ธนินท์ ชี้ไทยเต็มไปด้วยโอกาส เชื่อมั่นรัฐบาลนำประเทศสู่ความก้าวหน้า

ธนินท์ เจียรวนนท์
ธนินท์ เจียรวนนท์

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จํากัด ได้ขึ้นเวทีในงาน THACCA SPLASH-Soft Power Forum 2024 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หัวข้อ “โอกาสประเทศไทยกับความมั่นคงทางอาหาร”

นายธนินท์กล่าวว่า เมืองไทยเต็มไปด้วยโอกาส โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นจังหวะพอดีกับที่พรรคไทยรักไทย (เพื่อไทย) เข้ามาเป็นผู้นำเรื่องเศรษฐกิจ โดยเชื่อมั่นว่ารัฐบาลชุดนี้จะนำเศรษฐกิจไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง และประชาชนอยู่ดีกินดี

เศรษฐกิจของประเทศไทยพื้นฐานคือเกษตรกรรม หากพูดเรื่องเกษตรก็มีทั้งข้าว พืช สวน และสมุนไพร

“ในโลกนี้มีความต้องการสมุนไพรมากขึ้น โดยเฉพาะผมที่ทำเรื่องอาหารแทนยา ประเทศไทยมีสมุนไพรเยอะ แต่ยังไม่ได้พัฒนาและถูกให้ความสนใจ ทางเครือจึงอยากให้รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริม เนื่องจากสมุนไพรต้องปลอดภัย ไม่มียาฆ่าแมลง ตรงนี้คือสิ่งที่ทั่วโลกต้องการ โดยเฉพาะอาหารไทยซึ่งต้องการสมุนไพรหลายชนิดที่เมืองไทยได้ผลิตและมีคุณภาพสูงสุด”

อีกประการหนึ่งคือเรื่อง “ถั่ว” ซึ่งเป็นอาหารโปรตีนที่ใช้เป็นอาหารแทนเนื้อสัตว์ เเม้ว่าเรื่องเซลล์จะทำสำเร็จแล้ว แต่การสร้างอาหารไปเลี้ยงเซลล์นั้นไม่ง่าย เพราะต้นทุนยังสูงมาก ที่ง่ายที่สุดคือต้องผลิตถั่ว ซึ่งประเทศไทยยังละเลย

Advertisment

ถัดมาเป็นเรื่อง “สวน” ทุกวันนี้ประเทศไทยมีทุกสวน ทั้งสวนทุเรียน สวนยาง ประวัติศาสตร์บอกว่า “ชาวไร่จะจนกว่าชาวนา ชาวนาจะจนกว่าชาวสวน”

ฉะนั้น ประเทศไทยต่อจากนี้ไปคือเรื่องทุเรียนกับเรื่องยาง แต่ทุกวันนี้ทุเรียนจะดีกว่ายาง ไม่ใช่แค่ทุเรียนเท่านั้น แต่ยังมีผลไม้อื่น ๆ อีก แต่ทุเรียนจะเป็นผลไม้ที่ดีที่สุด

ถ้าเมืองไทยบริโภคทุเรียนเท่ากับคนมาเลเซีย วันนี้ทุเรียนที่ไทยส่งออกต่างประเทศ คนไทยก็บริโภคจนหมด

อีกทั้งจะเห็นภาพว่าที่ประเทศจีนยังบริโภคทุเรียนน้อยมาก จากจำนวนประชากร 1.4 พันล้านคน ถ้าประชากร 1.4 พันล้านคนหันมาบริโภคทุเรียนจะเกิดอะไรขึ้น นั่นคือทุนเรียนไม่เพียงพอต่อความต้องการแน่นอน

Advertisment

แม้ว่าที่เวียดนาม ลาว กัมพูชา จะปลูก ก็ไม่เพียงพอ

สิ่งที่อยากฝากถึงรัฐบาลคือ นโยบายเรื่อง “พันธุ์” การเกษตรทุกอย่างถ้าจะสำเร็จต้องเริ่มต้นด้วยพันธุ์ การบริหารจัดการ เข้าสู่อุตสาหกรรมแปรรูปเพิ่มมูลค่าที่มีอยู่กว่า 10 ขั้นตอน ซึ่งจะสร้างงานสร้างอาชีพได้อีกมากมาย

ทั้งนี้ ต้องมีการแก้กฎหมายให้เอื้อและสะดวกต่อซอฟต์พาวเวอร์ การส่งเสริมทุเรียนด้านวิชาการอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีเงินสนับสนุนด้วย อาจจะตั้งกองทุน เป็นต้น

เครือซีพีเห็นโอกาส ต่อไปอาหารต้องเป็นแบบสำเร็จรูป และเป็นอาหารแทนยา คนเป็นโรคเบาหวานกินอาหารอย่างไร มีหลายรสชาติ ต้องไม่น่าเบื่อและเป็นประโยชน์ คนที่คอเลสเตอรอลสูง ความดันสูงต้องการอาหารที่เหมาะสมและถูกต้อง

