รับเทรนด์ AI คลอด 6 มอก. หุ่นยนต์ ลดความเสี่ยงใช้งาน

บอร์ด กมอ.เห็นชอบ มอก.หุ่นยนต์ 6 มาตรฐาน ใช้ทำงานเสี่ยงอันตรายในโรงงานอุตสาหกรรมแทนแรงงานคน รวมถึงหุ่นยนต์บริการในร้านอาหาร เคลื่อนย้ายคน ยกของ ช่วยเหลือผู้สูงอายุ ชี้นโยบาย Quick Win กระทรวงอุตสาหกรรม ปี 2567 คาดกำหนดมาตรฐานใหม่ 1,300 มาตรฐานรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

วันที่ 26 มิถุนายน 2567 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา มติที่ประชุมคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ได้เห็นชอบมาตรฐานที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ จำนวน 6 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานหุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรม ที่ใช้ทำงานเสี่ยงอันตรายในโรงงานอุตสาหกรรมแทนแรงงานคน จำนวน 2 มาตรฐาน และหุ่นยนต์ดูแลส่วนบุคคล จำนวน 4 มาตรฐาน

ประกอบด้วย หุ่นยนต์บริการในร้านอาหาร หุ่นยนต์เคลื่อนย้ายคน หุ่นยนต์ที่ช่วยประกอบชิ้นส่วนหรือยกของ และหุ่นยนต์ช่วยเหลือผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับความปลอดภัย และยังเป็นการเตรียมการเพื่อรองรับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย

พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล
พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) กล่าวว่า นอกจากบอร์ดจะเห็นชอบมาตรฐานหุ่นยนต์ที่ใช้ในการอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีมติเห็นชอบมาตรฐานที่ สมอ.เสนอ จำนวนรวมทั้งสิ้น 150 เรื่อง เช่น ลวดเหล็กกล้าเคลือบสังกะสีผสมอะลูมิเนียม ดวงโคมไฟฟ้าฝังพื้น ดวงโคมไฟฟ้าใช้ในที่เลี้ยงสัตว์น้ำและพืชน้ำ ดวงโคมไฟฟ้าสำหรับสระว่ายน้ำ

ระบบรางจ่ายไฟฟ้าสำหรับดวงโคมไฟฟ้า ยางรัดของ เครื่องมือเครื่องจักรที่ใช้ในไร่สวนและสนามหญ้า โคมไฟหน้าและท้ายรถยนต์ โคมไฟตัดหมอกด้านหน้ารถยนต์ ไฟเลี้ยวรถยนต์ อุปกรณ์สัญญาณเสียงเตือนในรถยนต์ อุปกรณ์ล็อกประตูรถยนต์ การป้องกันการโจรกรรมยานยนต์ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก อุปกรณ์มองภาพของรถยนต์ กระจกมองหลังรถยนต์ รวมทั้งมาตรฐานวิธีทดสอบต่าง ๆ

Advertisment

พร้อมทั้งได้อนุมัติรายชื่อมาตรฐานที่ สมอ.จะจัดทำเพิ่มเติมในปี 2567 อีกจำนวน 44 เรื่อง เช่น เต้าเสียบ-เต้ารับ กรวยจราจรจากน้ำยางข้น กำแพงกันเสียงชนิดดูดซับเสียงจากฟองน้ำยางธรรมชาติ และมาตรฐานวิธีทดสอบต่าง ๆ เป็นต้น รวมเป็นมาตรฐานที่ สมอ.จะจัดทำในปีนี้กว่า 1,300 เรื่อง

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า มาตรฐานหุ่นยนต์ทั้ง 6 เรื่องที่บอร์ดมีมติเห็นชอบ เป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัยของหุ่นยนต์ที่อ้างอิงตามมาตรฐานสากล มีรายการทดสอบด้านความปลอดภัยที่สำคัญ

เช่น ระบบกักเก็บพลังงาน การปล่อยมลพิษทางด้านเสียง การสั่น ความร้อน การแผ่รังสี การรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้า การเบรกและการหยุดฉุกเฉิน การควบคุมความเร็ว ความแรง และพลังงานที่เกิดจากการสัมผัสระหว่างผู้ใช้งานกับหุ่นยนต์ มีการควบคุมการทำงานของเซ็นเซอร์ และอุปกรณ์ตรวจจับต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานหุ่นยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

สำหรับการกำหนดมาตรฐานของ สมอ.ในปีนี้ ตามนโยบาย Quick Win ที่ตั้งเป้าไว้ไม่ต่ำกว่า 1,000 เรื่อง ซึ่งขณะนี้ สมอ.คาดว่าจะกำหนดมาตรฐานได้ 1,300 เรื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมให้นำไปใช้ในกระบวนการผลิต และยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย

Advertisment