มุ่งสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต

factory

แม้ว่าข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรณ วันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้รายงานสถิติในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค. 2567) จำนวนโรงงานอุตสาหกรรมที่ปิดกิจการจะมี “น้อยกว่า” จำนวนโรงงานอุตสาหกรรมที่เปิดกิจการใหม่ กล่าวคือ โรงงานปิดกิจการมีจำนวน 488 โรงงาน แต่โรงงานที่เปิดใหม่มีจำนวน 848 โรงงาน หรือจำนวนโรงงานเปิดใหม่สูงกว่าโรงงานปิดคิดเป็นร้อยละ 74 ก็ตาม ทว่าหากพิจารณาข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ ม.ค. 2565-มิ.ย. 2567 ก็จะพบว่า เพียง 2 ปีกว่า ๆ มีโรงงานปิดกิจการไปแล้วถึง 3,418 แห่ง ซึ่งจัดเป็นตัวเลขการปิดกิจการที่สูงมาก

การปิดกิจการของโรงงานอุตสาหกรรมพบว่า 3 อันดับแรกเป็นโรงงานในกลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ (อาทิ PCB), กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ (โครงสร้างเหล็ก) และ กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก (อาทิ ชิ้นส่วนพลาสติก) ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมที่เปิดใหม่ 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร (อาทิ อาหารสัตว์สำเร็จรูป), กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี (อาทิ ปุ๋ยเคมี) และกลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ (อาทิ PCB)

สำหรับสาเหตุสำคัญที่โรงงานอุตสาหกรรมปิดกิจการลงในปี 2567 ทางกระทรวงอุตสาหกรรมเชื่อว่าเป็นผลมาจากคำสั่งซื้อที่ลดลง เนื่องจากสินค้าที่ผลิตส่วนใหญ่เป็นสินค้าทั่วไป มีการแข่งขันด้านราคากันสูง มีสินค้าจากต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่าเข้ามาตีตลาด การส่งออกของประเทศลดลง และการย้ายโรงงานไปเปิดในประเทศคู่แข่ง ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เชื่อว่าเป็นเพราะราคาสินค้าที่ตกต่ำลง ซึ่งเป็นผลมาจากสงครามทางการค้า การถูกสินค้าจีนแย่งตลาดส่งออกสินค้าไทยความสามารถในการแข่งขันลดลงในสินค้าบางประเภท เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาอยู่ในที่ระดับ 98.34 หรือหดตัว 1.54% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยยังไม่ฟื้นตัว แถมยังส่งสัญญาณเตือนภัยด้วยว่า อุตสาหกรรมยังชะลอตัวด้วย

โดยมีข้อน่าสังเกตจากภาคเอกชนเข้ามาว่า ทั้งโรงงานที่ปิดกิจการและโรงงานที่เปิดใหม่ ส่วนใหญ่เป็นโรงงานในอุตสาหกรรมเดิม ๆ ที่ในอดีตเคยสร้างรายได้เป็นจำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นแผงวงจร โรงงานเหล็กขั้นกลางและขั้นปลาย โรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป และโรงงานอุตสาหกรรมการเกษตรขั้นต้น

Advertisment

จึงควรที่รัฐบาลจะต้องออกชุดนโยบายส่งเสริมภาคการผลิตและดึงดูดการลงทุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้ปรับโครงสร้างไปสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ New S-curve อย่างจริงจังและต้องทำทันที ไม่ว่าจะเป็นชิปขั้นสูง ไบโอเทคโนโลยี รถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน EV อุตสาหกรรมสีเขียว อาหารอนาคต Data Center & Cloud เพื่อผลักดันให้ประเทศพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางให้ได้