EEC ผุดแพ็กเกจใหม่ อัพเกรด 5G โรงงานดึงดูดนักลงทุน

ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร
ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร
สัมภาษณ์พิเศษ

ท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่คุกรุ่นได้เขย่าห่วงโซ่ซัพพลายเชนโลก นำมาสู่การเคลื่อนย้ายการลงทุนจากฐานผลิตของโลกอย่างจีนออกมาสู่อาเซียน นับเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทย ในการดึงดูดการลงทุนใหม่ เพื่อสร้างรายได้จากเม็ดเงินลงทุน FDI ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่อีกด้านหนึ่งการรักษา “นักลงทุน” รายเดิมที่ลงหลักปักฐานในประเทศไทยมายาวนาน ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน หลังเกิดเหตุการณ์นักลงทุนหลายค่ายเบนหัวเรือออกจากประเทศไทยไปแล้ว

ล่าสุด “นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร” รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (รองเลขาธิการ EEC) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” หลังจากเข้าทำหน้าที่ 6-7 เดือน ถึงภารกิจในการรักษาการลงทุนของ “ลูกค้าเดิม” ให้อยู่กับประเทศไทยต่อไป

ผุดแพ็กเกจหนุนใช้ 5G

EEC เกิดขึ้นมาไม่ใช่แค่ดึงดูดนักลงทุนเข้ามาเท่านั้น แต่การรักษานักลงทุนที่อยู่ “ให้อยากอยู่ต่อไป” ก็เป็นอีกหน้าที่หนึ่ง วิธีคิดนี้จึงเป็นคนละวิธีกับการดึงดูดการลงทุน ซึ่งเราจะต้องตีโจทย์ว่า จะใช้วิธีการอะไรเพื่อรักษานักลงทุนเหล่านี้ไว้ จึงเกิดแนวทางที่ EEC จะส่งเสริมนักลงทุนที่อยู่เดิม แต่ถ้าเมื่อไรที่โรงงานเหล่านี้เริ่มใช้ระบบออโตเมต ใส่ออโตเมชั่นเข้าไป เราให้สิทธิประโยชน์

หลายคนอาจจะฟังดูย้อนแย้งว่า ถ้ายิ่งไปส่งเสริมให้ใช้ออโตเมต หรือใช้เครื่องมากเท่าไร เท่ากับการใช้คนไทยจะน้อยแล้วประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างไร ตรงนี้บอกได้ว่า ถ้าเราไม่ให้สิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมเรื่องนี้เพื่อดึงเขาไว้ พวกนี้ก็จะย้ายฐานการผลิตแน่

ยกตัวอย่าง เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนสี จิ้นผิง บอกว่า จะเพิ่มหุ่นยนต์เป็น 1-2 ล้านตัว ทั้งที่ตอนนั้นค่าแรงจีนก็ถูกมาก ผู้นำจีนที่มีวิสัยทัศน์เขาเห็นแล้วว่า การจะไปกดค่าแรงคนเล่นเกมยาวไม่ได้ เราต้องอัพสกิลให้ทำงานที่แพงขึ้น

Advertisment

ทำไมต้องกำหนดเป็น 5G

ในโรงงานจะมีงานบางงานไม่ได้ใช้ 5G เช่น สายพานไม่ใช่ 5G บางอย่างใช้ 5G ดังนั้นเรากำลังจะบอกว่า ต้องลงทุนออโตเมตมากขึ้น งานที่ทำซ้ำซากใช้หุ่นยนต์หรือระบบออโตเมต ซึ่งในอนาคตจะเลี่ยงยาก แต่คำว่า “ออโตเมต” เราหาเส้นแบ่งไม่เจอ ดังนั้นถ้าใช้ 5G ทำให้มันมีเส้นแบ่ง เช่น ถ้าบอกว่ามาขอสิทธิประโยชน์เพิ่มเพราะใช้หุ่นยนต์รุ่นที่ 4 แล้ว เราแยกไม่ได้ว่า รุ่น 1-2-3 เป็นอย่างไร เราไม่รู้ แต่ถ้าใช้ 5G ทำให้แบ่งได้ว่า มีการใช้ระบบที่มากขึ้น

