พลังงานสะอาดรับนักลงทุน กกพ.เทียบฟอร์ม UGT-Direct PPA

พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์
พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์
สัมภาษณ์

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสรับฟังการแถลงนโยบายของ “นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ โดยได้ฉายภาพแนวทางการทำงานในยุคที่นักลงทุนมูฟออนเร็วและไทยต้องเตรียมพร้อม “พลังงานสะอาด” หรือ พลังงานหมุนเวียน (RE) รองรับเทรนด์การลงทุน นับว่าเป็นโจทย์สำคัญของ กกพ.

“เราอยู่ในยุคที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่นักลงทุนมอง หน้าที่เราตอนนี้ จะทำอย่างไรให้มีความน่าสนใจและมีแรงดึงดูดให้เพียงพอ ในยุคที่ผ่านมาต้องชื่นชมผู้กำหนดนโยบายให้ไทยเติบโตผ่านยุคโชติช่วงชัชวาล ค้นพบปิโตรเคมี เป็นกลจักรสำคัญในการมูฟเศรษฐกิจ แต่จากนี้ไปเครื่องจักรสำคัญที่เราจะใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจล้วนแต่มาจากการสร้างขึ้นโดยการกำหนดนโยบาย และการวางแผนในการกำกับดูแลที่จะต้องเข้าใจถึงบริบทการลงทุนในอนาคตด้วย”

ทิศทางนักลงทุนถามหา RE

ในอนาคตจะมีการเคลื่อนย้ายทุนที่รวดเร็วมหาศาล ตอนนี้เราจึงเห็นภาพนักลงทุนต่าง ๆ มาเซอร์เวย์ ต่อรองราคา และหาพื้นที่สำหรับรองรับการลงทุน ซึ่งการพิจารณาตัดสินใจลงทุนไม่ใช่พิจารณาเพียงผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) เพียงอย่างเดียว แต่นักลงทุนยุคนี้ต้องตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ด้วยว่า สิ่งที่เขาต้องการคือพลังงานสะอาดจะมีเพียงพอหรือไม่

ส่วนสิ่งที่เราต้องมองนั้นมีทั้งประชาชน การประกอบธุรกิจ และการลงทุนที่จะต้องมาจากภายนอก ตอบโจทย์กับโลกยุคใหม่ Energy Transition

“การลงทุนโดยตรง หรือ FDI ที่จะเข้ามา สิ่งหนึ่งที่จะต้องตอบโจทย์เขาคือ เรื่องพลังงานสะอาด หากถามว่าตัวอย่างเรามีในยุคที่ผ่านมา คือ อเมซอน เว็บ เซอร์วิส ก็สนใจจะมาตั้ง Data Center ที่ไทย และผมเชื่อว่าพลังงานสะอาดจะเป็นพื้นฐานสำคัญในเรื่องการผลิตต่าง ๆ ตอนนี้เห็นทิศทางที่นักลงทุนติดต่อเข้ามาเพิ่มขึ้น และการสะท้อนผ่านมาทางคณะกรรมการบีโอไอ ว่าอยากเห็นภาคพลังงานเตรียมความพร้อมเรื่องพลังงานสะอาด เราจึงเตรียมทั้ง UGT แพลตฟอร์มรองรับนักลงทุนที่ต้องการพลังงานสีเขียว”

Advertisment

แนวทางกำกับดูแล Direct PPA

ส่วนระบบ Direct PPA หรือการซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้าและผู้ใช้ไฟฟ้านั้นก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ทำ เราไม่ได้ทำเรื่องนี้เพราะเป็นเรื่องใหม่ ในองค์กรของเราได้มีการศึกษามาในระดับหนึ่งแล้ว แต่สิ่งที่จะนำไปสู่การออกแบบแนวทางในการกำกับดูแลจะต้องอาศัยความชัดเจนเชิงนโยบาย ตามมติ กพช.ก่อนจะมาวางแผนและกำกับดูแล ในรูปแบบที่ถูกต้องและเพียงพอ

