาร์ทกริดได้ ฉะนั้น การลงทุนเรื่องกริดก็เป็นสิ่งสำคัญที่สุดต้องเป็นการลงทุนโดยรัฐ ก็เข้าใจว่าภาครัฐอาจต้องการให้มีการระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) เข้ามาช่วยด้วย

“เรื่องระบบกริดด้วย เราก็ยินดี ถ้าภาครัฐเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนไปมีส่วนร่วม (พาทิซิเพส) เรายินดีแน่นอน เราพร้อมลงทุนทุกเรื่องของพลังงานทั้งหมด เพราะว่าเราก็ทำธุรกิจนี้อยู่แล้ว”

ความสนใจในโครงการรับซื้อไฟ RE รอบ 2 อีก 3,000 เมกะวัตต์

เราก็คาดหวังจะทำเต็มที่ อยากได้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ แต่ว่าก็ขึ้นอยู่กับข้อเสนอที่เรายื่นไปเทียบกับข้อเสนอของรายอื่นๆ เราก็ยังมีความเชื่อมั่นจะได้รับการพิจารณาได้ไม่น้อยไปกว่าเดิม ในรอบก่อนรวม 5,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเราทำได้ประมาณ 2,000-3,000 เมกะวัตต์

ความคืบหน้าในการ COD โครงการรับซื้อไฟ RE รอบแรก 5,000 เมกะวัตต์

เราได้ลงนามสัญญา PPA โครงการโซลาร์กับโซลาร์บวกแบตเตอรี่ไปหมดแล้ว จะเหลือเพียงโครงการไฟฟ้าพลังงานลม ขนาด 400 เมกะวัตต์ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง ซึ่งทางเรารอว่าหากเมื่อไรศาลยกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ก็จะเข้าไปเซ็น PPA และก่อสร้าง คาดการณ์ว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี

ส่วนโครงการโซลาร์และโซลาร์บวกแบตเตอรี่ที่ PPA ไปแล้วนั้น คาดว่าในปลายปี 2567 นี้จะมีการทยอยขายไฟเข้าสู่ระบบ (COD) ทั้งหมด 5 โครงการ กำลังการผลิต 500 เมกะวัตต์ โดยจนถึงขณะนี้การก่อสร้างความคืบหน้าไปประมาณ 50% แล้ว เป็นไปตามแผน จากนั้นก็จะทยอยสร้างโครงการต่อไปเลย

“การเตรียมพร้อมตอนนี้ เราซื้อของหมดแล้วไม่ว่าจะเป็นแผงโซลาร์ แบตเตอรี่ อินเวอร์เตอร์ ซื้อหมดแล้ว และกำหนดวันดำเนินการเรียบร้อย ส่วนวินด์เทอร์บายของโครงการลมเราก็เจรจากับโรงงานพร้อมหมด รอเพียงแต่ศาลยกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ก็จะได้รีบดำเนินการต่อ ส่วนของเราเจรจาไว้แล้วเพียงแต่ยังไม่เซ็นสัญญา รอความชัดเจนเรื่องศาลก่อน”

ภาพรวมรายได้ หลัง COD เป็นอย่างไร

รายได้สำหรับ 5 โครงการที่จะ COD ปลายปีนี้จะทำให้มีรายได้กลับมาสู่เราในปี 2568 เป็นต้นไป โดยคาดว่าประมาณ 5 ปี ก็จะทยอยเข้าจนครบ

ความคืบหน้ากระบวนการทางศาลของโครงการลม

ทางบริษัทไม่ได้ทำอะไรเพียงแต่รอ เพราะทางศาลให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปให้ข้อมูลกับศาล ซึ่งเท่าที่ทราบก็มีสัญญานที่ดี เพราะเดิมศาลท่านมีคำสั่งคุ้มครอง 2 เคส ซึ่งในเคสที่ 1ศาลปกครองสูงสุดประกาศยกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไปเรียบร้อยแล้ว เหลือเคสที่ 2 ซึ่งเนื้อหา เราก็เข้าใจว่าใกล้กัน ฉะนั้น โอกาสที่จะยกความคุ้มครอง เป็นไปเยอะมาก เพราะถ้าไม่มีเคส 1 เราก็จะไม่มีข้อมูล ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับศาลท่าน ทางเราไม่ก้าวล่วง

แผนการลงทุนภาพรวมธุรกิจไฟฟ้า GULF ในปี 67

การลงทุนของแผนธุรกิจไฟฟ้า GULF ยังเป็นไปตามแผนการลงทุน 5 ปี ซึ่งกำหนดไว้ 90,000 ล้านบาท โดยในปี 2567 กำหนดไว้ 20,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ภาพรวมของเม็ดเงินลงทุน 5 ปีนั้น จะแบ่งสัดส่วนเป็นการลงทุนโรงไฟฟ้า RE สัดส่วน 80% คิดเป็นประมาณ 75,000 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในประเทศไทยทั้งหมด ส่วนการลงทุนในต่างประเทศนั้นจะดูเป็นรายเคส หากมีโอกาสในอนาคตก็น่าจะมีเพิ่มเติม

ส่วนที่เหลือ 20% หรือประมาณ 15,000 ล้านบาท จะเป็นการลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานทั้ง LNG Terminal , Data Center ก็อยู่ในแผนนี้ รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แต่ก็ยังเรียกได้ว่าสัดส่วนงบลงทุน 85-90% ยังเป็นการลงทุนเรื่องพลังงานเป็นหลัก

เป้าหมายแผนลงทุน 5 ปี เพิ่มสัดส่วน RE สู่ 36% ปี 2033

ทั้งนี้ ปัจจุบัน กำลังการผลิตไฟฟ้าที่ COD แล้วอยู่ที่ 14,000 เมกะวัตต์ จากทั้งพอร์ตที่คอมมิชประมาณ 23,000 เมกะวัตต์

ซึ่งบริษัทมีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนพอร์ตพลังงาน RE 8% แต่ต่อไปจะเพิ่มเป็น 36% ในปี 2033 ซึ่งคำว่า RE เรารวมถึงไฟฟ้าจากเขื่อนที่สปป.ลาวด้วย ประมาณ 2-3 โครงการ ประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ จากวินด์ และโซลาร์

“เวลา GULF ทำธุรกิจจะมองถึงอนาคต 20-30 ปีข้างหน้า เทรนด์มันเปลี่ยนไปแล้ว เราจึงต้องขยายไปสู่คลาวด์และ AI ไม่อย่างนั้นก็จะแพ้ประเทศอื่น ที่เขาใช้ AI ในการวางแผนกลยุทธ์ อย่างถูกต้อง ไม่อย่างนั้นหากวางแผนผิดจะทำให้เสียทั้งเวลาและงบประมาณแต่หากเราทำ AI มีการศึกษาถูกต้องจะทำให้วางแผนประเทศได้ตอบโจทย์มากกว่า”