มหกรรมรวมพลัง SME ไทย เตรียมเดินสายโรดโชว์ 4 ภูมิภาค

นภินทร รมช.พาณิชย์ เผยผล ‘การจัดงานมหกรรมรวมพลัง SME ไทย’ สำเร็จเกินคาด สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทะลุ 200 ล้านบาท เตรียมเดินสายโรดโชว์ 4 ภูมิภาค สรรหาทำเลการค้าเพิ่มเติม

วันที่ 28 มิถุนายน 2567 นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการจัดงาน ‘มหกรรมรวมพลัง SME ไทย (Thailand SME Synergy Expo 2024)’ ระหว่างวันที่ 19-23 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา รวมทั้งหมด 5 วัน ว่า สำเร็จเกินเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทำเลการค้ามีผู้สนใจมาจับจองในทำเลที่อยากทำธุรกิจ ธุรกิจแฟรนไชส์มีผู้สนใจ ทำให้มีการจับคู่ธุรกิจเกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้เป็นอย่างมาก

ในส่วนของการเสริมทักษะต่าง ๆ สร้างความเข้มแข็งให้ SMEs มีผู้สนใจทั้งออนไลน์และออฟไลน์เป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าการจัดงานที่ผ่านมาประสบความสำเร็จเกินเป้าที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ยังคงมีเป้าหมายที่จะพัฒนา SMEs ให้เติบโตขึ้น โดยเป้าหมายที่วางไว้ คือ มีส่วนแบ่งในมวลรวมของรายได้จาก 35.2% เป็น 40% ในปี 2570 และนี่ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า คนไทยได้มีงาน มีอาชีพ และมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นแน่นอน

นายนภินทร ศรีสรรพางค์

การจัดงานมหกรรมรวมพลัง SME ไทยในครั้งนี้ คนที่มาร่วมงานส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่ในแถบชานเมืองที่มีทำเลการค้าที่สำคัญ ๆ แต่ยังขาดอาชีพ กระทรวงพาณิชย์รวมถึงพันธมิตรต่าง ๆ ทั้งสภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ สถาบันการเงิน รวมทั้ง เครือข่ายแฟรนไชส์ต่าง ๆ เราจะขับเคลื่อนออกไปพบกับพวกเขาในจังหวัดที่สำคัญ ๆ เช่น เชียงใหม่ อุดรธานี สงขลา และชลบุรี ภายในปีนี้

Advertisment

ที่สำคัญ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้มีการหารือร่วมกับ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ซึ่งมีนโยบายในการจัดหางานให้กับคนที่ว่างงาน ถือว่าเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงแรงงาน เป้าหมายคือ คนว่างงานและต้องการอาชีพ ดังนั้น การร่วมมือกันทั้งสองกระทรวง จะมีการเชิญชวนคนที่ว่างงานเข้ามาเป็นลูกจ้าง พนักงานของหน่วยงานหรือบริษัทต่าง ๆ รวมทั้งเป็นเจ้าของธุรกิจ สำหรับคนที่อยากมีธุรกิจเป็นของตนเอง

อย่างไรก็ดี ยังมีโครงการดี ๆ สำหรับคนที่ว่างงาน สำหรับคนที่ต้องการอาชีพ ต้องการมีรายได้เสริม โดยเฉพาะธุรกิจแฟรนไชส์อย่างเช่น ธุรกิจอาหาร ผมเชื่อครับว่าเป็นแฟรนไชส์ที่มีคุณภาพ มีเอกลักษณ์ วัตถุดิบที่ดี เพื่อให้ท่านได้นำไปค้าขาย นอกจากนี้ ทำเลที่ตั้งธุรกิจ ผมยืนยันว่าเป็นทำเลที่ดี สามารถทำการค้าการขายได้อย่างมีกำไร เนื่องจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้มีการต่อรองราคาทำเลค่าเช่า และหากทำเลการค้าในพื้นที่ใดลดลง

สำนักงานพาณิชย์แต่ละจังหวัดจะหาทำเลเพิ่มขึ้นเพื่อให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้มีโอกาสในการทำค้าขายในจังหวัดของตัวเอง และอย่างที่กล่าวมา หลังจากที่ท่านเป็นเจ้าของธุรกิจแล้ว ท่านไม่ต้องห่วงกระทรวงพาณิชย์ยังมี SMEs คลินิกที่ช่วยดูแลประคับประคองให้ท่านประสบความสำเร็จ ให้ท่านมีรายได้เลี้ยงดูตัวเองเลี้ยงดูครอบครัวและยืนอยู่บนสังคมอย่างสง่างาม

