เปิดร่างแผน AEDP-EEP เสริมพลังงานทดแทน-เร่งอนุรักษ์

พลังงานสะอาด-อีวี

ทิศทางนโยบายพลังงานของประเทศไทยจะเดินหน้าตามทิศทางพลังงานโลก ด้วยการเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 51% ควบคู่กับระบบสำรองพลังงาน (Energy Storage System) และปรับเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 36%

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ต่อ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2567-2580 (AEDP2024) และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2567-2580 (EEP2024) ให้สอดรับกับแผนพลังงานชาติ

ปรับลดเชื้อเพลิงชีวภาพ

นายพงษ์ศักดิ์ พรหมกร ผู้อำนวยการกองวิจัย ค้นคว้าพลังงาน กล่าวว่า ทิศทางพลังงานโลกเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ต้องปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP2024) เพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จากเดิมกำหนดไว้ที่ 30% ในปี 2580 เป็น 51% โดยจัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ปี 2567-2580 (AEDP2024) เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในทุกอุตสาหกรรมอย่างน้อย 36% ภายในปี 2580 จากเป้าหมายในแผนเดิมที่ 30%

ซึ่งการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายอยู่ที่ประมาณ 93,017 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) ประหยัดจากคาดการณ์เดิม 35,486 ktoe โดยจะมีสัดส่วนการใช้พลังงาน ดังนี้ ภาคไฟฟ้า 292,818 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง หรือ 24,951 ktoe พลังงานความร้อน 43,884 ktoe และเชื้อเพลิงขนส่งประมาณ 24,182 ktoe

ทั้งยังปรับเพิ่มเป้าหมายการใช้ไฟฟ้าพลังงานทดแทน 16% หรือ 73,286 เมกะวัตต์ เช่นเดียวกับภาคความร้อนที่ปรับเพิ่ม 18% หรือ 17,061 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) ขณะที่ปรับลดการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพลง 2% หรือ 1,621 ktoe รวมถึงกำหนดเป้าหมายใหม่ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่น้อยกว่า 75 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ปี 2580 ควบคู่กับการใช้เชื้อเพลิงชนิดใหม่ อาทิ พลังงานไฮโดรเจน และเชื้อเพลิงอากาศยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF)

Advertisment

นอกจากนี้ยังมีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการลงทุนภายใต้เงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และการเงินสีเขียว (Green Finance)

ใช้ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 61%

ในแผน AEDP2024 กำหนดปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะอยู่ที่ 61% ปี 2580 จากกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 73,286 เมกะวัตต์ หรือ 179,933 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในปี 2580 ที่ 292,828 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง

กำลังผลิตไฟฟ้าจนถึงช่วงปลายแผนในปี 2580 แบ่งดังนี้ พลังงานชีวมวล กำลังการผลิตใหม่ 1,046 เมกะวัตต์ กำลังผลิตรวม 4,565 เมกะวัตต์ ส่วนก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย กำลังผลิตใหม่ 360 เมกะวัตต์ รวมกำลังผลิตรวม 764 เมกะวัตต์ ส่วนก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน กำลังผลิตใหม่ 576 เมกะวัตต์ รวมกำลังผลิตเดิมจะอยู่ที่ 757 เมกะวัตต์ และขยะชุมชน มีกำลังผลิตใหม่เพิ่ม 300 เมกะวัตต์ ส่งผลให้กำลังผลิตรวมอยู่ที่ 1,142 เมกะวัตต์

ส่วนพลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานลมจะมีกำลังผลิตเพิ่ม 5,345 เมกะวัตต์ รวมเป็น 9,379 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์จะมีกำลังผลิตใหม่เพิ่ม 24,412 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์ (IPS) กำลังผลิตเพิ่ม 3,139 เมกะวัตต์ รวม 38,955 เมกะวัตต์ ส่วนพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ จะทยอยผลิตเพิ่มอีก 2,681 เมกะวัตต์ จนในปลายแผนจะมีกำลังผลิต 2,789 เมกะวัตต์

Advertisment

ขณะที่พลังงานน้ำนำเข้าจากประเทศลาว จะเพิ่มอีก 6,907 เมกะวัตต์ รวม 10,295 เมกะวัตต์ และพลังงานน้ำขนาดเล็ก จะมีการผลิตเพิ่ม 99 เมกะวัตต์ รวม 342 เมกะวัตต์ เช่นเดียวกับพลังงานความร้อนใต้พิภพที่มีสัดส่วนพลังงานเพิ่มขึ้น 21 เมกะวัตต์ ส่วนพลังงานน้ำขนาดใหญ่จะคงสัดส่วนการผลิตเดิมที่ 2,918 เมกะวัตต์

พงษ์ศักดิ์ พรหมกร

ทางเลือกอื่นแทนฟอสซิล

นายพงษ์ศักดิ์ประเมินว่า ความต้องการใช้พลังงานความร้อนในปี 2580 จะอยู่ที่ 93,017 ktoe โดยแบ่งเป็นภาคอุตสาหกรรม 30,280 ktoe บ้านและที่อยู่อาศัย 9,654 ktoe การเกษตร 3,511 ktoe และภาคธุรกิจการค้า 439 ktoe

