Entertainment Complex หนุนจีดีพีโต 0.7% สร้างงานอีก 7 หมื่นตำแหน่ง

หอการค้าเผย Entertainment Complex สร้างรายได้ 0.7% ของจีดีพี ดึงลงทุนกว่าแสนล้าน เพิ่มอัตราการจ้างงาน 7 หมื่นตำแหน่ง เร่งรัฐบาลสร้างความเข้าใจประชาชน

วันที่ 10 มิถุนายน 2567 ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจความเห็นเรื่องการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) พบว่าภายใต้กรณีฐานของศูนย์พยากรณ์ฯ คาดว่ารายได้ของผู้ประกอบการกาสิโนจะอยู่ที่ 69,583 ล้านบาท หรือ 0.7% ของจีดีพี ในขณะที่รัฐบาลจะมีรายได้ 36,048 หมื่นล้านบาท ทำให้รายได้รวมอยู่ที่ 105,631 ล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 73,452 ตำแหน่ง

ส่วนการวิเคราะห์สถานการณ์ พบว่ารายได้ของผู้ประกอบการกาสิโนอยู่ระหว่าง 56,250-82,917 ล้านบาท และรายได้ของรัฐบาลอยู่ระหว่าง 32,388-38,022 ล้านบาท ทำให้รายได้รวมอยู่ระหว่าง 88,638-120,938 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ใช้บริการ (10-30%) และอัตราภาษีกาสิโน (15-20%)

โดยโครงสร้างรายได้จะแบ่งเป็นของผู้ประกอบการสถานบันเทิงครบวงจรและรัฐบาล โดยรายได้ของผู้ประกอบการสถานบันเทิงครบวงจรจะมาจากการเล่นเกม (Gross Gaming Revenue หรือ GGR) หรือเงินที่ได้จากการเล่นพนันคืนประมาณ 50-70% ของรายได้รวม ขณะที่รายได้จากการให้บริการอื่น ๆ จะเฉลี่ยอยู่ในช่วง 30-50% ของรายได้รวม

ส่วนรัฐบาลจะได้รายได้จากภาษีกาสิโน ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีเงินได้นิติบุคคล (CIT) ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมการเข้าใช้บริการคาสิโน ซึ่งเก็บเฉพาะคนท้องถิ่น เพื่อจำกัดการเข้าถึงเฉพาะกลุ่ม แต่จะไม่เก็บนักท่องเที่ยวต่างชาติ

Advertisment
อัตราภาษีกาสิโนของประเทศไทยที่ควรกำหนด

แปลงโฉมท่าเรือคลองเตย ลงทุนแสนล้าน

ดร.ธนวรรธน์กล่าวว่า ประเมินมูลค่าการลงทุนในโครงการพัฒนาสถานบันเทิงครบวงจรในประเทศไทยที่ท่าเรือคลองเตย ซึ่งมีพื้นที่ 2,353 ไร่ ซึ่งเป็นโครงการลงทุนขนาด XL มูลค่าเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาสร้างประมาณ 3-4 ปี โดยจะมีขนาดใกล้เคียงกับ The Venetian Macao ของมาเก๊า ที่มีมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ส่วน Entertainment Complex ที่ประเทศสิงคโปร์ ได้แก่ Marina Bay Sands และ Resort World Sentosa ที่มีขนาดใหญ่กว่าเกือบ 2 เท่า

“ช่วงปี 2567-2569 จะเป็นการตรากฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร และกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง ส่วนปี 2570 จะเป็นช่วงการศึกษาและขออนุมัติโครงการ จนถึงปี 2571 จะเป็นการประกาศการจัดทำข้อกำหนดโครงการ ประมูลและทำสัญญา ส่วนปี 2572-2575 เป็นช่วงการก่อสร้างและตกแต่ง คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2576”

