“สารัชถ์” รุกธุรกิจคลาวด์ จับมือกูเกิล-ขยายตลาด DATA

กัลฟ์ผนึก Google

กัลฟ์ผนึก Google ให้บริการ Sovereign Cloud คู่ขนาน Data Center ลงทุน 2 เฟส 20,000 ล้านบาท ชูนวัตกรรม AI ช่วยบริหารจัดการข้อมูลลับสุดยอดคุณภาพสูง ประเดิมเจาะตลาดลูกค้า องค์กรรัฐ-เอกชน ด้านความมั่นคง-สุขภาพ-การศึกษา-พลังงาน ที่ต้องการจัดเก็บบริหารข้อมูลชั้นความลับที่จะไม่ลิงก์กับอินเทอร์เน็ต จ่อคุยกระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคาร กระทรวงพลังงาน ปตท. การไฟฟ้าฯ ต่อยอดนโยบาย Cloud First Policy ของรัฐบาล

ทันทีที่ “บิ๊กดีล” ของบริษัทกัลฟ์ เอดจ์ จำกัด (Gulf Edge) บริษัทในเครือของ บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ Gulf ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานไฟฟ้า และ Google Cloud ยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ของโลกด้านคลาวด์เซอร์วิส ได้ประกาศการเป็น “พันธมิตร” ด้วยข้อตกลงร่วมกันเปิดให้บริการ “คลาวด์อธิปไตย หรือ Sovereign Cloud Services” ในประเทศไทยเป็นรายแรกและรายเดียว ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับการขับเคลื่อนนโยบาย Cloud First Policy ของรัฐบาลส่งผลให้วงการไอทีกลับมาคึกคักอีกครั้ง

และคงปฏิเสธไม่ได้ว่า BIG Data กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญกับทุกองค์กร จนอาจเรียกได้ว่าเป็น “การบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่” ซึ่งจะนำไปสู่เทรนด์ธุรกิจการวางระบบเก็บและบริหารจัดการข้อมูลเติบโตและมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น เนื่องจากต้องใช้ทั้งพื้นที่ พลังงาน และ เทคโนโลยีระดับสูง ส่งผลให้หลายบริษัทประกาศตัวเข้าสู่การลงทุนด้านดิจิทัล Data Center และ คลาวด์เซอร์วิส

จีบจบดีลใน 2 เดือน

นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ Gulf ผู้นำธุรกิจด้านพลังงานของประเทศไทยที่ได้ขยายไลน์พอร์ตไปสู่ธุรกิจดิจิทัลว่า ดีลนี้ใช้เวลาจีบกันมา 1-2 เดือน ได้ข้อสรุปอย่างรวดเร็ว “ผมคิดว่าสำหรับเมืองไทยเรื่องคลาวด์เป็นสิ่งใหม่ สมัยก่อนคลาวด์ทำเล็ก ๆ ตามกรม ตามกระทรวง แต่พอมี Cloud First Policy ขึ้นมา ซึ่งคือการเอาคลาวด์ไปเก็บรวมไว้ที่ดาต้าเซ็นเตอร์ และเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกประเทศเค้าทำกัน เราเองยังเรียกได้ว่าล้าหลังกว่าเพื่อนอาเซียน ผมจึงมองว่านโยบายนี้จึงมีความจำเป็นต่อไปประเทศไทยอย่างมาก”

การที่กัลฟ์เข้ามาทำเรื่องนี้ จะทำให้ข้อมูลต่าง ๆ สามารถนำมาเก็บไว้ โดยใช้เทคโนโลยีของ Google ได้ ทำให้ระบบต่าง ๆ สมบูรณ์แบบมากขึ้น ซึ่งในระยะยาวดีต่ออุตสาหกรรมและการพัฒนาประเทศ

