SMEs เพิ่งฟื้นไข้ จี้รัฐออก “ยาแรง” อัดฉีดเศรษฐกิจ

Narathep
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

แนวโน้มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในปี 2567 ยังเหมือนเพิ่งฟื้นไข้ จากวิกฤตโควิดที่ระบาดหนักมาก 3 ปี อีกส่วนจากการท่องเที่ยวเริ่มกระเตื้องขึ้นมาชดเชยส่วนที่ขาด แต่ยังถือว่าเป็นการฟื้นตัวแบบเปราะบาง และยังต้องการวัคซีนมาเสริมกระตุ้นลมหายใจเอสเอ็มอีโดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังเติบโตต่ำเหลือ 2-3% จากที่ล่าสุดจีดีพีไทยขยายตัวเพียงแค่ 1.5%

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นรเทพ บุญเก็บ” เลขาธิการสมาพันธ์ SME ไทย ถึงทิศทางธุรกิจเอสเอ็มอีในปีนี้

ความคาดหวังต่อรัฐบาล

“เราคาดหวังตอนมีรัฐบาลใหม่ ๆ ไว้สูง ว่าจะมีมาตรการหลายอย่างที่กระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นภาพชัดเจนที่จะทำให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีกระเตื้องขึ้น โดยเฉพาะนโยบายต่าง ๆ อย่าง พอพูดถึงตอนมาใหม่ ๆ รัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับซอฟต์พาวเวอร์ แต่เราก็ยังไม่เห็นรูปธรรมที่จะมากระตุ้นเศรษฐกิจให้เต็มที่อย่างไร พี่น้องเอสเอ็มอีพอได้ยินเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ก็มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองคิดว่าจะก้าวกระโดด แข่งขันในต่างประเทศ สิ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโต แต่ยังไม่เห็นสิ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตชัดเจนได้”

“เราเข้าใจความตั้งใจของรัฐบาลและนายกฯที่พยายามผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไปต่างประเทศ เห็นความพยายามอยู่ แต่คิดว่าไม่ใช่เพียงแค่นั้น คิดว่าองคาพยพส่วนอื่นต้องมีส่วนช่วยกันมากกว่านี้ ตอนนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไร หลังจากที่รัฐบาลเข้ามาที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตมากขึ้น นอกจากนี้ประเด็นที่คาดหวังในส่วนของผู้ประกอบการ อย่างเช่น ดิจิทัลวอลเลต ก็ยังไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจน รวมถึงยังมีประเด็นปัญหาอื่นตามมาอีก อย่างการขึ้นค่าแรง จึงทำให้พี่น้องผู้ประกอบการกังวลภาพการเติบโต”

ค่าแรงขึ้นต้นทุนพุ่ง

การปรับขึ้นของต้นทุนต่าง ๆ โดยเฉพาะการขึ้นค่าแรง ทางเราไม่ได้คัดค้าน แต่ควรขึ้นในจังหวัดที่พร้อม และต้องทำควบคู่กับการพัฒนาฝีมือแรงงาน นี่คือสิ่งสำคัญที่ต้องทำก่อนปรับขึ้นค่าแรง รวมถึงต้องคำนึงว่าแรงงานที่ได้รับผลประโยชน์จริง ๆ จะเป็นแรงงานกลุ่มไหน อาจจะเป็นกลุ่มแรงงานต่างด้าวซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่อาจจะได้รับประโยชน์ตรงนี้หรือไม่

Advertisment

อันนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องคำนึงแล้ว พอปรับขึ้นค่าแรงจะเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ มีส่วนทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แล้วจะมีภาคส่วนไหนที่จะมาชดเชยให้ผู้ประกอบการได้บาง อย่างเช่น เรื่องภาษี ถ้าทำควบคู่กันไปจะเห็นผลเป็นรูปธรรมจากการขึ้นค่าแรงได้และลดผลกระทบผู้ประกอบการลงไปได้