และคาดว่าจะมีการใช้บริการ Entertainment Complex ประมาณ 4.7 ครั้งต่อคน โดยภูมิภาคที่มีแนวโน้มการใช้บริการมากที่สุด ได้แก่ ภาคเหนือ 5.5 ครั้งต่อปี ภาคกลาง 4.8 ครั้งต่อปี ภาคใต้ 4.6 ครั้งต่อปี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4.4 ครั้งต่อปี และกรุงเทพฯ และปริมณฑล 4.2 ครั้งต่อปี สำหรับผู้ที่ตอบว่าไปแน่นอน คาดว่าจะมีการใช้จ่ายในการเล่นพนันเฉลี่ยต่อครั้งอยู่ที่ประมาณ 50,000 บาทขึ้นไป

Advertisment

สร้างความเข้าใจ Entertainment Complex

ปัจจุบันจากการสำรวจพบว่ามีผู้ไม่เห็นด้วยมากถึง 41.6% ขณะที่ผู้เห็นด้วยส่วนใหญ่มีแนวโน้มเห็นด้วยน้อยที่สุดที่ 16.4% และเห็นด้วยน้อยอยู่ที่ 19.3% ขณะที่ผู้เห็นด้วยมากที่สุดมีเพียง 2.7% โดยมีผู้ไปใช้บริการแน่นอนอยู่ที่ 10.6% ขณะที่ผู้ที่ตอบว่าไม่ไปใช้บริการแน่นอนอยู่ที่ 51.3% เนื่องจากทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาชาวต่างชาติแย่ลง

สำรวจความเห็นเรื่องการเปิดสถาบันเทิงแบบครบวงจร

“ตอนนี้ถ้ารัฐบาลจะดำเนินเรื่องนี้ต่อต้องให้ความรู้กับประชาชน รับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพราะยังมีผู้ไม่เห็นด้วยมากที่สุด 41.6% แต่ก็มีเห็นด้วยมากและเห็นด้วยปานกลางประมาณหนึ่ง แสดงให้เห็นว่ายังมีหลายคนที่สับสนว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยดี จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรศึกษาให้ดีและควรให้ข้อมูลข่าวสารรอบด้านและรับฟังความเห็นประชาชนทั่วประเทศ เพราะเรื่องนี้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม” ดร.ธนวรรธน์กล่าว

กรณีศึกษา “Entertainment Complex” ในสิงคโปร์

ดร.ธนวรรธน์ยังเผยว่า ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจจากการเปิดกาสิโน กรณีศึกษาประเทศสิงคโปร์ พบว่าในปี 2565 สถานบันเทิงแบบครบวงจรมีสัดส่วน 4% ของจีดีพี โดยสามารถสร้างงานให้ประชาชนในท้องที่ประมาณ 20,000 คน และสร้างรายได้ประมาณ 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 10% ของรายได้จากภาคบริการของสิงคโปร์ และสามารถเก็บภาษีได้ 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ในปี 2565 นักท่องเที่ยวกว่า 30% ไปเยี่ยมชมสถานบันเทิงแบบครบวงจร จากนักท่องเที่ยวจำนวน 15 ล้านคน

ส่วนผลกระทบด้านสังคม การเปิดกาสิโนถูกกฎหมายทำให้รัฐบาลเก็บภาษีและนำเงินเข้ากองทุนบำบัดและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือปราบปรามการพนันผิดกฎหมาย รวมถึงหลังเปิดกาสิโนถูกกฎหมาย พบว่า ปัญหาการพนันในสิงคโปร์ลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะอัตราการติดพนัน และการพนันผิดกฎหมาย ลดลงจาก 2.1% ในปี 2548 เหลือ 1.4% ในปี 2554 และ 0.2% ในปี 2563

โดยรายได้จากการเล่นเกมในประเทศที่อนุญาตให้เปิดกาสิโนถูกกฎหมายส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย อาทิ มาเก๊ามีมูลค่าจาก GGR อยู่ที่ 32,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สิงคโปร์มูลค่าเงินสะพัด 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนประเทศฟิลิปปินส์อยู่ที่ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และเวียดนามอยู่ที่ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