Advertisment

ทำไม Gulf เลือก Google

ส่วนเหตุผลที่เลือก Google ก็เพราะเราขึ้นต้นด้วย G เหมือนกัน แต่เหตุผลที่แท้จริงก็คือ Google เป็น Top Provider เรื่องคลาวด์ในโลกอยู่แล้ว ดังนั้น Gulf จึงต้องการไปจับมือกับคนที่เป็น The Best in The Market อยู่แล้ว และยังมีคอมมิตเมนต์กับประเทศไทยและอุตสาหกรรมด้วย นี่คือจุดที่เราสนใจ

โดยข้อตกลงฉบับนี้ Gulf Edge จะได้รับสิทธิจาก Google Cloud เพื่อดำเนินธุรกิจระบบคลาวด์ Google Distributed Cloud (GDC) ในฐานะผู้ให้บริการ Managed GDC Provider (MGP) สำหรับองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทย เพื่อจัดเก็บและบริหารจัดการข้อมูล “ลับสุดยอด (High Confident)” ที่มีความอ่อนไหว (Sensitive) และที่มีการควบคุม (Regulate) โดยใช้ระบบ Google Distributed Cloud air-gapped หรือ GDC air-gapped (ไม่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต)

“จุดสำคัญ Sovereign Cloud ก็คือจะไม่ลิงก์กับอินเทอร์เน็ตที่อเมริกาใช้เรื่องนี้ในเรื่องความมั่นคงต่าง ๆ เพราะเป็นเทคโนโลยีที่อยู่ในตลาดมานานแล้ว แต่ประเทศไทยเพิ่งจะนำเข้ามา ซึ่งข้อมูลของภาครัฐหลาย ๆ อย่างควรจะเก็บในประเทศ ซึ่ง Google Distributed Cloud air-gapped หรือ GDC air-gapped จะตัดออกจากระบบทั้งหมด ไม่มีการต่ออินเทอร์เน็ตเลย ช่วยลดความเสี่ยง สร้างความปลอดภัยให้ข้อมูล ที่ผ่านมาเราอาจจะเห็นปัญหาระหว่างจีนและสหรัฐเรื่องการนำเอาดาต้าไปใช้ สำหรับในเมืองไทยหนักกว่านี้ เพราะปล่อยให้ดาต้าในเมืองไทยเสรีมาก” นายสารัชถ์กล่าว

การทำธุรกิจที่มีชั้นความลับ

สิ่งสำคัญก็คือ บริษัทต้องปฏิบัติตามมาตรการและเงื่อนไขที่ได้ผูกพันไว้กับข้อตกลงสัญญาต่อ Google ว่า เราจะต้องดูแลในระดับคุณภาพสูงตามมาตรฐานของเขา โดยไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลลูกค้าได้ ถ้าเกิดมีกรณีนี้เกิดขึ้นก็เท่ากับว่า เราผิดสัญญากับ Google เลย “สิ่งนี้จะต้องคอมพลายด์กับสิ่งที่ Google โพรไวด์เพราะว่า มันเป็นโกลบอลลิมิเทชั่นของเขา คือเราต้องไม่สามารถแอ็กเซสถึงข้อมูลของลูกค้าได้เลย ถ้าเกิดว่ามีขึ้นมาก็ถือว่า เราผิดเรื่องสัญญา”

Advertisment

ทั้งนี้ การร่วมมือกันจะมี 2 ส่วน คือ 1) กัลฟ์เป็นคนให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ใหญ่อันดับ 1 ในประเทศไทยอยู่แล้ว โดย “ดาต้าเซ็นเตอร์” นี้เป็นคอมพลายด์และไฮเกรดดาต้าเซ็นเตอร์ 2) อันเดอร์ไลน์เทคโนโลยีของ Google ไปวางที่นั่น ทั้งสองฝ่ายจะทำให้เกิดศักยภาพใหม่ ๆ เกิดขึ้น โดยมุ่งไปที่กลุ่มที่ต้องการบริหารจัดการข้อมูลที่ต้องการความปลอดภัยขึ้นสูงสุด หลังจากนั้นจะมีแผนความร่วมมือในด้านอื่นเพิ่มมากขึ้น