มหกรรมรวมพลัง SME ไทย

Advertisment

ข้อมูลผลการจัดงานการเจรจาธุรกิจและการจำหน่ายสินค้าภายในงานที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 200 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.การเจรจาจับคู่ธุรกิจภายในงาน เกิดมูลค่าการเจรจารวมทั้งสิ้น 193,075,878 บาท แบ่งเป็น การเจรจาธุรกิจของ SMEs ทั้งที่เจรจาซื้อสินค้าทันทีและการซื้อสินค้าภายใน 1 ปี รวม 522 คู่เจรจา ยอดรวม 18,614,588 บาท โดยธุรกิจที่มียอดการเจรจาสูงสุด 3 อันดับแรก คือ

1) อาหารและเครื่องดื่ม 2) ผ้าและเครื่องแต่งกาย และ 3) สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร ขณะที่ การเจรจาซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ รวม 136 คู่เจรจา ยอดรวม 174,461,290 บาท โดยแฟรนไชส์ที่มียอดเจรจาสูงสุด 3 อันดับแรก คือ 1) ประเภทสะดวกซัก 2) ประเภทการศึกษา คณิตคิดด้วยภาพ และ 3) ประเภทการศึกษา ภาษาอังกฤษ

2.การจำหน่ายสินค้าและบริการภายในงาน มีผู้ประกอบการ SMEs เข้าร่วมจำหน่ายสินค้าและบริการรวม 308 คูหา ยอดจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 7,230,845 บาท แบ่งเป็น คูหาของ SMEs 248 คูหา ยอดจำหน่าย 6,590,574 บาท โดยสินค้าที่ขายดี 3 อันดับแรก คือ

1) ผลิตภัณฑ์เสื้อคลุมใยฝ้ายทอมือ 2) ผลิตภัณฑ์ผ้าไหม (ผ้าผืน) และ 3) ผลิตภัณฑ์กระเป๋าแปรรูปจากต้นกล้วย ยอดจำหน่ายปลีกแฟรนไชส์ 60 คูหา 640,271 บาท โดยแฟรนไชส์ยอดขายปลีกที่ขายดี 3 อันดับแรก คือ 1) แฟรนไชส์อาหาร ก๋วยเตี๋ยว 2) แฟรนไชส์อาหาร เฟรนฟรายส์ทอด และ 3) แฟรนไชส์อาหาร ลูกชิ้นทอด

3.ทำเลการค้า ที่มีให้เลือกกว่า 19,000 แห่ง ภายในงานมีการนำเสนอทำเลการค้าอัตราพิเศษจากเจ้าของพื้นที่ 10 ราย เช่น สถานีบริการน้ำมัน ห้างค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า และตลาดชุมชน มีผู้สนใจเข้าหาทำเลการค้า จำนวน 793 ราย โดยทำเลที่ได้รับความสนใจสูงสุด 3 อันดับแรก คือ

1) ตลาดชุมชนพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจำนวน 497 ราย สนใจอัตราค่าเช่าตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท/เดือน สินค้าที่จะจำหน่ายเป็นประเภทอาหาร/ผักผลไม้ 2) บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) จำนวน 113 ราย สนใจเพกเกจปลอดค่าเช่าตลอดสัญญา (ชำระเฉพาะค่าสาธารณูปโภค) และอัตราค่าเช่า 5,000-25,000 บาท/เดือน สินค้าที่จะจำหน่ายเป็นประเภทธุรกิจแฟรนไชส์

3) บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเต็ม จำกัด จำนวน 34 ราย สนใจทำเลในห้าง ส่วนลดเงินประกันสัญญาเช่าเหลือ 2 เดือนจาก 4 เดือน อัตราค่าเช่า 7,000-25,000 บาท/เดือน สินค้าที่จะจำหน่ายเป็นประเภทธุรกิจแฟรนไชส์ อาหารและเครื่องดื่ม สวนสนุก และนวดแผนไทย

4.การให้บริการสินเชื่ออัตราพิเศษจากสถาบันการเงินและหน่วยงานพันธมิตร เช่น ธนาคาร บริษัทประกันชีวิตและประกันวินาศภัย รวม 18 หน่วยงาน ที่ได้ร่วมกันนำเสนอสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษและมอบเงื่อนไขพิเศษแก่ SMEs และประชาชนทั่วไปที่เข้าขอคำปรึกษาและขอสินเชื่อภายในงาน

โดยตลอดการจัดงาน 5 วัน มีผู้สนใจขอสินเชื่อ จำนวน 672 ราย วงเงินการขอสินเชื่อ 1,263,030,000 บาท โดยจำนวนนี้ขอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ช่วยค้ำประกันสินเชื่อรวม 75,000,000 บาท