ซึ่งประเด็นนี้จะมีบางคนแย้งว่า การลงทุนพัฒนาออโตเมตเป็นสิ่งที่โรงงานต้องทำอยู่แล้ว (จะไปช่วยเขาทำไม) อย่างแรก วันนี้เราประมูล 5G มาแล้ว 5 ปี เพิ่งจะมีโรงงานเริ่มใช้ระบบ 5G เป็นโรงงานแรกในวันนี้คือ โรงงานจีน ที่มาลงทุน (ไมเดีย) แล้วที่เหลือหายไปไหน สาเหตุที่ไม่มีการลงทุนใช้ 5G ในโรงงานเพราะมันแพง ดังนั้นวันนี้ต้องเร่งให้มีดีมานด์เยอะ ๆ ประเทศก็ได้ประโยชน์ คือ ได้นักลงทุน เงินลงทุน

“เราไม่ได้ให้สิทธิประโยชน์กับพวกที่ให้บริการ 5G แต่ประโยชน์ที่ได้จากการส่งเสริมคือ เขาจะได้ลูกค้าเพิ่ม แล้วก็จะไปจ่ายกลับคืนให้รัฐในรูปแบบอื่นและจะนำไปสู่การอัพเกรดสู่ 5.5G ถ้าไม่มีดีมานด์ 5G แล้วใครจะไปมีกำลังอัพเกรดเป็น 5.5G แต่ถ้าเวียดนามดันมี 5.5G หรือสิงคโปร์มีแน่ ๆ เราจะเสียโอกาสในการดึงการลงทุน”

สิทธิประโยชน์ที่จะให้เพิ่ม 5 ปี

สิทธิประโยชน์ที่จะให้เพิ่มก็คือ ต้องลดภาษีส่วนที่มีการขยายการลงทุนเพิ่ม แม้ว่าจะอยู่ในโครงการเดิมที่เคยขอสิทธิบีโอไอ แต่หากมีการลงทุนพัฒนาส่วนนี้เพิ่มให้มาขอที่ EEC ถ้าซื้อของมาทำพวกนี้ เพราะมันสะท้อนถึงว่า เขาเป็นนักลงทุนที่ไม่ได้อยู่ไปวัน ๆ และที่สำคัญ ถ้าเราเร่งส่งเสริมไม่ทำแบบนี้ ตอนที่เรากำลังคุยกันอยู่ตอนนี้ ทางปักกิ่งเริ่มใช้ไปถึง 5.5G แล้ว

Advertisment

เราคิดแบบนี้ว่า หากคุณออโตเมตด้วย 5G ตัวใหม่ เช่น อาจจะลงทุนเพิ่ม 2 ล้าน แต่ผมให้เพิ่มไป 5-6 ล้านเลย เพราะเราต้องการให้นักลงทุนไปบอกกันปากต่อปากต่อไปว่า ไทยมีการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต (Future Ready) ซึ่งตอนนี้กำลังคุยกันอยู่ว่า อาจจะให้ 5 ปีก่อน เพราะเราไม่ได้จะเอาภาษีชาวบ้านไปแจก

ขั้นตอนการเสนอ

ตอนนี้กำลังจัดทำ “แพ็กเกจรวมฮิต” จะมี 5 เรื่อง นอกจากเรื่องการส่งเสริมเรื่องการลงทุนพัฒนา 5G แล้วจะมีเรื่องยกระดับการศึกษา การยกระดับการดูแลเรื่องรถดับเพลิง การจ้างงาน และการลดคาร์บอน เราจะต้องใช้เวลาร่างประกาศใหม่ในอีก 4-5 เดือน เป็นการสร้างแพ็กเกจโดยใช้การขับเคลื่อนด้วยดีมานด์ (Demand Driven)

เพราะจากการไปหารือและพบกับนักลงทุนต่างประเทศ ทำให้ทราบถึงความต้องการของนักลงทุนที่มีความต้องการจะยกระดับอุตสาหกรรมหลังจากที่ลงทุนแล้ว เพราะท้ายที่สุดนักลงทุนชอบเมืองไทยถึงจะขัดข้องหลายเรื่อง แต่มีความน่าอยู่