เชื้อเพลิงที่มีการใช้มากที่สุดในภาคความร้อน ได้แก่ ถ่านหิน น้ำมัน และ LPG

สำหรับพลังงานทดแทนภาคความร้อนจะอยู่ที่ 17,061 ktoe ได้แก่ พลังงานชีวมวล 15,551 ktoe ขยะ 600 ktoe ก๊าซชีวภาพ 700 ktoe พลังงานแสงอาทิตย์ 200 ktoe และไฮโดรเจน น้ำมันไพโรไลซิส และความร้อนใต้พิภพรวม 10 ktoe เพื่อแทนการใช้ฟอสซิล ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิกระดาษ และอโลหะ อาหารและเคมีภัณฑ์ ธุรกิจการค้า และสิ่งทอ

ยึด B7 และ E10 เป็นน้ำมันฐาน

ด้านเชื้อเพลิงชีวภาพจะเชื่อมโยงกับแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ Oil Plan 2024 ซึ่งจากเทรนด์รถอีวีที่เติบโตส่งผลให้การใช้เชื้อเพลิงประเภทน้ำมัน รวมถึงเอทานอลและไบโอดีเซลลดลงตามไปด้วย ประกอบกับตั้งแต่ปี 2562 มีการปรับแก้ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้ไม่สามารถอุดหนุนราคาน้ำมันไบโอดีเซลได้ ดังนั้นการลดชนิดน้ำมันในแต่ละกลุ่มของภาคขนส่งทางถนน ส่งเสริมให้ไบโอดีเซล B7 เป็นน้ำมันหลักในกลุ่มดีเซล และสนับสนุนให้ E10 เป็นน้ำมันหลักในกลุ่มเบนซิน

และเพื่อแก้ปัญหาเรื่องวัตถุดิบที่ใช้ผลิตไบโอดีเซลล้นตลาด ให้นำไปผลิต SAF ซึ่งจะปรับใช้ 1.85 ล้านลิตรต่อวัน คาดว่าจะนำร่องใช้ภายในปี 2570 สัดส่วน 1% จากนั้นจะเพิ่มปริมาณไปจนถึง 5-6% ในปี 2580 ตามที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) กำหนด

ทั้งนี้ ยังสนับสนุนการใช้ไฮโดรเจน 1,395 ตัน เพื่อทดแทนภาคขนส่งบางส่วน โดยคาดว่าปี 2573 เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์จะช่วยทำให้ราคาไฮโดรเจนสีเขียวลดลง แข่งขันได้ รวมถึงการใช้เซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) ตั้งแต่ปี 2578

อนุรักษ์พลังงานเซฟ 5 แสนล้าน

พร้อมกันนี้ ได้รับฟังความเห็นร่างแผน EEP2024 โดยปรับเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงาน ลดความเข้มการใช้พลังงาน Energy Intensity ในปี 2580 จากเดิม 30% เป็น 36% ประมาณ 35,497 ktoe และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 106 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์

นายนันทนิษฎ์ วงศ์วัฒนา ผู้อำนวยการกองกำกับและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า แผน EEP2024 จะขับเคลื่อนผ่าน 3 กลยุทธ์-14 มาตรการ ใน 5 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรม อาคาร บ้านอยู่อาศัย เกษตร และขนส่ง โดยภาคบังคับ จะมีการบังคับใช้มาตรฐานการจัดการพลังงานในโรงงาน/อาคารควบคุม ประมาณ 5,764 ktoe การบังคับเกณฑ์มาตรฐานด้านพลังงาน (Energy Code) ในโรงงาน อาคาร บ้านอยู่อาศัยและเกษตร ประมาณ 937 ktoe และมาตรการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งทางถนน ประมาณ 1,650 ktoe ส่วนภาคส่งเสริม ได้แก่ เกณฑ์มาตรฐานและการติดฉลากแสดงประสิทธิภาพอุปกรณ์ ประมาณ 3,568 ktoe

การสนับสนุนทางด้านการเงิน ประมาณ 4,904 ktoe การส่งเสริมนวัตกรรมต่าง ๆ ประมาณ 317 ktoe การอนุรักษ์พลังงานภาคขนส่งทุกประเภท ประมาณ 15,341 ktoe นอกจากนี้ยังมี การอนุรักษ์พลังงานภาคเกษตรกรรม ประมาณ 660 ktoe และการอนุรักษ์พลังงานภาคบ้านอยู่อาศัย ประมาณ 1,754 ktoe รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพอุปกรณ์ในระบบพลังงานทดแทน ประมาณ 322 ktoe และมาตรการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานทุกด้าน สุดท้ายภาคสนับสนุน ได้แก่ วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอนุรักษ์พลังงาน (R&D) พัฒนาบุคลากรด้านอนุรักษ์พลังงาน (HRD) และประชาสัมพันธ์ปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์พลังงาน (PR)

การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานตาม EEP2024 นี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ได้แก่ เกิดผลประหยัดพลังงานขั้นสุดท้าย 35,497 ktoe คิดเป็นมูลค่า 532,455 ล้านบาท รวมถึงเกิดการสร้างงานและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนการสร้างความตระหนักด้านการอนุรักษ์พลังงาน