ชาวไร่-เอกชน ค้านร่าง AEDP 2024 ชี้กระทบทุกมิติ ไม่สอดรับยุทธศาสตร์ชาติ เสนอ E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานประเทศ 

ภายหลังกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ต่อ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2567-2580 (AEDP 2024)  เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรมปริ้นซพาเลซ กรุงเทพมหานคร โดยเชิญตัวแทนจากภาคเกษตรกร และภาคเอกชน ได้มีส่วนร่วมแสดงความเห็นในประเด็นเชื้อเพลิงชีวภาพที่มีแนวทางในการปรับลดจากแก๊สโซฮอล์ E20 ลงเหลือ E10 และให้เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐาน  

ตัวแทนภาคเกษตรกร และเอกชน ที่เข้าร่วมงานแสดงความคิดเห็นครั้งนี้สะท้อนผลกระทบไปในทางเดียวกันถึงผลกระทบและความยั่งยืนพลังงานของไทยที่ได้จากพืชผลทางการเกษตร รวมถึงมีข้อกังวลว่าการจัดทำแผน AEDP และ OIL PLAN ควรสอดรับกัน พร้อมวอนหน่วยงานจัดทำประสานงานผู้มีส่วนได้ส่วนเสียครบทุกมิติในการจัดทำแผนนี้ 

ด้านสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย สมาคมเอทานอลจากมันสำปะหลัง  สมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย และ ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน 20 สถาบัน เผยว่า ด้วยปัจจุบันประเทศไทยได้มีการวางยุทธศาสตร์ ขับเคลื่อนพัฒนาประเทศตามหลัก BCG Model และยังได้มีการสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ.2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ.2065  

ทั้งนี้เอทานอลที่ผสมในน้ำมันเบนซินถือได้ว่าเป็นเชื้อเพลิงสะอาดที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว แต่ในขณะเดียวกัน ภาครัฐกลับมีการปรับลดเป้าหมายและลดการสนับสนุนการใช้เอทานอลในภาคการขนส่งลง ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ขัดแย้งต่อการบรรลุเป้าหมาย พร้อมชูประโยชน์ 3 ด้าน จากการส่งเสริม E20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน  

ด้านเศรษฐกิจ  

Advertisment

การส่งเสริมการใช้เอทานอลถือเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตรในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น อ้อยและมันสำปะหลัง ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการรักษาเสถียรภาพราคาพืชพลังงาน สร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับภาคเกษตรของประเทศไทย โดยเอทานอลช่วยลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยไม่เสียดุลการค้า ซึ่งหากส่งเสริมการใช้ E20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน จะสามารถสร้างรายได้สู่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง ถึง 21,900 ล้านบาทต่อปี นับเป็นการกระจายรายได้ไปยังเกษตรกรไทยจำนวน 1.2 ล้านครัวเรือน และก่อให้เกิดความต้องการใช้เอทานอล 1,620 ล้านลิตรต่อปี สร้างรายได้ประมาณ 41,200 ล้านบาทต่อปี  

ขณะที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ราคาหัวมันสดเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1.15 บาทต่อกิโลกรัม ผลผลิตเฉลี่ย 30 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้น 34,500 ล้านบาท นอกจากนี้ กากน้ำตาลมีราคาสูงขึ้น 5 บาทต่อกิโลกรัม โดยมีผลผลิตเฉลี่ย 4 ล้านตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 20,000 ล้านบาท และคิดเป็นส่วนเพิ่มราคาอ้อยกลับสู่เกษตรกรประมาณ 150 บาทต่อตันอ้อย หากผลผลิตตันอ้อยเฉลี่ย 100 ล้านตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าเพิ่มกลับไปสู่ชาวไร่ 15,000 ล้านบาท 

ด้านสังคมและความมั่นคงทางพลังงาน 

Advertisment

การส่งเสริมการใช้เอทานอลผสมในน้ำมันเบนซินส่งผลทางด้านสังคมและความมั่นคงทางพลังงาน ตั้งแต่ลดการพึ่งพาน้ำมันเบนซิน โดยปริมาณการใช้เอทานอลผสมในน้ำมันเบนซินเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง อยู่ที่ปีละ 1,350 ล้านลิตร ช่วยลดการพึ่งพาน้ำมันเบนซินถึง 950 ล้านลิตรต่อปี โดยที่เอทานอลให้พลังงานประมาณ 70% ของเบนซิน ซึ่งการมีแหล่งพลังงานทดแทนที่ผลิตจากวัตถุดิบภายในประเทศนี้ ช่วยลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ นอกจากนี้ การส่งเสริมใช้เอทานอลผสมยังช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรที่ปลูกพืชพลังงาน เช่น อ้อย และมันสำปะหลัง นับเป็นการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง ลดการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสู่เมือง และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม 

ด้านสิ่งแวดล้อม  

การใช้เอทานอลช่วยลดการเกิดมลพิษทางอากาศ เช่น ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) โดยเอทานอล 1 ลิตร สามารถลดการปล่อยCO₂ได้ 1.51 kgCO₂ ส่งผลให้ในปี 2566 การใช้เอทานอลเฉลี่ยวันละ 3.5 ล้านลิตร ลดการปล่อย CO₂  ได้ประมาณ 1.929 ล้านตัน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดสภาวะก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ การเผาไหม้ที่สมบูรณ์ยังช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก 

พร้อมกันนี้ได้ยกตัวอย่างถึงผลกระทบที่จะตามมา หากไม่ส่งเสริม E20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น ผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตร ทั้งอ้อย และมันสำปะหลังที่ราคาลดลง ส่งผลให้เกษตรกรขาดรายได้ ผู้ลงทุนขาดความมั่นใจ ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายรัฐที่ไม่ต่อเนื่อง รวมถึงความไม่สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐตามหลัก BCG Model และเป้าหมายนำพาประเทศมุ่งสู่ Carbon Neutrality และ Net Zero Emission  

ทั้งนี้ ทางสมาคมฯ ได้มีการชี้แจงกับภาครัฐในหลายการประชุมให้กำหนดและวางแนวทางเป็นรูปธรรม ได้แก่ ส่งเสริมให้ E20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานของประเทศ และลดชนิดของน้ำมันเบนซินในตลาดให้น้อยลง สำหรับระยะสั้นเสนอให้มีการปลดล็อกกฎระเบียบเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายสุราสามทับ ให้สามารถจำหน่ายเอทานอลสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ภายในประเทศได้ เช่น อุตสาหกรรมยา สมุนไพร เครื่องสำอาง เคมี อาหาร บรรจุภัณฑ์ ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม เป็นต้น ขณะที่ในระยะยาว ได้เสนอวางแนวทางในการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่การส่งเสริมให้ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ ให้เอทานอลเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลาสติกโพลิเอทิลีน (Poly Ethylene: PE) และนำไปใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF)  

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน มีการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2567 – 2580 (Oil Plan 2024) ต่อเนื่อง ในวันนี้ (28 มิถุนายน 2567)  เพื่อให้ประชาชนร่วมกันมีส่วนร่วม คณะทำงานร่างฯ รับเรื่องทุกความเห็น และขอให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจัดทำข้อมูลสนับสนุนต่อไป