สำหรับตลาด Sovereign Cloud Services ตามแนวทางกูเกิลมองว่า จะต้องมี 3 เรื่อง คือ High Confident Sensitive และ Regulate ถ้าเข้าข่าย 3 เรื่องนี้จะสามารถใช้ได้ ซึ่งเรามองว่าประเทศไทยมีหน่วยงานความมั่นคงเยอะมาก และยังมีพวกการเงินการธนาคารอีก ที่มีข้อมูลที่ Sensitive มาก ๆ ที่ไม่ต้องการให้คนเข้าถึงก็ต้องมาอยู่ใน air-gapped

อย่างไรก็ตาม ในหน่วยงานหนึ่งอาจจะมีข้อมูลหลายอย่าง เช่น กลุ่มที่ไม่ได้ต้องการคลาสซิฟายมากนัก กับกลุ่มที่ต้องการคลาสซิฟายมาก เช่น ตำรวจ อว. หรือกระทรวงแรงงาน ก็มีทั้งข้อมูลที่ต้องการเก็บลับมากแบบ Sovereign Cloud และข้อมูลที่ไม่ต้องการความลับมาก ก็สามารถไปใช้ Public Cloud ได้ ดังนั้นเป้าหมายเรื่องสัดส่วนลูกค้าก็เลยจะพูดยากนิดหนึ่งว่า จะเป็นลูกค้าภาครัฐเท่าไร เอกชนเท่าไร โดยรูปแบบการเข้าตลาดในส่วนของลูกค้าภาครัฐ คงเป็นแนวทางปกติตามระบบการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเรื่องนี้แต่ละกระทรวงเป็นงบฯก่อสร้าง

ดังนั้นการออกมาให้บริการคงต้องไปคุยกับหน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานเอกชนใหญ่ ๆ ค่อนข้างเยอะ เพราะในส่วนนี้ยังไม่มีใครได้ใช้เรื่อง air-gapped ที่ปลอดภัยและมีการประมวลเท่ากับที่ Google ทำ ที่จะไปคุยก็มี กระทรวงกลาโหม, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ธนาคารแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย, กระทรวงพลังงาน, ปตท., การไฟฟ้าฯ หน่วยงานพวกนี้ที่เป็นหน่วยงานที่มีข้อมูลที่เซนซิทีฟมาก

โอกาสที่มาจาก Cloud First Policy

“เหตุการณ์บังเอิญไปเกิดในวันเดียวกันพอดี แต่เหตุการณ์นี้เราคุยกันมานานแล้ว แต่เรามองว่า นโยบายนี้วันหนึ่งไทยจะต้องเปิดตัวออกมา เพราะในต่างประเทศทั้งสิงคโปร์ หรือมาเลเซีย ก็เปิดออกมาแล้ว” นายสารัชถ์กล่าว ส่วนจะถือว่าเป็นโอกาสหรือไม่นั้น “ผมก็มองว่าดี เพราะชื่อเสียงของกูเกิลดี เมื่อเราไปคุยกับใคร เราไม่ต้องไปขายมาก เพราะพอเป็น Google ทุกคนสบายใจ และทุกคนเปิด Google เสิร์จข้อมูลทุกวัน และยิ่งการนำบริการนี้มาให้บริการโดยสร้างความมั่นใจเรื่องการดูแลข้อมูลก็ยิ่งตอบโจทย์ เพราะส่วนใหญ่คนจะกลัวว่า ดาต้าที่เราใช้จะหลุดไป กลัวจะเอาข้อมูลของเราไปใช้” นายสารัชถ์กล่าว