เรื่องรถดับเพลิง เกิดจากที่ใน พ.ร.บ.EEC มีการดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนานำมาดูแลทุกมิติ โดยมีการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุน เพื่อนำมาทำประโยชน์ ดังนั้นจึงต้องมีแพ็กเกจว่า ถ้าจ่ายเงินเข้ากองทุนใน 3 ปีแรก หรือ 5 ปีแรก ให้ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า เพราะไม่อย่างนั้นก็ไม่อยากจ่าย หลังจากที่ร่างแพ็กเกจแล้วจะเสนอ เลขาฯ EEC ในลำดับต่อไป

4 เดือนแรก นักลงทุนเข้ามามาก

ตอนนี้มีนักลงทุนเข้ามาแน่ 30 ราย เม็ดเงินประมาณ 200,000 ล้านบาท โดยนักลงทุนที่เข้ามามีหลากหลายประเทศ ทั้งจากจีน ญี่ปุ่น สหรัฐ ส่วนอุตสาหกรรมที่เข้ามาส่วนใหญ่จะเป็น BCG เพราะการสกรีนและการต่อรองของ EEC โดยอุตสาหกรรมที่เข้ามาต้องสอดคล้องกับเรื่องการลดคาร์บอนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เหลืออย่างเดียวคือการให้ไปแล้วยังไม่พอ ต้องมีการตรวจสอบและกำกับดูแล

วันนี้เกิดปรากฏการณ์คือ จีโอโพลิติกส์ เหมือนจะช่วยเรา ตรงที่นักลงทุนต่างประเทศที่อยู่ในจีน ผลิตสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดสินค้าจากจีนถูกไล่บี้ทุกวัน เขาต้องเริ่มคิดว่าทำอย่างไรดี ทำให้กลุ่มนี้หันมาใช้ฐานที่ไทย แต่เราคงดึงมาได้ไม่หมด เพราะเรายังไม่มีใครมาวาง “เกมยาว” เรื่องการปฏิรูประบบการศึกษาของไทยเป็นเรื่องเป็นราว ยังจะไม่ดีพอที่จะป้อนโรงงาน

ปัญหาที่ดินไม่พอ ซึ่งปีที่แล้วเป็นปีที่ทำสถิติที่ดินขายออกมามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ที่ดินสต๊อกเหลือไม่พอ เพราะไม่ใช่ได้ที่ดินมาแล้วจะเป็นนิคมได้ทันที ต้องขออนุญาต ต้องทำเรื่องสิ่งแวดล้อม ถมดินทำสาธารณูปโภค งานนี้ใช้เวลา 2-3 ปี

ดังนั้นวันนี้ 1) ซัพพลายที่ดินทำท่าจะไม่พอ 2) ซัพพลายน้ำก็ไม่ค่อยพอ 3) ซัพพลายพลังงานก็ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะนักลงทุนอยากได้พลังงานหมุนเวียน RE 100% เราขาดแคลนหมด คนจะดีไซน์เป็นคนออกแบบผังวงจรไม่มี รัฐบาลไหนก็ไม่มีเรื่องปฏิรูปการศึกษา เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านมาเลเซีย หรือเวียดนาม คนพูดหลายภาษาได้

ดึงลงทุนเชิงรุก

เมื่อก่อนนักลงทุน ใครอยากมาลงทุนในไทยต้องไปขอส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งจะมีกระบวนการให้สิทธิประโยชน์ตามประเภทกลุ่มโรงงาน เช่น A1 A2 ตามระบบของเขา แต่หลังจากที่มีกฎหมาย EEC ออกมา และเลขาฯ EEC ปัจจุบันได้ให้นโยบายว่า เราต้องวิ่งไปหาลูกค้า และต้องเทเลอร์เมด (สั่งตัด) มาตรการส่งเสริมการลงทุนตามความเหมาะสม โดยเราจะต้องไปนั่งคุยกับนักลงทุนก่อนและต้องใช้เวลาเจรจา ซึ่งอาจจะช้า

