ราคาน้ำตาลดีสุดรอบ 12 ปี อ้อยไม่พอ KSL ตัดขายโรงงานเขมร

ชลัช ชินธรรมมิตร์
ชลัช ชินธรรมมิตร์
สัมภาษณ์พิเศษ

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นอุตสาหกรรมที่มีความผันผวนสูง ทั้งจากราคาที่ต้องอ้างอิงตลาดโลก รวมถึงการที่ต้องพึ่งพาฝนจากธรรมชาติ นั่นจึงทำให้ในทุก ๆ ปี การบริหารจัดการอ้อยและน้ำตาลทรายจึงเป็นสินค้าที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ซึ่งในปีนี้ช่วงต้นหลายคนกังวลต่อสถานการณ์เอลนีโญที่ภัยแล้งจะกระทบผลผลิต แต่มาถึงกลางปีสัญญาณการเกิดลานีญาก็เริ่มรุนแรงมากขึ้น ขณะที่ต้นทุนวัสดุทางการเกษตรก็ปรับตัวสูงขึ้น

ตลอดจนปัญหาการกีดกันทางการค้าต่าง ๆ ทำให้ผลผลิตปลายน้ำที่ออกมาในรูปแบบของน้ำตาลยังต้องแข่งขันกับต่างประเทศ

แต่อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากความท้าทายเหล่านี้กลับเป็นแรงหนุน ให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมน้ำตาลของไทยพัฒนานวัตกรรมต่อยอดธุรกิจ สร้างโอกาส รายได้ ไปพร้อมกับการวางอนาคตในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นายชลัช ชินธรรมมิตร์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL Group ถึงการพลิกฟื้นอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล

ราคาน้ำตาลดีสุดในรอบ 12 ปี

แนวโน้มราคาน้ำตาล ทำราคาขายที่ดีขึ้น 30% เนื่องจากราคาตลาดโลกปรับตัวพุ่งขึ้นไปถึง 25-26 เซนต์/ปอนด์ ในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งเป็นราคาที่ดีที่สุดในรอบ 12 ปี โดยคาดการณ์ราคาน้ำตาลตลาดโลกเฉลี่ยในปีนี้อยู่ที่ 22-23 เซนต์/ปอนด์ จากภัยแล้งทำให้ผลผลิตอ้อยลดลง

Advertisment

ส่วนผลผลิตอ้อยภาพรวมของประเทศ ไทย ปี 2567/2568 คาดว่าจะมีอ้อยเข้าหีบทั้งประเทศ 90-100 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วฤดู 2566/2567 ที่มีอ้อยเข้าหีบที่ 84 ล้านตันเพราะด้วยฝนดีขึ้น จากปี 2566/2567 ประสบภาวะภัยแล้ง จนทำให้พื้นที่ปลูกอ้อยเริ่มลดลง

ในส่วนของบริษัท KSL ฤดูการผลิตปี 2566/2567 มีปริมาณอ้อยเข้าหีบลดลง 20% เหลือ 5.43 ล้านตัน จากปี 2565/2566 ที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 6.60 ล้านตัน แต่คาดการณ์ผลผลิตอ้อย ทั้งกลุ่ม KSL ปี 2567/2568 จะอยู่ที่ 6.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 10% จากปี 2566/2567

“เราจึงคาดว่าครึ่งปีหลังจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 10% จากครึ่งปีแรก ที่มีความผันผวนเนื่องจากปริมาณอ้อยที่ลดลงจากสภาวะภัยแล้ง และการเลื่อนรับมอบสินค้าของลูกค้า ซึ่งรวมทั้งปีคาดว่าจะมีรายได้ใกล้เคียงกับปี 2566 หรือประมาณ 18,695 ล้านบาท โดยสัดส่วนมาจากธุรกิจน้ำตาล 80% ธุรกิจไฟฟ้า 10% และจากธุรกิจบริษัทลูกจากการร่วมทุนกับ BBGI อีก 10%”

สำหรับการถือหุ้นในบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGI ตอนนี้เรามีกำไรเติบโตขึ้นจากยอดขายไบโอดีเซลและเอทานอลที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และยิ่งปั๊มบางจากควบรวมกับเอสโซ่ เราได้อานิสงส์ค่อนข้างมาก และในปี 2568 BBGI จะบันทึกกำไรเพิ่มขึ้นจากโครงการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ที่จะเริ่มผลิตในเดือนพฤษภาคม 2568

Advertisment

โรงงานสระแก้วเริ่มผลิต ธ.ค. 67

ความคืบหน้าการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่จังหวัดสระแก้ว จะพร้อมเดินเครื่องภายในธันวาคม 2567 ในเบื้องต้นจะมีกำลังการผลิต 20,000 ตันอ้อย/วัน ในส่วนนี้จะเข้ามาเติมให้กำลังการผลิตของเราเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีกกว่า 500,000-600,000 ตัน/ปี และที่นี่ยังมีกำลังการผลิตไฟฟ้าถึง 35 เมกะวัตต์/วัน

