Green Finance เกณฑ์ใหม่บีบ SMEs สู้กติกาโลก

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

“พิมพ์ภัทรา” ถกธนาคาร ADB ขยายความร่วมมือ เตรียมเปิดแผนส่งเสริมสินเชื่อ Green Finance ผ่าน SME D BANK ช่วยรายย่อย SMEs ปรับตัวรับกติกาใหม่โลก ที่มุ่งการทำธุรกิจแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

วันที่ 26 มิถุนายน 2567 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ หารือกับ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ถึงความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่างธนาคาร ADB กับประเทศไทย รวมทั้งการสนับสนุนเพื่อพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย

เนื่องจากสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป SMEs จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้ทันกติกาใหม่ของโลก ดังนั้นสิ่งสำคัญคือเรื่องที่ผู้ประกอบการจะต้องมีความรู้และเงินทุน ซึ่งปัจจุบันมี ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D BANK) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ที่ช่วยกันสร้างและสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้มแข็งมีผลิตภาพสีเขียว (Green Productivity) ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะความรู้เรื่องคาร์บอนเครดิต คาร์บอนฟุตพรินต์ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการปรับตัวและประกอบอาชีพใหม่ภายใต้กติกาใหม่ได้

นายสก็อตต์ มอร์ริส รองประธานฝ่ายกำกับดูแลกิจการในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) กล่าวว่า ADB ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคแก่ SME D Bank เพื่อพัฒนากรอบการเงินที่ยั่งยืนในปี 2564 และ 2565

รวมถึงพัฒนากระบวนการระดมทุนทั้งในรูปแบบพันธบัตรและผลิตภัณฑ์เงินฝาก เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อสำหรับสนับสนุน SMEs ไทย ยกระดับสู่เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model (BioCircular-Green Economy) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายขับเคลื่อนพัฒนาประเทศไทยยุคใหม่ ด้วย BCG Model

Advertisment

นายสก็อตต์ มอร์ริส

และขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับ สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (MASCI) ซึ่งเป็นหน่วยรับรองระบบงานต่าง ๆ ตามกติกาสากลในประเทศไทย เพื่อให้การรับรองตราสารหนี้สีเขียว (Green Bonds) ในพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะสำหรับ SMEs ขณะเดียวกันยังขยายขอบเขตและปรับปรุงการดำเนินงานของกองทุนลดคาร์บอน (Decarbonization Fund) ซึ่งรวมถึงการพัฒนาตัวชี้วัดผลกระทบที่เหมาะสม ซึ่ง MASCI สามารถรองรับได้

จากนี้ธนาคาร ADB เตรียมจัดหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนการออกแบบ และการดำเนินการสำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกทางการเงินสีเขียว (Green Finance) ซึ่งทั้งหมดจะอาจอยู่ภายใต้กองทุนเพื่อสนับสนุน SMEs ของไทยในสาขาสำคัญ เช่น ยานพาหนะไฟฟ้าและสถานีชาร์จไฟฟ้า เกษตรกรรมและการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“เราเห็นความสำคัญของนโยบายสิ่งแวดล้อมและการปรับตัวของ SMEs และเราก็มีประสบการณ์ ที่ได้ถ่ายทอดและสนับสนุน SMEs ในหลาย ๆ ประเทศ เป็นโอกาสดีที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการให้สินเชื่อผ่านทางภาครัฐ ในด้านความรู้และเทคนิคโดยเงินทุนจากหลายภาคส่วน และภายใน 3-6 เดือนข้างหน้าเราจะทำงานกับ SMEs เพื่อที่จะทำเป็น Action Plan เพื่อดำเนินการต่อไป”

Advertisment

สำหรับ Green Finance หรือการเงินสีเขียว คือ การให้บริการทางด้านการเงินกับธุรกิจ ผู้ประกอบการที่มุ่งดำเนินธุรกิจที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ทั้งการนำมาใช้ และการปลดปล่อย ผ่านการให้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน โดยสถาบันการเงินจะนำการประเมินความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม เข้ามาเริ่มพิจารณาปล่อยสินเชื่อนั่นเอง