สิ่งที่เรกูเลเตอร์จะดำเนินต่อหลัง กพช.ไฟเขียว จะเป็นเรื่องทางเทคนิคอล เรื่อง PPA Code เรื่อง Thrid Party Access ซึ่งได้ศึกษามาระดับหนึ่งแล้ว แต่เมื่อ กพช.ได้ข้อสรุป เราจะต้องทำงานร่วมกับการไฟฟ้าฯ เพื่อให้คนหนึ่งสามารถขายไฟฟ้าไปให้อีกคนหนึ่ง นั่นคือ PPA Code ส่วนเรื่องที่ 2 คือ เรื่องอัตราค่าใช้จ่าย คือ ค่าผ่านสายส่ง (Wheeling Charge) จะคำนวณอย่างไร

นอกจากนี้อาจจะต้องพูดคุยกับคนที่อยู่รอบพื้นที่โรงไฟฟ้าว่าจะมีผลกระทบอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง โดยแนวทางกำกับดูแลจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ความมั่นคง และต้องคำนึงถึงผู้ใช้ไฟฟ้าในระบบด้วย

“การทำ Direct PPA เป็นอีกแนวทางหนึ่ง ที่เรายังต้องคำนึงถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับสายส่งด้วย ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับสายส่งไม่ใช่เฉพาะการไฟฟ้าฯ แต่มีประชาชนด้วย การที่ประชาชนที่เคยช่วยลงทุนในสายส่งหรือแม้กระทั่งเวนคืนที่ดินรอบ ๆ มันมีต้นทุนที่ต้องแบกรับอยู่ ดังนั้น หากวันหนึ่งมีคนที่จะเข้ามาใช้สายส่งนี้ จะต้องทำอย่างไรที่จะทำให้ต้นทุนเหล่านี้ถูกใช้อย่างเหมาะสมและแฟร์กับเขาด้วย”

Advertisment

Direct PPA ทันปีนี้

ตามกรอบนโยบายต้องเร่งให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะดำเนินการให้ได้ภายในปี 2567 ดังนั้น เบื้องต้นจะทำในสเกลที่เราสามารถจะดูแลได้ก่อน คือ 2,000 เมกะวัตต์ เมื่อสามารถทำได้แล้วจึงค่อยขยายสเกลเพิ่มขึ้นในอนาคต

“การจะทำให้ทันปีนี้ตามที่นักลงทุนคาดหวัง ต้องดูทั้งสเกล โลเกชั่น (สถานที่) และความพร้อมของสายส่ง เป็นตัวแปรที่ต้องใช้พิจารณา ที่พูดถึงสายส่งก็มีความเป็นไปได้ว่าจะดูเป็นโซน ๆ ว่าโซนไหนที่มีความพร้อมเปิดได้ จุดไหนที่ยังไม่มีความพร้อมอาจจะเปิดไม่ได้ แน่นอนว่าวันนี้ในนิคมเป็นพื้นที่จำกัดที่ดูแลง่ายที่สุด แต่ก็ต้องมาดูว่า Source เป็นอย่างไร สายส่งที่สร้างแล้วได้มาตรฐาน และสามารถรองรับไฟที่ต้องการได้ขนาดนั้นหรือไม่ เพราะนักลงทุนต้องการไฟฟ้าตลอดเวลา ก็ต้องมีโมเดลที่แบ็กอัพให้เขา”

เทียบ UGT หรือ Direct PPA

สำหรับ อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว หรือ Utility Green Tariff (UGT) เป็นการที่ผู้ผลิตไฟขายไฟให้กับการไฟฟ้าฯ แล้วการไฟฟ้าฯเป็นผู้ดูแลระบบว่าผู้ใช้จะมีไฟฟ้าสีเขียวจริง มั่นใจได้ว่ามีใบรับรองการผลิตพลังงานสะอาด (Renewable Energy Certificate : REC) ส่งไปให้ผู้ที่ต้องการใช้ในราคาค่าไฟที่คงที่

