เปิดเงื่อนไข Direct PPA ไฟฟ้าสีเขียว 2,000 MW นำร่องธุรกิจ Data Center 

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ

นายกฯลั่น Direct PPA ต้องเป็นธรรมและแข่งขันได้ ดึงลงทุนกลุ่ม Data Center เร่งพิจารณาโครงการนำร่อง 2,000 MW จี้ กกพ.คิดราคาให้ทันสิ้นปี’67 คาดเห็นโครงการต้นปี’68 

วันที่ 25 มิถุนายน 2567 นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 1/2567 ซึ่งมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้พิจารณาแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งเป็นไฟฟ้าสะอาดที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินการโครงการนำร่องการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct Power Purchase Agreement : Direct PPA) ผ่านการขอใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access : TPA) ให้แก่บริษัทชั้นนำของโลกที่รัฐบาลได้เชิญชวนไว้และสนใจเข้ามาลงทุนโดยเฉพาะในด้าน Data Center ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามข้อกำหนดจากบริษัทแม่ “อีกทั้งยังเห็นชอบกรอบการดำเนินการในโครงการนำร่อง จำนวนไม่เกิน 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาว่า ไฟฟ้าสีเขียวที่จะนำมาใช้ในโครงการนี้ จะเป็นการเปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวลอตใหม่ ไม่ก็ใช้จากโครงการไฟฟ้าสีเขียวเดิมที่มีอยู่ประมาณ 5,000 เมกะวัตต์มาใช้ หรืออาจจะใช้ทั้ง 2 รูปแบบ เพื่อความยืดหยุ่น”

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ

นายประเสริฐยังระบุอีกว่า นายกฯได้เน้นย้ำและมอบโจทย์สำคัญในการออกแบบโครงการนี้ว่า จะต้องเหมาะสม เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และเอกชนจะต้องสามารถแข่งขันได้ รวมถึงจะสอดรับกับข้อเสนออัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff หรือ UGT) ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ และให้นำเสนอ กบง.พิจารณาเห็นชอบก่อนดำเนินการต่อไป โดยคาดว่าจะเห็นโครงการนำร่อง Direct PPA ได้ภายในต้นปี 2568

Advertisment

เปิดเงื่อนไข บริษัทไหนเข้าเกณฑ์ทดลอง Direct PPA

นายประเสริฐกล่าวเสริมว่า ที่ประชุมกำหนดนำร่องในกลุ่มอุตสาหกรรม Data Center ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวในปริมาณมาก ประมาณ 50 เมกะวัตต์ต่อ 1 โครงการ โดยบริษัทที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้จะต้องมีเงื่อนไข ดังนี้

1) เป็นการลงทุนขนาดใหญ่

2) มีการดำเนินการที่เท่าเทียมกันในทุกประเทศที่ไปลงทุน

3) ไม่มีการขายไฟฟ้ากลับเข้าสู่ระบบไฟฟ้าของประเทศ

Advertisment

ด้านนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ได้หารือทางกระทรวงพลังงานแล้วเพื่อพิจารณาจำนวนเม็ดเงินลงทุนของบริษัทที่สามารถร่วมโครงการได้ ส่วนทางกระทรวงพลังงานจะรับไปดูเรื่องการออกแบบมาตรการและข้อมูลประกอบการพิจารณา กพช.

ต้องคิดค่าอะไรเพิ่มใน Direct PPA

ในที่ประชุม กพช. ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน (พน.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ศึกษาผลกระทบจากการดำเนินการโครงการนำร่อง Direct PPA ผ่านการขอใช้บริการ TPA ต่อสถานภาพของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง และผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งภาคประชาชนและภาคอุตสาหกรรม พร้อมทั้งมอบหมายให้ กกพ.จัดทำอัตราค่าบริการ TPA พร้อมศึกษาผลกระทบให้แล้วเสร็จภายในปี 2567

โดยจะมีค่าบริการต่าง ๆ ดังนี้

1) ค่าบริการระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้า (Wheeling Charge)

2) ค่าบริการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Connection Charge)

3) ค่าบริการความมั่นคงระบบไฟฟ้า (System Security Charge หรือ Ancillary Services Charge)

4) ค่าบริการหรือค่าปรับในการปรับสมดุลหรือบริหารปริมาณไฟฟ้า (Imbalance Charge)

5) ค่าใช้จ่ายเชิงนโยบาย (Policy Expenses) และค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ด้านนายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันนักลงทุนรายใหญ่ที่จะเข้ามาลงทุนด้าน Data Center เช่น บริษัท Amazon Web Service เป็นต้น ได้ให้ความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทย เพื่อแสดงให้เห็นว่ากระบวนการผลิตได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ป้องกันการกีดกันทางการค้าในอนาคต

นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์

ทั้งนี้ การทำ Direct PPA และ UGT นั้น มีความแตกต่างกัน เพราะ UGT เป็นรูปแบบที่การไฟฟ้าจะเข้ามาดูแล โดยจะใช้ UGT 1 หรือ UGT 2 ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของภาคเอกชนแต่ละรายว่าต้องการจำกัดแหล่งที่มาของไฟฟ้าหรือไม่

ส่วน Direct PPA มีหลายรูปแบบการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาด ระหว่างเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าและผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรง แต่อาศัยสายส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าและจ่ายค่าสายส่งให้การไฟฟ้าก็ได้ (Wheeling  Charge) หรือหากในพื้นที่มีสายส่งเอกชนรองรับจะใช้สายส่งเอกชนก็ได้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมแต่ละพื้นที่