ในส่วนของเรื่องภาษี (ภาษีเงินได้นิติบุคคล) ที่จะมาชดเชยค่าแรง จากที่มีหลายปัจจัยที่มีทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น เรารณรงค์มาโดยตลอดว่าพี่น้องผู้ประกอบการต้องเข้าระบบบัญชีเดียว และตอนนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็เห็นความสำคัญ แต่พอมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น มาตรการทางภาษีโดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกี่ยวกับการค้าการบริการ เป็นปัจจัยที่สำคัญและเป็นต้นทุนส่วนหนึ่ง ถ้ามีส่วนหนึ่งให้เอาส่วนค่าแรงที่เพิ่มขึ้นไปชดเชยกับภาษีที่ลดลง อันนี้ถ้าคิดโมเดลให้สมดุลกัน โดยระบบก็จะไปได้ อาจจะลดภาษีไม่ใช่แค่พอกับ 400 บาท แต่ถัวเฉลี่ยให้พอดีกัน สำหรับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ลดดอกลดหนี้

มาตรการลดหนี้ เรื่องดอกเบี้ยเป็นหนามยอกอกของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เราเห็นความตั้งใจของนายกฯที่พยายามจะลดดอกเบี้ย แต่ทำอะไรมากไม่ได้ เพราะมีข้อจำกัดอยู่ ถามว่าถ้าเอสเอ็มอีเองยังติดขัดเรื่องดอกเบี้ยที่ยังไม่ลดลง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นบวกกับค่าแรง บวกกับเศรษฐกิจในภาพรวมยังไม่ฟื้น นโยบายสำคัญยังไม่ออกมา เช่น ดิจิทัลวอลเลตก็ดี หรือซอฟต์พาเวอร์ก็ดี ยังไม่เห็นรูปธรรมเท่าไหร่ หลาย ๆ ภาคส่วนที่ระดมมาบวกกับภาษี บวกกับต้นทุนดอกเบี้ย บวกกับค่าแรง

ผมว่าต้องเริ่มแล้ว ถ้าคุณจะขึ้นค่าแรง ดอกเบี้ยควรจะยังไม่ต้องขึ้น ขอให้เขาพร้อมก่อน อย่าลืมว่าต้นทุนขึ้นหมดพร้อมกัน มาพร้อมกันทีเดียวเหมือนสึนามิต้นทุนเลย เราแบกรับไม่ไหว

Advertisment

กองทุนเอสเอ็มอี เพื่อนช่วยเพื่อน

แนวทางในการพัฒนาเอสเอ็มอีนั้น ที่ผ่านมาทางประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอี (แสงชัย ธีรกุลวานิช) ได้มีการเสนอแนวทางในการจัดกองทุนสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งหลายคนอาจจะเห็นว่ามีกองทุนอื่น ๆ เช่น กองทุนเกษตรกร คือถ้าดอกเบี้ยไม่ลดจริง ควรมีส่วนหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยตั้งเป็นกองทุน เอาเงินส่วนหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้กู้ โดยไม่อิงดอกเบี้ยตามธนาคารพาณิชย์หรือแบงก์ชาติกำหนด เช่น อาจจะคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ

ซึ่งประเด็นนี้เราก็มองอีกด้านว่าอาจจะมีความเสี่ยง แต่การพิจารณาให้กู้สำหรับเรา คือ การให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะต้องแบ่งกลุ่มให้ชัด เช่น เอสเอ็มอีบางรายไม่ได้มีหลักประกัน แต่ความสามารถทางธุรกิจไปได้ กลุ่มนี้อาจจะต้องให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วยกันร่วมพิจารณา เพราะเขาจะรู้ว่ากลุ่มนี้ไม่สามารถขอสินเชื่อเพื่อสเกลอัพได้ เพราะไม่มีหลักประกันที่จะไปกู้สถาบันการเงิน แถมมีดอกเบี้ยสูงอีก เขาก็ไม่มีเงินพอไปทำธุรกิจหรือให้ธุรกิจโต