ส่วน Direct PPA อาจจะขึ้นอยู่กับ Capacity ของพื้นที่ในเขตนั้นที่จะมีการตั้งโรงไฟฟ้า ตอนนี้ยังค่อนข้างจะมีโมเดลหลาย ๆ โมเดลมีความซับซ้อน ที่บอกว่ามีหลากหลายโมเดลที่ต้องคุย เช่น ผู้ผลิตผลิตให้หมดเลย สายเดินเอง ใช้กริดเป็นตัวแบ็กอัพ (สำรองไฟ) แต่ก็มีคำถามว่ากริดจะต้องสแตนด์บายอีกเท่าไร สำหรับเวลาที่เกิดชอร์ตเทจขึ้นในระบบ ตรงนี้มีต้นทุนในการหล่อเลี้ยงระบบซึ่งกันและกัน

Direct PPA พูดง่าย ๆ คือ คุณต้องรับประกันความเสี่ยงที่จะต้องดูแลความมั่นคงด้วย ถ้าหากว่าต้นทางกับปลายทางเป็นเจ้าของเดียวกัน หากเจรจาว่าจะมีการใช้สายส่ง ความเสี่ยงตรงนั้นจะต้องมีการบวกเพิ่มเข้ามาในระบบ สิ่งที่จะต้องดูแลคือ ความสามารถที่มีอยู่ในระดับ และ Avoidability ที่มีอยู่ในระบบ และ 2 มี Ancillary Sevice ต่าง ๆ คือ การมีระบบเสริม ถ้าไฟที่ผลิตจากพลังงานสีเขียวอาจจะไม่เพียงพอกับไฟที่ใช้ปลายทาง ตรงนั้นต้องมีการแอบซอร์บในระบบ การใช้ระบบนี้ยังเป็นสิ่งที่ต้องพูดคุยกันถึงความพร้อมต่อไป

“ถ้าเทียบค่าไฟ 2 แบบ มีทั้งโปรแอนด์คอน UGT คุณจะรู้ว่าค่าไฟฟิกซ์เรตคือเท่าไร และการันตีมีไฟให้ได้ 100% ได้แน่นอนไม่ต้องกลัวไฟตกดับ เพราะการไฟฟ้าฯจะต้องหาไฟมาให้คุณให้ได้ ไฟทุกยูนิตที่ขายให้ ก็ต้องมี REC รับรองว่าเป็นพลังงานสะอาดให้คุณแน่นอน”

ความคืบหน้าเรื่อง UGT

ตอนที่ทำเรื่อง UGT มีเอกชนหลายรายที่ให้ความสนใจเรื่อง UGT ที่จะขายในปีหน้า โดยประเภท UGT1 (พลังงานหมุนเวียนประเภทที่ไม่เจาะจงโรงไฟฟ้า) นั้น กกพ.เห็นชอบค่าไฟแล้ว (บวกเพิ่ม 6 สต./หน่วย) และให้การไฟฟ้าฯไปประกาศให้มีผลบังคับใช้

ส่วน UGT2 กกพ.เห็นชอบในหลักการ และมอบให้การไฟฟ้าฯไปปรับปรุงแก้ไขกติกาตามที่รับฟังความเห็นมาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งการผลิตไฟฟ้า RE บิ๊กลอตที่ได้อนุมัติแล้วจะทยอยขายไฟเข้าระบบต้นปีหน้า จึงจะเร่งรัดให้เสร็จภายในปลายปีนี้ และให้แพลตฟอร์มสามารถใช้ได้ในต้นปีหน้า

UGT ยังไม่ใช่มาตรฐานสากล

UGT มีใบรับรอง REC กำหนดโดย International Renewable Energy Certificate (IREC) ซึ่งเขาจะต้องไปคุยตรงกับตลาดอีกทีหนึ่ง เช่น สหภาพยุโรปเพื่อให้ UGT เป็นที่ยอมรับในตลาดด้วย

“สิ่งที่สภาอุตสาหกรรมฯเป็นกังวลใจ คือ กระบวนการของอียู อาจจะไม่เข้าใจเรื่องนี้ดีพอ ฉะนั้น ต้องใช้ IREC ไปพูดคุยกับอียูเพื่อให้กระบวนการของเราไปต่อ”