โดยการลงทุนหลัก ๆ ก็จะเป็น GSA Data Center เพื่อจะรองรับตรงนี้ โดยดาต้าเซ็นเตอร์เฟสแรกลงทุนไป 25 เมกะวัตต์ (MW) งบฯลงทุน 10,000 ล้านบาท จะเสร็จในเดือนมีนาคม 2568 พร้อมให้บริการและกำลังจะลงทุนต่อเนื่องในเฟสที่ 2 อีก 25 MW ด้วยงบฯลงทุนอีก 10,000 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้ได้มีการเตรียมพื้นที่แล้ว คาดว่าจะสร้างเสร็จในอีก 1-2 ปีข้างหน้า

ส่วนเรื่องคลาวด์ เราไม่ได้โฟกัสเรื่องอินเวสต์เมนต์ แต่โฟกัสเรื่องโอกาสมากกว่า ในการหาลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชน จึงไม่ได้มี Capex สำหรับธุรกิจคลาวด์เพราะส่วนมากจะจ่ายเป็นเรื่องการสร้างคนมากกว่า “จริง ๆ แล้วก็คือ การสร้างทีมไปด้วยกัน เพราะเป็นการลงทุนคน อาจจะไม่มีการก่อสร้างที่เยอะมาก เพราะทุกอย่างเรามีหมดแล้ว

ดาต้าเซ็นเตอร์เรามีก็จะลิงก์เข้าไป เพราะมันเป็น air-gapped ไม่ได้เชื่อมอินเทอร์เน็ตก็ใช้วิธีลากสายตรงเข้าไปก็ไม่ได้ลงทุนมาก ถ้าจะลิงก์จริงเราก็มี AIS อยู่แล้ว มี 5G มีบรอดแบนด์ หรือเรียกว่ามี Infrastructure พร้อมอยู่แล้วก็ไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มเข้ามา การเป็นพาร์ตเนอร์ชิปกันครั้งนี้ เรามีทุกอย่างค่อนข้างพร้อมเพรียง แค่เอา air-gapped มาโพสต์ที่ดาต้าเซ็นเตอร์ของกัลฟ์

แต่ในช่วงนี้ดาต้าเซ็นเตอร์ยังไม่เสร็จก็ไปฝากที่ดาต้าเซ็นเตอร์ของ AIS ก่อน ซึ่ง AIS ก็ลงทุนเพิ่มแค่นิดหน่อย แต่จะมีการลงทุนพัฒนาคนเพิ่ม เพราะต้องใช้คนที่มีความรู้มากขึ้น โดยการพัฒนาคนจะมีหลายส่วนด้วยกัน แต่หากคนไทยไม่มีก็อาจจะมีการดึงคนมาจากต่างประเทศ เพื่อมาเทรน เพราะต้องยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ ต้องอินเวสต์ในคนพอสมควร ส่วนการต่อยอดใช้ AI นั้นก็จะมีดาต้าเซ็นเตอร์ที่นำ GTU มาใช้ดีไซน์ คลาวด์ ก็มีเอไอมาเกี่ยวข้อง ในส่วนของบริษัทก็มีเริ่มนำมาใช้ โดยเฉพาะในส่วนของโรงไฟฟ้า มีการนำ AI มาใช้ค่อนข้างเยอะ เช่น ใช้วางแผนการซ่อม

Synergy ธุรกิจกัลฟ์

เรื่องพลังงาน กัลฟ์ก็ทำมาโดยตลอดอยู่แล้ว คลาวด์ทำพลังงานอยู่ การที่มีดาต้าเซ็นเตอร์เข้ามาก็มีความต้องการใช้พลังงานมากขึ้น ที่สำคัญมากคือ สเตบิลิตี้ของพลังงาน ส่วน AIS เขามีการทำฟิกซ์บรอดแบนด์ 5G เขาก็ทำของเขาได้ ฉะนั้นสองธุรกิจนี้ก็แยกจากกัน ในการทำคลาวด์ก็คือ แยกจากสองธุรกิจนี้ไม่ได้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ส่วนการเตรียมพลังงานรับดาต้าเซ็นเตอร์ เราไม่ได้ขายตรง แต่ขายผ่านรัฐ คนจะซื้อพลังงานสะอาด เราซื้อผ่าน EGAT โดยเราใช้ระบบ UGT2 ซึ่งมันไม่ได้ทำให้เกิดความได้เปรียบหรือเสียเปรียบ เพียงแต่ว่าพลังงานนี้มีความเพียงพอในการทำดาต้าเซ็นเตอร์และสตรักเจอร์เป็นอย่างไร