แต่ถ้าเขาได้เงินจากกองทุนนี้ ธุรกิจเขาสามารถจะไปได้ สินเชื่อจะไม่เสียเปล่าแน่นอนเพราะเขามีเงินมาจ่ายคืน จ่ายคืนได้ก็จบ ทางกองทุนเราก็เอาไปให้ผู้ประกอบการรายใหม่กู้หมุนเวียนกันไป เหมือนเพื่อนช่วยเพื่อน เราเห็นธุรกิจนี้ไปได้ใส่เงินเข้าไป แล้วเขาเอาเงินกลับมาคืน เราก็เอาเงินส่งต่อให้ผู้ประกอบการรายใหม่ต่อไปได้ เพราะมีหลายรายที่สินค้าดี การประกอบการโตไปได้ ติดอุปสรรคอยู่ตรงที่ไปกู้สหกรณ์การเงินไม่ได้ เพราะไม่มีหลักประกัน นอกจากนี้ยังมีอีกหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญ คือ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม บสย. สามารถจะเข้ามาช่วยตรงนี้

ปัญหาความซ้ำซ้อนของกองทุน

“เรื่องกองทุนเราต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ กองทุนยังอยู่ในส่วนของภาครัฐ หลายกองทุนที่มีแต่ยังไม่ขับเคลื่อน เพราะมีความกังวล หลายเจ้าคิดว่าตัวเองไม่ใช่สถาบันการเงิน ถ้าปล่อยสินเชื่อไปโดยไม่มีหลักประกันหรือกลัวหนี้เสียจะมีปัญหาตามมา ทุกอย่างมีความเสี่ยง แต่ถ้าเราดูอย่างตรงไปตรงมาให้ผู้ประกอบการที่เขาพร้อมจริง ๆ ได้รับไป เงินทุนตรงนี้จะเป็นประโยชน์มาก ส่วนใหญ่ที่มีกองทุนจะเห็นว่าคนที่อยู่ในกลุ่มพิจารณาปล่อยสินเชื่อไม่ได้อยู่ในแวดวงธุรกิจอย่างแท้จริง เขามีความเป็นหน่วยงานราชการ

ซึ่งแน่นอนว่าเขากลัวอยู่แล้ว เพราะไม่ได้อยู่ในแวดวงธุรกิจ เขาจึงเก็บเงินไว้อย่างนั้น ไม่ถูกใช้ให้เกิดประโยชน์ แต่ถ้าเป็นคนในธุรกิจเขายอมที่จะเสี่ยง เพราะมีเรื่องอื่นที่จะมาช่วยป้องกันความเสี่ยงได้อยู่แล้ว”

เอสเอ็มอีไข้กลับ

หากรัฐบาลไม่ช่วย เรามองว่าตอนนี้เอสเอ็มอี ปี 2567 มีแนวโน้มเหมือนเพิ่งฟื้นไข้ จากวิกฤตโควิดที่ระบาดหนักมาก 3 ปี อีกส่วนจากการท่องเที่ยวเริ่มกระเตื้องขึ้นมาชดเชยส่วนที่ขาด

แต่ถามว่าสิ่งที่เอสเอ็มอีคาดหวังจากรัฐบาลว่าจะทำให้ก้าวไปได้ไกลกว่านี้ เพราะตอนนี้เราเปราะบางถ้ามีอะไรมากระทบนิดหนึ่ง สถานะที่ทรง ๆ อยู่ก็อาจจะทรุดก็ได้ เพราะเราเพิ่งผ่านโควิดมาเอง เริ่มทำมาค้าขาย คนเริ่มจับจ่ายใช้สอย เริ่มกลับมาท่องเที่ยว แต่ถ้ามีอะไรที่เป็นภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าตรงนี้ ยังไม่แข็งแรงพอ