มูลค่าการลงทุนในโครงการพัฒนาสถานบันเทิงครบวงจนในประเทศไทย

ผลบวก-ลบที่ไทยจะได้จาก Entertainment Complex

ประเทศไทยจะได้รับผลกระโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ดังนี้ 1.ดึงดูดการลงทุนมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาทต่อแห่ง 2.เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวและระยะเวลาพำนัก รวมถึงเพิ่มการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคน 3.เพิ่มรายได้ของธุรกิจจากสถานบันเทิงครบวงจร ได้รายได้จากการเล่นคาสิโน และรายได้จากบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

4.สร้างงานและกระจายรายได้ ก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมในอุตสาหกรรมบริการ และ 5.เพิ่มการหมุนเวียนปริมาณเงินในระบบ และการเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลที่สามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่ม

แต่อย่างไรก็ยังมีผลกระทบทางลบ ได้แก่ 1.เพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจใต้ดิน อาทิ หลีกเลี่ยงภาษีหรือฟอกเงินผ่านกาสิโนและการพนัน เร่งการเติบโตของธุรกิจผิดกฎหมายเกี่ยวข้องกับการพนัน 2.กระทบต่อภาระหนี้สินครัวเรือน เนื่องจากอัตราการติดพนันเพิ่มขึ้นหรือหนี้สินจากการพนันเพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบกับเสถียรภาพเศรษฐกิจของครัวเรือน

3.ความเหลื่อมล้ำรายได้อาจเพิ่มขึ้น เพราะรายได้กระจุกตัวเฉพาะคนในกลุ่มกาสิโนหรือกลุ่มนายทุน รวมถึงอาจจะมีความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ และ 4.ต้นทุนสังคมจากปัญหาติดพนัน ต้องมีค่ารักษา บำบัดและฟื้นฟูผู้ติดการพนัน ซึ่งส่งผลกระทบทางอ้อมต่อครอบครัวและสังคม

มาตรการป้องกันและบรรเทาผลทางลบ

  1. ออกกฎหมายและระเบียบที่เข้มงวด ผ่านกฎหมายพนันและกาสิโนที่ครอบคลุมและเข้มงวด รวมถึงระบบออกใบอนุญาตและตรวจสอบเข้มงวด ควบคู่กับการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแล
  2. ป้องกันและบำบัดการติดพนัน โดยจำกัดการเข้าถึงในกลุ่มผู้เสี่ยงสูง พร้อมให้ความรู้และรณรงค์ป้องกันติดพนัน และตั้งศูนย์บำบัดและให้คำปรึกษาผู้ติดพนัน
  3. จัดสรรรายได้พัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ด้วยการตั้งกองทุนนำรายได้พัฒนาสังคม การศึกษาและสาธารณสุข รวมถึงลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและอื่น ๆ
  4. สร้างความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน-ประชาสังคม อาทิ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกำกับดูแลและบรรเทาผลกระทบ การส่งเสริม CSR ภาคเอกชนและการเปิดให้ประชาสังคมเฝ้าระวังหรือเสนอแนะ

นอกจากนี้ยังมีข้อพิจารณาเชิงนโยบายสำหรับรัฐบาล ดังนี้

  1. เรื่องการตรากฎหมายต้องสร้างสมดุลระหว่างประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและผลกระทบทางด้านสังคม
  2. กลไกการกำกับดูแลจะต้องชัดเจน โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันการทุจริตและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน
  3. อัตราภาษีกาสิโนและเงื่อนไขส่งเสริมการลงทุนต้องสามารถแข่งขันได้เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อดึงดูดนักลงทุน
  4. เกณฑ์การเข้าใช้บริการกาสิโนสำหรับคนท้องถิ่นควรมีความเข้มงวดและรัดกุมเพื่อช่วยลดผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้น
  5. จำนวนและขนาดของโครงการลงทุนจะต้องสอดคล้องกับอุปสงค์ของตลาดเพื่อป้องกันการลงทุนเกินความจำเป็น
  6. กลไกการนำรายได้จากกิจการกาสิโนไปใช้ประโยชน์ต้องมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้