ผลตอบแทนการลงทุน

สำหรับรายได้ที่จะมามี 2 ส่วน คือ รายได้จากดาต้าเซ็นเตอร์ และรายได้จากธุรกิจคลาวด์ “บริการ Sovereign Cloud ถ้าพร้อมสามารถเปิดบริการได้เลย ไม่ต้องรอดาต้าเซ็นเตอร์ แต่ถ้าเป็นดาต้าเซ็นเตอร์ก็เก็บข้อมูลอีกอย่างหนึ่ง ประเภทข้อมูลมีหลายอย่าง แต่ไม่จำเป็นต้องเบสออนดาต้าเซ็นเตอร์ ถ้าอยากใช้ดาต้าเซ็นเตอร์จริง ๆ ตอนนี้เราก็มีของเอไอเอสไว้ให้บริการ

“ส่วนผลตอบแทนรายได้ ผมว่าเป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งหากเที่ยบกับธุรกิจที่เรามีอยู่ยังถือว่าเล็กมาก ยังไม่มีนัยสำคัญทั้งคลาวด์และดาต้าเซ็นเตอร์ แต่มันเป็นการลงทุนที่ดีกับประเทศ เพราะหากไปดูในต่างประเทศ ดาต้าเซ็นเตอร์และคลาวด์เขาไปแล้ว เราน่าจะช้าที่สุดในอาเซียน ฉะนั้นคิดว่าคงจะใช้เวลาในการพัฒนาและต่อไปมันจะอยู่กับคนไทยรุ่นใหม่ เพราะทุกอย่างจะเก็บในคลาวด์ และตอนนี้หลายอย่างอาจจะไม่อยากเก็บในคลาวด์ เพราะไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย แต่หากระบบมีการแบ่งอย่างข้อมูลทั่วไป ข้อมูลชั้นความลับ จะทำให้คนไทยมีคอมฟอตกับการใช้คลาวด์มากขึ้น”

ทำไมไฟฟ้าไม่ใช้ Direct PPA แต่ใช้ UGT

ไฟฟ้ามีอยู่สองอย่างที่เราใช้กัน คือ 1) การซื้อจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กับ 2) แบบที่เรียกว่า UGT (Utility Green Tariff) ซึ่งบอกว่า ใครมาซื้อไฟฟ้าในส่วนนี้ รัฐบาลการันตีให้เลยว่า ได้ไฟฟ้า 24 ชม. ราคาคงที่ 4 บาท และการันตีว่าเป็นไฟฟ้าสีเขียว ตรงนี้สามารถเอาเรื่องไปบรูฟได้เลยว่า ดาต้าเซ็นเตอร์แห่งนี้ใช้ “ไฟสีเขียว” แต่ก็มีบางคนอยากได้วิธีแบบซื้อขายตรง ไปสร้างเองอะไรเอง อยากจะมาขอใช้ฟาซิลิตี้ (สายส่งกับการไฟฟ้าฯ) แต่แน่นอนว่าการใช้สายส่งก็ต้องมีต้นทุนตัวหนึ่งที่เรียกว่า Public Cost

