นักลงทุน 30 ราย จ่อขอใช้สิทธิประโยชน์ EEC รวมมูลค่ากว่า 2.1 แสนล้าน

นายเศรษฐา ทวีสิน

เลขาฯ อีอีซี เผยนักลงทุน 30 ราย วงเงินลงทุนรวมกว่า 2.1 แสนล้านบาท ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม จ่อขอใช้สิทธิประโยชน์อีอีซี “เศรษฐา” มั่นใจรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ปลายเดือน ก.ค. 2567 นี้ ได้ข้อสรุปทั้งหมด รวมมูลค่ากว่า 2.1 แสนล้านรายจ่อใขอ” ลงพื้นที่อีอีซี สร้างความเชื่อมั่น ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนสู่ประเทศไทยต่อเนื่อง

วันที่ 23 มิถุนายน 2567 นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี กล่าวว่า วันนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะ อาทิ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการในจังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง รวมถึงติดตามโครงการสำคัญตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี

โดยขณะนี้ ความคืบหน้าการลงทุนในพื้นที่อีอีซี มีภาคเอกชนได้เข้ามาหารือกับอีอีซี และสนใจใช้สิทธิประโยชน์ตามประกาศสิทธิประโยชน์ฉบับใหม่อยู่กว่า 30 ราย วงเงินลงทุนรวมกว่า 2.1 แสนล้านบาท ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่ได้ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ได้แก่ อุตสาหกรรมการแพทย์ และสุขภาพ อุตสาหกรรมบริการ อุตสาหกรรมดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และอุตสาหกรรม BCG  ซึ่งอีอีซี ตั้งเป้าหมายดึงเม็ดเงินลงทุนจริงให้ได้ปีละ 1 แสนล้านบาท ต่อเนื่อง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2567 – 2571

ส่วนความคืบหน้า โครงการต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ขณะนี้ได้เริ่มก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 ส่วนความก้าวหน้าการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อรองรับการลงทุนในพื้นที่อีอีซี และการก่อสร้างโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยปัจจุบันมีความก้าวหน้าโดยเฉพาะงานด้านระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญๆ เช่น ระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น ก่อสร้างแล้ว 26.42% ระบบบริการเติมเชื้อเพลิงอากาศยาน ก่อสร้างแล้ว 48.41% และงานด้านประปาและบำบัดน้ำเสีย ก่อสร้างแล้ว 98.44% เป็นต้น

นายเศรษฐา ทวีสิน

Advertisment

ในส่วนการประสานแจ้งให้เอกชนเริ่มก่อสร้างโครงการฯ (NTP) คาดว่าจะสามารถแจ้ง NTP ได้ภายในปี 2567 นี้ เพื่อเริ่มก่อสร้างงานสำคัญๆ เช่น อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3  อาคารเทียบเครื่องบินรอง และศูนย์ธุรกิจการค้า เป็นต้น ซึ่งคาดว่าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ จะสามารถเปิดให้บริการในปี 2572

โดยการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ จะก้าวสู่ศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค เป็นสนามบินนานาชาติที่ได้มาตรฐานโลก รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน เชื่อมโยงการท่องเที่ยวสู่ภาคธุรกิจ เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และขนส่งทางอากาศแห่งภูมิภาค เพื่อสร้างความมั่นใจ และเป็นปัจจัยสำคัญดึงดูดให้นักลงทุนเข้าสู่พื้นที่อีอีซี

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งเป็นโครงการลงทุนเมกะโปรเจกต์ขนาดใหญ่ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ แต่ยังติดปัญหาความล่าช้าบ้าง เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19  สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน และดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้น ซึ่งคาดว่าภายในปลายเดือนกรกฎาคม 2567 นี้ จะได้ข้อสรุปทั้งหมดเกี่ยวกับการเดินหน้าโครงการฯ ดังกล่าว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดการลงทุนในมาตรฐานระดับโลก และแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมให้เกิดการลงทุนต่อเนื่อง