แต่มาตรการที่ออกมาแน่นอนว่าจะมากกว่าหรือเท่ากับ BOI เราจะต้องเจรจาต่อรองเพื่อให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งเมื่อเทียบกับ BOI สามารถส่งเสริมได้หมดทุกพื้นที่ ส่วน EEC จะออกนอกเขตส่งเสริมไม่ได้ ฉะนั้นอย่ากังวลการแข่งกันเพราะเรากินภาษีชาวบ้านเหมือนกัน งานของเราคือไปแข่งกับต่างชาติดึงการลงทุนเข้ามาใน EEC

ปรับกลยุทธ์แข่งเวียดนาม

ไทยมีจุดแข็งคือ ถนนเราดี ไฟฟ้าเราดีกว่า สื่อสารเราดีกว่า และชีวิตนอกการทำงานเราก็ดีกว่า ผลงานแรกของผมคือ จะทำวีซ่าและเวิร์กเพอร์มิตในใบเดียว เพื่อความสะดวก จากเดิมมีวีซ่า 4 ประเภท S คือ Specialist E คือ Executive P คือ Professional และ O คือ Other หมายถึง ผู้ติดตาม คนในครอบครัว ซึ่งเดิมให้แค่ 4 คน ทั้ง ๆ ที่ที่ดินก็ให้ถือ 100% ทุกเรื่องยอมให้ แต่ไปจำกัดผู้ติดตาม เพราะผู้บริหารอาจจะพาครอบครัวมามากกว่านั้น และมีการกินอยู่ใช้จ่าย

“ถ้าเราคิดว่าเข้ามาเยอะจะมายึดประเทศ ก็ง่าย ๆ เลยว่า เขาก็ไม่มา เราไม่มีเงินนอกเข้า เราก็ไม่รอด ผมมองว่าเรามีจุดแข็งที่ยังขายได้ ของที่อยู่ในมือ ตามจุดหมายที่เรามี ดังนั้นเราต้องทำให้แรง”

โจทย์ใหม่พลังงาน RE100

ส่วนเรื่องพลังงาน ที่นักลงทุนมีความต้องการพลังงานหมุนเวียน 100% หรือ RE100 เรามีอำนาจอนุญาตไฟออฟกริด แต่ไฟออฟกริดแพงโซลาร์เซลล์ทำไม่ไหว แม้ว่าประสิทธิภาพจะดีขึ้นจาก 8 ไร่/1 MW เหลือ 6 ไร่/MW แต่คิดต่อไร่แพง และถ้าจะให้ผลิตจากที่อื่นแล้วส่งมาก็จะเกิดประเด็นว่า สายส่งไม่พออีก แล้วสายส่งเป็นอำนาจ กพช. (คณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ) และ กกพ. (คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ) ถ้าไม่แกะล็อกอันนี้ พวกแอมะซอน-ไมโครซอฟท์ หรือใครที่จะมาลงทุนก็ไม่ได้

เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาเลเซีย หรือเวียดนาม ที่ขายไฟแบบ RE100 ยูนิตลด 3 บาท แต่ของเราค่าไฟฟ้าทั่วไป (ที่ไม่ใช่ RE) ยังอยู่ที่ 4 บาท/หน่วย ถ้ารัฐวิสาหกิจเก็บค่าใช้สายไฟเยอะ ทำให้ต้นทุนสูง คือวันนี้ทุกหน่วยงานต้องกลับไปถามตัวเองว่า เหตุผลของประเทศใหญ่กว่าเหตุผลตัวเองหรือไม่ และนโยบายต้องมีภาพที่ชัดออกมา เพราะผลจะเป็นอีกแบบ

นักลงทุนมองไฮสปีดเทรนไม่คืบ

ทุกคนถามถึงเรื่องรถไฟความเร็วสูงเสมอ ถ้าไม่มีรถไฟก็ทำให้สนามบินช้า ส่วนมาบตาพุดไม่ติดอะไร อย่างสนามบินเท่าที่ประชุมกัน ยังยืนยันว่าจะมีการลงทุนแน่นอน แต่ยังเหลือเวลาที่จะเร่งรถไฟ ถ้ามองจากมุมมองนักลงทุนต่างชาติต้องมีวาจาสิทธิ์ พูดแล้วต้องทำ และเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก เราแข่งกับทั้งโลก ระบบการเจรจาจะให้ความยืดหยุ่นกลับ ทำให้เราสามารถรักษาและดึงดูดนักลงทุนได้