Art Toy ธุรกิจของเล่นมาแรงโตไวสุด จดทะเบียนกว่า 5,700 ล้านบาท

Art Toy

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยเทรนด์การสะสม Art Toy ธุรกิจของเล่นมาเเรง มูลค่าทุนจดทะเบียนกว่า 5,692.21 ล้านบาท ขณะที่ยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่เดือน พ.ค. 2567 พุ่ง 7,499 ราย บวก 14.84% ส่วนเลิกกิจการเหลือแค่ 1,004 ราย ด้านผลิตภัณฑ์โรงกลั่นปิโตรเลียม เครื่องประดับ ยานยนต์ ธนาคาร โดยรายได้-กำไรมากสุด

วันที่ 26 มิถุนายน 2567 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากกระแส Art Toy ของเล่นสะสมสำหรับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะงานศิลปะที่เกิดขึ้นจากศิลปินต่างประเทศและศิลปินไทย อยู่ในช่วงขอขึ้นอย่างมาก และกำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก ส่งผลให้ธุรกิจของเล่น กลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ต้องจับตามอง

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม

แม้ในช่วง 5 ปีย้อนหลังที่ผ่านมา (2562-2566) ธุรกิจของเล่นจะมีการเติบโตที่ผันผวน เพราะมีปัจจัยด้านการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบเชิงลบ แต่เมื่อสถานการณ์สงบลง ธุรกิจของเล่นได้กลับมาและเป็นโอกาสพลิกฟื้นธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว

โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก (S) ที่ครองตลาดส่วนใหญ่มากถึง 1,024 ราย แบ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตจำนวน 220 ราย และกลุ่มขายจำนวน 804 ราย คิดเป็น 93.7% จากจำนวนธุรกิจของเล่นที่มีจำนวน 1,093 ราย แบ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตจำนวน 238 ราย และกลุ่มขายจำนวน 855 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียนทั้งหมด 5,692.21 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มผลิตจำนวน 2,909.61 ล้านบาท และกลุ่มขายจำนวน 2,782.60 ล้านบาท

สำหรับปี 2566 ธุรกิจของเล่นสามารถสร้างรายได้รวมถึง 19,677.21 ล้านบาท และทำกำไรได้ 467.62 ล้านบาท การเติบโตของธุรกิจของเล่นส่วนสำคัญเป็นผลมาจากการเกิดกลุ่มในวงการของเล่นที่เรียกว่า Kidult ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีความนิยมในการสะสมของเล่นและมีกำลังการซื้อสูง เพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองในวัยเด็ก และยังเป็นการสะสมเพื่อสร้างรายได้ในอนาคต

Advertisment

ส่วนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือนพฤษภาคม 2567 อยู่ที่ 7,499 ราย เพิ่มขึ้น 969 ราย หรือ 14.84% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2567 และเพิ่มขึ้น 62 ราย เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2566 โดยมีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 21,887.12 ล้านบาท ลดลง 5,384.75 ล้านบาท หรือติดลบ 19.74% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2567 และลดลง 6,527.35 หรือติดลบ -22.97% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งหากดูจากภาพรวม ณ ปัจจุบัน (31 พฤษภาคม 2567) มีธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลรวมทั้งสิ้น 1,916,267 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 22.26 ล้านล้านบาท

ธุรกิจที่จัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 662 ราย ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 543 ราย และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 353 ราย

ส่วนการเลิกประกอบกิจการมีจำนวน 1,004 ราย เพิ่มขึ้น 194 ราย หรือ 23.95% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2567 และลดลง 230 ราย หรือติดลบ -18.64% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2566 โดยมีทุนจดทะเบียนเลิกอยู่ที่ 54,804.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49,707.54 ล้านบาท หรือ 975.26% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2567 และเพิ่มขึ้น 46,564.47 ล้านบาท หรือ 565.11% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2566

สำหรับธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการ 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 98 ราย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 59 ราย และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการอื่น ๆ 25 ราย

Advertisment

ทั้งนี้ เรื่องของการส่งงบการเงินอยู่ทั้งหมด 835,011 ราย อย่างไรก็ตาม ยังมีนิติบุคคลที่ไม่ได้นำส่งอีกจำนวน 89,967 ราย คิดเป็น 13.4% ซึ่งหากไม่ได้ส่งงบการเงินภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด กรมจะออกหนังสือแจ้งข้อกล่าวหา

โดยอัตราค่าปรับจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่ล่าช้า และจากการนำส่งงบการเงินประจำปี 2566 กรมได้นำข้อมูลผลประกอบการของนิติบุคคลมาวิเคราะห์ ในเชิงธุรกิจพบว่ารายได้ของนิติบุคคลทั่วประเทศมีจำนวนกว่า 57.86 ล้านล้านบาท และมีผลกำไรกว่า 2.34 ล้านล้านบาท โดยกลุ่มภาคการผลิต สามารถทำรายได้สูงสุดหรือคิดเป็น 41% รองลงมาคือกลุ่มภาคขายส่ง/ปลีก คิดเป็น 40.30% และกลุ่มภาคบริการ คิดเป็น 18.70%

โดยธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้สูงสุด 10 อันดับแรกได้แก่ 1.ธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโรงกลั่นปิโตรเลียม 2.ธุรกิจขายส่งนาฬิกาและเครื่องประดับ 3.ธุรกิจร้านขายปลีกเครื่องประดับ 4.ธุรกิจผลิตรถยนต์ส่วนบุคคล 5.ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ สำหรับยานยนต์

6.ธุรกิจขายยานยนต์ใหม่ชนิดรถนั่งส่วนบุคคล 7.ธนาคารพาณิชย์ 8.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 9.ธุรกิจขายปลีกเชื้อเพลิงยานยนต์ในร้านเฉพาะสถานีบริการน้ำมัน 10.ธุรกิจขายส่งเชื้อเพลิงเหลว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดไซซ์ L ที่สามารถทำรายได้สูงสุดในธุรกิจแต่ละประเภท