ส่งออกสินค้าเกษตรไทย พ.ค. 67 มูลค่า 2.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดในรอบ 14 เดือน

ส่งออก

สนค.เผยการส่งออกไทยเดือนพฤษภาคม 2567 ขยายตัว 7.2% โดยมูลค่า 26,219.5 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดในรอบ 14 เดือน แรงหนุนจากส่งออกสินค้าเกษตร ผลไม้ ยังมั่นใจเป้าหมายส่งออกทั้งปี 1-2% แต่ต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมทั้งปัญหาค่าระวางเรือที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น

วันที่ 21 มิถุนายน 2567 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยตัวเลขส่งออกของไทยเดือนพฤษภาคม พบว่ามีมูลค่า 26,219.5 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขยายตัว 7.2% เป็นการส่งออกโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และหากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 6.5%

โดยมูลค่าการส่งออกของไทยเดือนนี้สูงสุดในรอบ 14 เดือน ทำให้ดุลการค้ากลับมาเกินดุลในรอบ 5 เดือน โดยได้รับแรงหนุนสำคัญจากการส่งออกสินค้าเกษตร เนื่องจากเป็นเดือนที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์

ขณะเดียวกัน ภาคการผลิตของโลกฟื้นตัวได้ดี สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของโลก (Global PMI) ที่มีทิศทางขยายตัวเร่งขึ้น ตามเศรษฐกิจโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การส่งออกไทย 5 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัว 2.6% และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 4.3%

ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 25,563.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 1.7% ส่งผลให้ดุลการค้าของไทยเกินดุล 656.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการนำเข้าภาพรวม 5 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่า 125,954.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.5% ทำให้ดุลการค้าของไทย 5 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 5,460.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

Advertisment

ส่งออกสินค้าเกษตร

สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 19.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 2 โดยสินค้าเกษตรกลับมาขยายตัวถึง 36.5% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 0.8% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัว 128.0% กลับมาขยายตัวในรอบ 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง เวียดนาม และญี่ปุ่น) ยางพารา ขยายตัว 46.6% ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐ และเกาหลีใต้)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ข้าว หดตัว 4.5% กลับมาหดตัวในรอบ 11 เดือน (หดตัวในตลาดอิรัก จีน แอฟริกาใต้ แคเมอรูน และเนเธอร์แลนด์ แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย สหรัฐ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และฮ่องกง) น้ำตาลทราย หดตัว 46.1% หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (หดตัวในตลาดกัมพูชา อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย และไต้หวัน แต่ขยายตัวในตลาดลาว เวียดนาม ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และจีน) และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังหดตัว 16.2% หดตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม และอินเดีย แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ไต้หวัน สหรัฐ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์)

ทั้งนี้ 5 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 4.7%

Advertisment

ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 4.6% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 44.4% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐ จีน ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์) เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 110.7% ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และไต้หวัน)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลิตภัณฑ์ยางหดตัว 8.8% กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือน
ก่อนหน้า (หดตัวในตลาดสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ แต่ขยายตัวในตลาดมาเลเซีย อินเดีย เวียดนาม บราซิล และเนเธอร์แลนด์) แผงวงจรไฟฟ้าหดตัว 11.9% หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (หดตัวในตลาดสิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี และไต้หวัน

แต่ขยายตัวในตลาดฮ่องกง มาเลเซีย เกาหลีใต้ เม็กซิโก และเวียดนาม) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ หดตัว 14.1% กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า (หดตัวในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และออสเตรเลีย แต่ขยายตัวในตลาดอินเดีย จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์)

ทั้งนี้ 5 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 2.4%

แนวโน้มส่งออก

นายพูนพงษ์กล่าวอีกว่า แนวโน้มการส่งออก กระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งออกของไทยในปี 2567 จะยังเติบโตได้ดี โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ช้าแต่มั่นคง โดยการประเมินขององค์การการค้าโลก (WTO) ระบุว่า ปริมาณการค้าโลกจะขยายตัว 2.6% จากปีก่อนหน้า จากปัญหาเงินเฟ้อที่บรรเทาเบาบางลง และท่าทีของธนาคารกลางแต่ละประเทศที่มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนและการผลิตโลกให้ฟื้นตัวอีกครั้ง

แต่ยังมีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมทั้งปัญหาค่าระวางเรือที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นในบางเส้นทาง อาจเป็นปัจจัยลบต่อการส่งออกไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ นอกจากนี้ ผลการเลือกตั้งของแต่ละประเทศยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจส่งผลต่อนโยบายการค้าที่มีต่อการค้าระหว่างประเทศของไทยด้วย แต่อย่างไรก็ดี เป้าหมายการส่งออกยังคงเป้าหมายที่ 1-2%