“สมมุติเราไปสร้างที่จังหวัดยโสธร ที่ดินถูกและอยากจะขายมาระยอง แต่การขนย้ายไฟมาต้องใช้สายส่ง ซึ่งประชาชนทุกคนรวมถึงรัฐบาลลงทุนในสายส่งไปแล้ว ที่มาอยู่รวมในค่าไฟ Ft อยู่ดี ๆ จะมีคนมาใช้สายส่งขึ้น มันก็ไม่ควรจะเป็นของฟรี ซึ่ง Public Cost มีหลายอย่าง Operation Cost ก็ตาม การดำเนินการก็ตาม กว่าจะทำเรื่องนี้ขึ้นมาเอง ช่วงกลางวันมีลมมีแดดสนับสนุน แล้วกลางคืนจะทำอย่างไร อย่าบอกว่า ไปซื้อไฟ TOU Rate ถูกกว่า มันก็คงไม่แฟร์กับคนไทยคนอื่น ฉะนั้นการมี Direct PPA ยังมีเงื่อนไขที่ยังต้องไปดูอีกเยอะ เพราะเมืองไทยเป็นระบบ Enhance Single Buyer

ฉะนั้น คนที่จะมาทำก็ต้องมาเวตดู แต่ลักษณะ Direct PPA ในต่างประเทศมีเยอะ อย่างที่เราลงทุนในยุโรปก็มีการทำ ที่สามารถเป็น Direct PPA เพราะเป็น Mercial Plant ทั้งระบบ ค่าไฟจึงอาจจะขึ้นไปแพงมาก 20-30 บาท สิงคโปร์และมาเลเซียก็เป็น Direct PPA Mercial Plant หรือสหรัฐก็เป็น UGT ซึ่งเราเองก็มี Direct PPA อยู่ต่างประเทศก็หลายอัน ก็กระจัดกระจายกันออกไป แต่ที่ไทยจะทำตอนนี้คิดว่าเป็น Pirot Project แต่ต้องมาดูว่า Public Cost จะเป็นอย่างไร

Sovereign Cloud Services คืออะไร

นายอรรณพ ศิริติกุล กรรมการผู้จัดการ Google Cloud ประเทศไทย กล่าวว่า หลายคนอาจจะเคยใช้เสิร์จเอ็นจิ้น Google แล้ว และน่าจะเคยใช้ยูทูป หรือ Google map ซึ่งนั่นคือ Digital Service ที่เข้ามาช่วยผู้บริโภค รันอยู่บนเทคโนโลยีกูเกิ้ล(Underline) ซึ่งอันเดอร์ไลน์นี้มีทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ และประกอบด้วยอินฟลาสตรัคเจอร์ที่น่าจะสามารถสเกลอัพจาก 1 เป็น 10 ได้ จนถึงเป็นพันล้านคนใช้

และอันเดอร์ไลน์นี้จะประกอบด้วยโพสต์ข้อมูลหรือการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ และมีเรื่องของเอไอและเรื่องความปลอดภัย ซึ่งกูเกิ้ลพัฒนาทั้ง 4 ด้านอย่างต่อเนื่อง เราใช้เองด้วยและเรามองว่า มันมีความหมายกับคนทั้งโลกเราจึงมองว่า หลายคนอยากใช้ด้วยเหมือนกัน กูเกิ้ล จึงได้เริ่มนำอันเดอร์ไลน์เหล่านี้มาให้บริการเมื่อปี 2008

โดยเฉพาะธุรกิจในประเทศไทยก็ใช้บริการของกูเกิ้ลด้วย เช่น เซ็นทรัล , ตะวันแดง , กรุงไทย , ปูนซิเมนต์ไทย , ไทยยูเนียน หรือ ภาคการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มหาวิทยาลัยสงขลา นี่คือการให้บริการกูเกิ้ลคลาวน์ที่ให้บริการอยู่