เหล่านี้เต็มไปด้วยโอกาส ฉะนั้น โอกาสประเทศไทยไม่ได้อยู่ที่การปลูกข้าวอย่างเดียว

การปลูกข้าวแม้ใช้น้ำเยอะแต่ต้องปลูก ไทยต้องปลูกข้าวเพื่อเลี้ยงประชาชน และส่วนที่เหลือควรเรื่องสวน ถั่ว ถั่วเหลือง ซึ่งมีมูลค่าสูง จึงถือโอกาสนี้ฝากถึงรัฐบาลสำหรับนโยบายเรื่องตัดต่อยีน

การตัดต่อยีนไม่ได้ทำเพื่อเพิ่มผลผลิต แต่เพื่อลดการใช้ยา เช่น ปลูกถั่วเหลืองต้องใช้ยา 4 ครั้งในระยะเวลาไม่ถึง 4 เดือน ค่ายากับแรงงานไร่หนึ่งประมาณ 1,000 บาท แล้วไทยจะปลูกถั่วเหลืองได้อย่างไร ต้องตัดต่อยีนเพื่อปลูกถั่วเหลืองที่ไม่ต้องใช้ยา

“ฝากรัฐบาลว่าทำอย่างไรที่ออกกฎหมายเพื่อเอื้อการเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยนี้ ต้องเปลี่ยนแปลง”

ธนินท์ เจียรวนนท์ ระบุอีกว่า “น้ำ” ก็เป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่งของประเทศไทย แม้ตำแหน่งที่ตั้งของประเทศไทยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมและน้ำแล้ง แต่สภาพดินฟ้าอากาศเมืองไทยเหมาะสมกับการปลูกพืชผลได้ทั้งปี

ดังนั้น จะบริหารจัดการน้ำอย่างไร น้ำฝนที่ตกลงมาหายไปในอากาศและลงทะเล น้ำ 3 ส่วนหายไป 2 ส่วน ไทยเพียงใช้ 1 ส่วนมาเพาะปลูก ซึ่งมีน้ำท่วม แล้ง และความเสียหาย

แต่ถ้ามีน้ำจากการชลประทานเพียงพอ จะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 5 เท่า แต่ละครั้งถ้ามีน้ำสม่ำเสมออาจทำให้ผลผลิตสูงขึ้นเท่าตัว

เมื่อบริหารจัดการน้ำได้แล้ว ต่อมาคือเรื่องสายพันธุ์ การบริหารการจัดการ การแปรสภาพในอุตสาหกรรม ไปจนถึงโต๊ะอาหาร ถ้าเป็นเช่นนี้จะสร้างรายได้ สร้างงาน สร้างการเก็บภาษีให้กับรัฐบาลได้อีกมาก ไม่ใช่ขายทุเรียนเพียงอย่างเดียว จากประสบการณ์ ทุเรียนที่ตกเกรดอาจแปรสภาพได้ราคาเเพงกว่าที่ขายทุเรียนล้วน

สำหรับข้าว วันนี้ไทยยังไม่ได้วางแผนให้ดี ว่าข้าวต้องไปแปรรูปอะไร ทำเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวก็เพิ่มมูลค่า ไม่ใช่เอาไปเลี้ยงสัตว์ หรือรำที่ผลิตออกมาต้องไปสะกัดน้ำมันก็จะมีมูลค่าสูง โปรตีนสูง เก็บได้นาน เฉพาะเรื่องข้าวก็ยังมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องมาอีกมาก

ในโลกนี้ต่อไปไม่มีใครหุงข้าวแล้ว ต้องเป็นอุตสาหกรรมผลิตเป็นข้าวสุกเลย เหมือนยุโรปที่เอาขนมปังไปย่างหรือกินเย็นก็ได้ เขาอบจากอุตสาหกรรม แนวโน้มข้าวต่อไปจะเป็นอย่างนี้

เฉพาะเรื่องข้าวสามารถต่อยอดอุตสาหกรรม เรื่องโลจิสติกส์ สร้างงาน สร้างภาษีให้รัฐบาลอีกมาก ถ้าไปขายข้าวผ่านโรงสีเท่านี้ไม่พอ

“วันนี้ยุคนี้เราสร้างถนนพอแล้ว แต่เราจะเก็บน้ำได้อย่างไร เราจะใช้น้ำเป็นประโยชน์ได้อย่างไร ต้องทำทั้งกระบวนการ ถ้าลงทุนเรื่องน้ำแต่ไม่ทำท่อน้ำกระจายไปถึงชาวบ้าน เหมือนมีถนนไฮเวย์ แต่ไม่มีถนนเล็กไปตามหมู่บ้านก็เปล่าประโยชน์ ฉะนั้น ลงทุนเรื่องน้ำเป็นการลงทุนที่ดีที่สุด แล้วจะมีกำไรด้วย ยิ่งกว่าขายไฟฟ้าอีก”

