ครบรอบ 122 ปี กรมชลประทาน ‘ธรรมนัส’ สั่งรับมือฝน เตรียม ‘แผนผันน้ำทุกจังหวัด’

ครบรอบ 122 ปี กรมชลประทาน “ธรรมนัส” มอบโจทย์ พัฒนางานด้านชลประทานสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำ เพิ่มคุณค่าการบริการ ก้าวสู่องค์กรอัจฉริยะ สั่งรับมือฝน เตรียมแผนผันน้ำทุกจังหวัด เดินหน้าแผนเพิ่มพื้นที่เก็บน้ำเกือบ 50 ล้านไร่ เพิ่มความจุกว่า 9 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร

วันที่ 13 มิถุนายน 2567 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมชลประทาน 122 ปี กรมชลประทาน “น้ำมั่นคง อนาคตยั่งยืน” โดยมีนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะผู้บริหาร ตลอดจนข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน เข้าร่วม ณ กรมชลประทาน สามเสน

ว่ากรมชลประทาน มุ่งมั่นที่จะพัฒนาการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการนำความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการน้ำ อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทยต่อไป

“สิ่งที่จำเป็นที่กรมชลประทานต้องทำคือ จะต้องทำแผนที่ผันน้ำในทุกจังหวัด ตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ สู่ลุ่มน้ำสายหลัก ต้องบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ และหากเรามีแผนที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ผ่านไปได้”

นอกจากนี้ การกักเก็บน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมาจะสังเกตได้ว่าอุณภูมิที่สูงขึ้นจะต้องมีระบบการกระจายน้ำที่เป็นระบบปิดหรือระบบท่อ เพื่อป้องกันการระเหยของน้ำ อีกทั้งยังต้องขยายพื้นที่ชลประทานในพื้นที่ภาคการเกษตรไม่ต่ำกว่า 40 ล้านไร่

Advertisment

“ได้สั่งการให้กรมชลประทานเตรียมรับสถานการณ์น้ำช่วงฤดูฝน ที่คาดว่าจะมีฝนตกหนัก และมากกว่าปีที่แล้ว จึงต้องเตรียมแหล่งกักเก็บน้ำ และศึกษาเส้นทางน้ำทั้งหมด รวมถึงได้ลงพื้นที่ที่มีน้ำท่วมซ้ำซาก เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป”

ด้านนายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานยังคงมุ่งมั่นเดินหน้างานตามภารกิจหลักภายใต้ยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้ได้กว่า 49.5 ล้านไร่ เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ประมาณ 93,655 ล้านลูกบาศก์เมตร มุ่งเน้นเพิ่มรายได้ภาคการเกษตรเป็น 3 เท่า ใน 4 ปี สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร ด้วยหลักการ “ตลาดนำนวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ตามนโยบายรัฐบาล ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเกษตรกร

โดยมุ่งเน้นนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องเร่งรัดดำเนินการ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ภายใต้แนวทางการบริหารงาน “RID TEAM PLUS” ซึ่งได้ต่อยอดจากแนวทาง RID TEAM ตาม 3 หลักคิดคือ เชื่อถือได้ หลากหลาย นวัตกรรม นำสู่การพัฒนา มุ่งปฏิบัติงานด้วยความรู้ ความเชี่ยวชาญ อย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ยกระดับการทำงานสู่ระดับสากล เน้นการมีส่วนร่วม ส่งเสริมการเรียนรู้

เพื่อยกระดับการทำงานกับเครือข่ายอย่างแน่นแฟ้น โดยได้กำหนดเป้าหมายหลักในการดำเนินงานไว้ 3 ประเด็น 15 กลยุทธ์ ได้แก่ ประเด็นที่ 1 องค์กรอัจฉริยะ (RID Intelligent Organization) ประเด็นที่ 2 ความมั่นคงด้านน้ำ (Water Security) และประเด็นที่ 3 เพิ่มคุณค่าการบริการ (Value to Service) เพื่อให้เกิดผลการพัฒนาอย่างยั่งยืน

Advertisment

ทั้งนี้ ภายในงานมีพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ข้าราชการพลเรือน และพนักงานราชการดีเด่น ประจำปี 2566 รางวัลการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา โครงการชลประทาน และฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษา ประจำปี 2567 รางวัลเลิศรัฐ กรมชลประทาน ประจำปี 2566 และรางวัลนวัตกรรมดีเด่น (KM) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ในการขับเคลื่อนงานตามภารกิจเพื่อประโยชน์ของประชาชนต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง