สศก. ปูพรม 72 จังหวัด ลงพื้นที่เก็บข้อมูลสินค้าเกษตรปลอดภัย ปี 67

ฉันทานนท์ วรรณเขจร

สศก. ปูพรม 72 จังหวัด ลงพื้นที่เก็บข้อมูลสินค้าเกษตรปลอดภัย ปี 67 ขอความร่วมมือเกษตรกรและหน่วยงานเกี่ยวข้อง ร่วมให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่สำรวจ สศก.

วันที่ 25 มิถุนายน 2567 นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินนโยบายด้านสินค้าเกษตรปลอดภัย (Good Agricultural Practices : GAP) โดยจัดทำโครงการเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายอัตราการขยายตัวของมูลค่าสินค้าเกษตรปลอดภัย ขยายตัวร้อยละ 3 ในปี 2566-2570

การดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องมีการรวบรวมข้อมูลด้านราคา ปริมาณ และต้นทุนการผลิต เพื่อช่วยให้ภาครัฐมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการจัดทำนโยบายและโครงการที่เกี่ยวข้อง โดย สศก.รับผิดชอบดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลและระบบติดตามความก้าวหน้าตลอดห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตร

ดังนั้น สศก.จึงได้จัดทำแผนการสำรวจข้อมูลสินค้าเกษตรปลอดภัย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความถูกต้องครบถ้วน รวดเร็ว และมีรายละเอียดเพียงพอ สามารถบรรลุเป้าหมายตามแผนแม่บทย่อยภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (3) ประเด็น การเกษตร แผนย่อยเกษตรปลอดภัย ที่ต้องการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรที่ได้คุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย เพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก สร้างความตระหนักรู้ของผู้ผลิตและผู้บริโภคถึงความสำคัญของเกษตรปลอดภัย เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

Advertisment

โดยกำหนดให้มีการสำรวจข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เกษตรกรที่ได้รับการรับรองการผลิต มาตรฐาน GAP จากฐานข้อมูลของกรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง จำนวน 10,765 ตัวอย่าง รวม 72 จังหวัด ซึ่งแบบสอบถามจะประกอบไปด้วยชื่อสินค้า เนื้อที่เพาะปลูก เนื้อที่ยืนต้น ผลผลิต ราคาที่เกษตรกรขายได้ และต้นทุนการผลิต

สำหรับการจัดเก็บข้อมูล สศก. จะเริ่มลงพื้นที่สำรวจและจัดเก็บข้อมูลสินค้าเกษตรปลอดภัย (Good Agricultural Practices : GAP) ปี 2567 ในแหล่งผลิตข้าว ทุเรียน ไก่เนื้อ ไก่ไข่ และกุ้งขาวแวนนาไม ทั่วประเทศ ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม 2567 โดยขณะนี้ได้ลงพื้นที่สำรวจแล้วบางส่วนในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน และเพชรบุรี รวมกลุ่มตัวอย่าง 245 ครัวเรือน ส่วนจังหวัดอื่น ๆ จะทยอยเริ่มสำรวจตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 เป็นต้นไป

“สศก. ขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเกษตรกร ให้เปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่สำรวจ และขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ สศก. เป็นอย่างดี ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะได้รับความคุ้มครองความปลอดภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) อย่างเต็มที่

Advertisment

ทั้งนี้ ผลสำรวจที่ได้ สศก.จะนำไปเสนอผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ และใช้ประกอบการตัดสินใจในการจัดทำนโยบายและโครงการที่เกี่ยวข้อง โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการเสร็จสิ้นและสรุปผลได้ภายในเดือนธันวาคม 2567 ซึ่งจะรายงานผลให้ทราบต่อไป” เลขาธิการ สศก.กล่าว