“เราพบว่า มีลูกค้าหลายกลุ่มอยากใช้บริการอันเดอร์ไลน์อันนี้ แต่ติดขัดเรกูลาทอรีเพราะ มี Sensitive data อยู่หรือการบริหารจัดการความปลอดภัยขั้นสูงสุด หรือ Sovereign Cloud เช่น กลุ่มเฮลท์แคร์ ที่ต้องเก็บข้อมูลของคนไข้ หรือข้อมูลของพลังงานที่เป็นความมั่นคงของประเทศหรือภาครัฐบาล ที่จะนำข้อมูลไปคำนวณเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเราเรียกข้อมูลเหล่านี้ว่าจะต้องมี High confident sensitive และ regulate ถ้าเข้าข่าย 3 เรื่องนี้จะสามารถใช้ได้”

ดังนั้นคำว่า Sovereign จะประกอบไปด้วย 3 อย่างคือ ต้องสามารถคอนโทรลเดต้าด้วยตัวเองได้ อยู่ที่ใดที่หนึ่ง และ สามารถโอเปอเรชั่นโฟลว์ทั้งหมดด้วยตัวเองได้ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้จะต้องถูกตัดขาดจากสาธารณะอย่างชัดเจน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อตัดขาดทั้งหมดออกแล้ว เราจึงใส่ AI เข้าไปในระบบนี้ด้วย ซึ่งการตัดขาดอินเตอร์เน็ตทั่วไป แบบนี้เราจึงเรียกว่า Google Distributed Cloud air-gapped หรือ GDC air-gapped.ซึ่งทำให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น ไม่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเลย ลดความเสี่ยงๆต่างๆ มันจึงค่อนข้างปลอดภัยมาก

และเราจำเป็นต้องมีคนมา Operate ตรงนี้แบบเบ็ดเสร็จจึงมองหาพาร์ทเนอร์ชิพคัลทรีของเราในประเทศไทย ปรากฎว่า “Gulf” เป็นผู้ที่มีศักยภาพด้านนี้สูงสุด เราจึงร่วมมือกับ กัลฟ์ เอาเทคโนโลยีตัวนี้มาประกอบร่างกับศักยภาพของกัลฟ์เพื่อตอบโจทย์กูเกิ้ลคลาวน์ในประเทศไทย

“การจะมาโอเปอเรตดาต้าเซ็นเตอร์ตรงนี้ต้องเป็นเดต้าเซ็นเตอร์ที่ไม่ใช่จะธรรมดาๆ แต่ต้องเป็นเดต้าเซ็นเตอร์ที่มีคุณภาพสูง คนที่มาโอเปอเรทต้องมีความรู้ ดังนั้นคนที่จะมาเป็นพาร์ทเนอร์เราทุกสิ่งทุกอย่างต้องพร้อม อย่างเรื่องการบริหารจัดการขั้นสูงสุดที่เรียกว่า Sovereign จะต้องมี 3 เรื่องคือ เดต้า โอเปอเรชั่น และ ซอฟต์แวร์ โดยเรื่องแรกเดต้านั้นกูเกิ้ลไม่มีแตะต้องเดต้านั้นได้เลย มั่นใจได้ว่ามีเรื่องการบริหารจัดการที่ดี สองคือ โอเปอเรชั่นทางกัลฟ์จะมีทีมงานมาโอเปอเรทตรงนี้ให้และสุดท้ายคือ เรื่องซอฟต์แวร์จะไม่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเลย ลดความเสี่ยงในการเข้าหาแอร์แก๊ป” นายอรรณพกล่าว

โดย Air-gapped จะไม่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ทำให้เข้าถึงข้อมูลไม่ได้ ส่วนโอเปอเรทก็จะเปลี่ยนเพราะโ อเปอเรทโดยผู้ที่ได้รับการรับรอบ สิทธิ์จาก Google จะทำให้คลีนมากขึ้นไม่สามารถเข้าถึงเดต้าได้ ฉะนั้นถ้ารวมตรงนี้จะทำให้ความเสี่ยงเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัยของข้อมูลลดลง