ไฟฟ้าเอาไปผลิตอุตสาหกรรม แต่น้ำเอาไปผลิตเกษตร สินค้าเกษตรสำคัญมาก เป็นอาหารของมนุษย์ และประเทศไทยได้เปรียบเรื่องดินฟ้าอากาศ ถ้าประเทศไทยทำสำเร็จ ก็สามารถไปลงทุนกับประเทศที่ดินฟ้าอากาศใกล้เคียงกับประเทศไทยได้ทั่วโลก อย่างแอฟริกายังต้องพัฒนาอีกมาก

เมืองไทยน่าจะเป็นตัวอย่าง เรามีตัวอย่างอย่างอิสราเอล ฮอลแลนด์ เรื่องจัดการน้ำ เเต่น้ำของเราไหลทิ้ง แล้งก็แล้ง ท่วมก็น้ำท่วมมากไป ถ้าจัดให้ไม่แล้งกับไม่ท่วม น้ำที่ใช้เป็นประโยชน์ยังมีเหลือล้น

ถ้าไทยจะทำเรื่องเก็บน้ำ ไม่ใช่ขุดบ่อเล็ก ๆ น่าจะทำเป็นบึงใหญ่เลย บนบึงใช้โซล่าเซลล์ผลิตไฟฟ้าสะอาด ในน้ำเลี้ยงปลา ต้องหาพันธุ์ปลาที่มีมูลค่าสูง ยังไม่พอเท่านั้น น้ำจะส่งไปถึงชาวนาชาวสวนได้อย่างไร นี่เป็นโจทย์ใหญ่

สุดท้ายหากมีครบทุกอย่าง แต่ขาดการ “สร้างคน”ถ้าไทยจะส่งเสริมเรื่องชลประธาน มีทุกอย่างพร้อมแล้ว แต่วันนี้คนไม่พร้อม ไทยขาดเเคลนคนที่พร้อม เพราะการเปลี่ยนเเปลงนี้ไทยไม่เคยสร้างคนที่เหมาะสมที่จะมารับการเปลี่ยนแปลง หรือมาบริหารการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น การศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ แต่ถ้ายังสร้างคนไม่ทัน ก็ไปให้โอกาสคนเก่งทั่วโลก เอาคนเก่งทั่วโลกมาใช้ก่อนโดยออกฎหมาย ไทยไม่ต้องไปสร้างคนเสียเงินเป็น10 ล้านตั้งแต่เด็ก วันนี้เมืองไทยขาดคนแบบไหน ก็เจาะจงไปหาคนชนิดนั้นมา แล้วก็มานำคนไทย

ถ้ารัฐบาลชุดนี้ออกกฎหมายใหม่ แล้วทำเรื่องชลประทาน สร้างคนให้มาใช้อย่างเหมาะสม ถ้ายังสร้างไม่ทันก็เชิญคนเก่งจากทั้วโลกมาก่อน มาสอนคนไทย

“ผมมองว่าเต็มไปด้วยโอกาส โดยเฉพาะผมมีความเชื่อมั่นรัฐบาลชุดนี้ว่าจะนำประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองอยู่ดีกินดี”

เรื่องไฮเทค ก็เกี่ยวข้อง ทั้งหมดยิ่งเข้ามาไฮเทคยิ่งสูงขึ้น ข้อมูลยิ่งมากขึ้น โอกาสก็ยิ่งมากขึ้น อย่างเช่นสร้างหุ่นยนต์ ต่อไปคนมีโอกาสใช้หุ่นยนต์ 1 คนต่อ 1 ตัว มากกว่ารถยนต์อีก ธุรกิจสร้างหุ่นยนต์จะเกิดขึ้น

เมืองไทยเรามีคนเก่ง บางทีเราขาดกองทุน ถ้าเรามีกองทุนไปสนับสนุนแล้วก็มีกฎหมายสนับสนุน จะรวดเร็วที่สุด

“สุดท้ายรัฐบาลจะให้ผมปรึกษาอะไร ผมยินดี เพราะผมมีความเชื่อมั่นรัฐบาลชุดนี้ ที่จะนำประเทศไทยไปสู่ความก้าวหน้า” นายธนินท์ กล่าวและฝากถึงภาพยนตร์ไทยเรื่อง “หลานม่า” ด้วยในงานนี้

“ผมว่า รัฐบาลน่าส่งเสริม หนังเรื่องหลานม่า เพราะไปเอาชนะอินโดนีเซีย ซึ่งยากมาก ยอดขายมากกว่าขายที่เมืองไทยอีก ทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ ทั้งคนแก่หนุ่มสาว ไม่มีภาพยนตร์เรื่องไหนที่ทั้งคนหนุ่มคนสาวจะไปดู คนสูงอายุก็ไปดู ทุกระดับไปดูเรื่องนี้ อันนี้ก็ซอฟต์พาวเวอร์ ฝากรัฐบาลด้วยครับ”