ส่องแผนกระตุ้น GDP เร่งอุตสาหกรรมป้องกันประเทศตามคำสั่ง เศรษฐา

พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล
พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

“พิมพ์ภัทรา” ถกผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม กำชับคำสั่งนายกรัฐมนตรี เร่งใช้มาตรการกระตุ้นการลงทุนเพิ่ม GDP ประเทศ ย้ำดูแลเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน จัดการน้ำในพื้นที่ EEC แก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ ดันอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ หลังให้การรับรองมาตรฐานห้องแล็บระดับสากล

วันที่ 19 มิถุนายน 2567 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม ครั้งที่ 10/2567 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา โดยได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2567 นายกรัฐมนตรีได้ติดตามประเด็นภาวะเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และตั้งเป้าการเติบโตของเศรษฐกิจที่ 3%

ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมต้องเร่งตอบโจทย์มาตรการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน เพื่อเพิ่ม GDP ให้ได้ตามเป้าหมาย ด้วยการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณควรเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามแผน

คือ 1.ด้านมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว การจัดอบรม สัมมนาของภาครัฐควรมีการเชื่อมโยงพื้นที่เมืองน่าเที่ยวหรือเมืองรอง

2.การส่งเสริม SME วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็ง ด้วยการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำของหน่วยงานภายในกระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านกองทุนพัฒนา SME ตามแนวประชารัฐ และ SME D BANK และขอให้เร่งประชาสัมพันธ์โครงการให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนต่อไป

Advertisment

3.เรื่องราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมเข้าไปช่วยในเรื่องกระบวนการ ควบคุมดูแลโรงงานต่าง ๆ

และ 4.การจัดการน้ำในพื้นที่ EEC ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมหรือน้ำแล้ง ขอให้ดูเรื่องอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ และปริมาณน้ำมีเพียงพอหรือไม่ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมข้อมูลเรื่องผังเมือง นำเสนอก่อนการประชุม ครม.ในครั้งต่อไป

ในส่วนการพิจารณาคำขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ซึ่งเป็นอีกส่วนที่ต้องเร่งรัดใหเร็ว เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อนักลงทุน โดยระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์-31 พฤษภาคม 2567 มี 254 คำขอ ดำเนินการแล้วเสร็จ 98 คำขอ คิดเป็น 38.6% อยู่ระหว่างดำเนินการ 94 คำขอ คิดเป็น 37% คำขอที่ผู้ประกอบการขอขยายเวลา 23 คำขอ คิดเป็น 9% และอยู่ระหว่าง กรอ. พิจารณาอีก 39 คำขอ คิดเป็น 15.4%

และอีก 1 แผนที่สำคัญคือ การยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ทั้ง First S-curve และ New S-curve ที่มีศักยภาพในการเติบโตและสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ที่ไทยมีศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมป้องกันประเทศในอันดับต้น ๆ ของอาเซียน ซึ่งกำหนดผลิตภัณฑ์เป้าหมายที่มีศักยภาพเบื้องต้นนำร่อง 4 กลุ่ม

Advertisment

ได้แก่ 1.กลุ่มยานพาหนะรบ 2.กลุ่มอุตสาหกรรมต่อเรือ 3.กลุ่มอากาศยานไร้คนขับ และ 4.กลุ่มอาวุธและกระสุนปืนสำหรับการป้องกันประเทศและกีฬา

ทั้งนี้ การยกระดับอุตสาหกรรมดังกล่าว จำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการมาตรฐาน เช่น ห้องแล็บสำหรับทดสอบผลิตภัณฑ์ เพื่อให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของสากล ล่าสุด สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ให้การรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบ ตามมาตรฐาน มอก. 17025-2561 หรือ ISO/IEC 17025 : 2017 แก่หน่วยงานใน 3 อุตสาหกรรมที่สำคัญ

ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ คือ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ 2.อุตสาหกรรมปิโตรเลียม คือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และ 3.อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ คือ บริษัท วชิรแล็บเพื่อสังคม จำกัด จึงทำให้ห้องแล็บที่ได้รับการรับรองจาก สมอ. ได้รับความเชื่อมั่นและเชื่อถือในระดับสากลด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ การได้รับการรับรองจะช่วยให้ผู้ประกอบการ สามารถลดต้นทุนและลดระยะเวลาในการทดสอบ เพราะไม่ต้องส่งสินค้าไปทดสอบซ้ำอีกในต่างประเทศ เนื่องจาก สมอ. ได้ลงนามในข้อตกลงการยอมรับร่วม (Mutual Recognition Arrangement : MRA) กับองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองห้องปฏิบัติการ ซึ่งมีประเทศสมาชิกที่ลงนามในข้อตกลงการยอมรับร่วม จำนวน 118 ประเทศ จึงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสในการเจรจาต่อรองทางการค้าของผู้ประกอบการไทยด้วย