ถามว่าตอนนี้เรามีโรงงานอยู่กี่แห่ง โรงงานเก่าที่จังหวัดชลบุรีเรายุบแล้วไปสร้างใหม่ที่สระแก้ว ตอนนี้เราจึงมี 5 แห่งในประเทศไทย กำลังการผลิตรวม 1.3 แสนตันอ้อย/วัน และ 1 แห่งในประเทศลาว ซึ่งที่ลาวเราลงทุนไปพร้อม ๆ กับที่กัมพูชา เมื่อประมาณ 13-14 ปีที่แล้ว มีกำไร 200 ล้านบาท/ปี ถือว่ายังทำธุรกิจได้ดี

แต่ที่กัมพูชาได้หยุดเดินเครื่องการผลิตไปเมื่อ 4-5 ปีก่อน และทยอยบันทึกเป็นด้อยค่าสินทรัพย์อยู่ นอกจากนี้ เรายังได้ประกาศขายพร้อมที่ดินขนาด 1.2 แสนไร่ ซึ่งเราใช้เงินไปกว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งการตัดสินใจขายในครั้งนี้ ในราคาครึ่งหนึ่ง 50% หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท เนื่องจากไม่มีปริมาณอ้อยเพียงพอในการผลิตน้ำตาล และสภาพอากาศไม่เอื้อต่อการเพาะปลูกทำให้ได้ผลผลิตที่ไม่คุ้มค่ากับการลงทุนดำเนินกิจการต่อไป

ต่อยอดสู่ธุรกิจอื่น

มองหาโอกาสต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่ อาทิ เจรจาขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้ให้กลุ่มลูกค้าที่สนใจที่เป็นธุรกิจอื่น ๆ ตอนนี้มีประมาณ 40-50 เมกะวัตต์ อย่างเช่นที่เรากำลังจะทำฟาร์มปลูกผักไฮโดร หรือผักปลอดสารพิษ เพราะโรงเรือนพวกนี้เขาต้องใช้ไฟอยู่แล้ว ไหนจะที่ดินที่เรามีก็เหลือ ตั้งโรงเรือนใกล้โรงงานแล้วส่งไฟเราเข้าไป ก็เป็นอีกธุรกิจที่น่าสนใจอาจเป็นการหาพาร์ตเนอร์เข้ามาทำด้วยกัน มันเป็นการต่อยอดจากสิ่งที่เราผลิตได้

หรืออย่างล่าสุดที่เราเปิดร้านกาแฟ เราก็เอาน้ำตาลที่เรามีมาใช้ หรือจะมองเรื่องธุรกิจอื่น ๆ ที่จะต่อยอดจากผลพลอยได้ปลายน้ำที่เรามี แต่เราคงยังไม่ไปทำชีวภาพหรือ Bio เพราะเรามองว่ามันยาก คนไทยยังไม่ยอมจ่ายอะไรที่แพงกว่าปกติ

น้ำตาล Low GI บุกกลุ่มสุขภาพ

เราเร่งทำตลาดผลิตภัณฑ์ Kane’s (เคนส์) ที่เป็นน้ำตาลทรายจากอ้อยธรรมชาติที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ หรือ Low GI เน้นจับกลุ่มผู้บริโภครักสุขภาพ และกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว ร้านขนม หรือ SMEs ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับค่อนข้างดี โดยบริษัทมีการผลิตน้ำตาล Kane’s ราว 1,000 ตันต่อปี

เราทำตลาดทั้งกลุ่มรายย่อยที่นำไปใช้ในครัวเรือน และกลุ่มธุรกิจที่มองเห็นโอกาสในการนำน้ำตาล Low GI ไปต่อยอดสู่อาหาร และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ตอบรับเทรนด์การเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับวงการอาหารเพื่อสุขภาพ ที่สามารถอร่อยและมีสุขภาพที่ดีไปพร้อมกัน

โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพูดคุยในรายละเอียดกับกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก ในกลุ่มเบเกอรี่, กลุ่มผลิตภัณฑ์ Ready to Bake และกลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว ในการร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล Low GI นอกจากนี้ บริษัทยังได้ขยายช่องทางการจัดจำหน่ายไปสู่โมเดิร์นเทรด เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้ารายย่อยเพิ่มขึ้น อาทิ Villa Market, Gourmet Market, Rimping Supermarket, ร้านใบเมี่ยง และ Tops Supermarket, Lotus’s Prive พรีเมี่ยมไฮเปอร์มาร์เก็ตในไตรมาส 4 ของปี 2567

มุ่งสู่องค์กรธุรกิจที่ยั่งยืน

การพัฒนาน้ำตาล Low GI ของกลุ่ม KSL นั่นต้องบอกว่าไม่เพียงแต่เป็นการต่อยอดทางธุรกิจ แต่ยังเป็นการมองถึงการมีสุขภาพที่ดีของผู้บริโภคในระยะยาว เพราะมันเป็นเป้าหมายสำคัญในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านกระบวนการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระบวนการจัดหาวัตถุดิบที่มีการนำเครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้ในฤดูเก็บเกี่ยว เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเราก็ให้ความสำคัญ และร่วมมือกับสมาคมชาวไร่อ้อยอย่างต่อเนื่อง

รวมถึงการพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกของกลุ่มที่ได้การรับรอง Carbon Footprint Product และ Carbon Footprint Reduction Label ในปี 2565 ที่ผ่านมา โดยเราวางเป้าหมายมุ่งสู่องค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2045 และการปล่อยก๊าชเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2060