“เอลนีโญ” ปะทะ “ลานีญา” ไทยรับมือ โลกเดือด ฝนหนักสุดขั้ว

La-nina

ปี 2567 จัดเป็นปีที่โลกมีความแปรปรวนจากผลกระทบ “โลกร้อน” อย่างเห็นได้ชัด ความแปรปรวนของสภาวะอากาศ ความแห้งแล้ง หิมะละลาย ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น พายุที่พัดผ่านแต่ละทวีปทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยเองก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากโลกที่ร้อนขึ้นได้ จนส่งผลให้ปีนี้ไทยต้องเผชิญสภาวการณ์ทั้งฝนน้อยน้ำน้อย หรือ “เอลนีโญ” กับสภาวะฝนมากน้ำมาก หรือ “ลานีญา” อยู่ในปีเดียวกัน ทำให้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ต้องบริหารจัดการน้ำอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการน้ำในช่วงครึ่งปีหลัง จากที่ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้วตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา

No Return อุณหภูมิโลกไม่ลด

นายชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการและผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ หรือ TEAM Group กล่าวว่า หน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป (Copernicus Climate Change Service หรือ C3S) ได้เผยแพร่รายงานในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมานี้ว่า อุณหภูมิโลกในเดือนกุมภาพันธ์ได้พุ่งขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ โดยอุณหภูมิอากาศบนพื้นผิวตามชุดข้อมูล ERA5 เฉลี่ยอยู่ที่ 13.54 สูงกว่าค่าเฉลี่ยเดือนเดียวกันระหว่างปี 1991-2020 ถึง 0.81 องศา และสูงกว่าอุณหภูมิอากาศร้อนที่สุดก่อนหน้าในปี 2016 0.12 องศา ทำให้เดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ อุณหภูมิร้อนขึ้นถึง 1.77 องศา ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยเดือนกุมภาพันธ์ในช่วงปี 1850-1900 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม

C3S เตือนว่า ระบบภูมิอากาศจะร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะนำไปสู่อุณหภูมิสุดขั้วใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากความเข้มข้นที่แท้จริงของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศโลก ซึ่ง คาร์โล บูเอนเทมโป ผู้อำนวยการของ C3S ได้กล่าวไว้ล่าสุด

“เราต้องมาดูว่า เดือน ก.พ. อุณหภูมิร้อนขึ้น 1.77 องศา กับค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ 1.56 องศา และเคยคาดการณ์กันไว้ว่า อุณหภูมิโลกจะร้อนขึ้น 1.50 องศา ภายในปี 2050 แต่ตอนนี้มันร้อนเกินไปกว่าที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นถึง 26 ปี หรือโลกมันร้อนเร็วขึ้น ตอนนี้ก็ต้องมาดูว่า ในปี 2568 สภาวะโลกร้อนจะเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามที่ตั้งเป้าหมายกันไว้ ไม่ว่าจะเป็น COP 21 ที่ตกลงกันไว้ว่า จะไม่ปล่อยให้โลกร้อนขึ้นไปกว่าปีฐานปฏิวัติอุตสาหกรรม ก็ยังไม่สามารถปฏิบัติได้” นายชวลิตกล่าว

Advertisment

ที่สำคัญก็คือ ภาวะที่โลกร้อนขึ้นนั้นเป็นภาวะที่ “No Return” หรืออุณหภูมิโลกจะไม่ลดลงมาอีกแล้ว มีแต่จะเพิ่มขึ้น มันจะไม่หวนกลับมา มีแต่จะทับถมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่บรรยากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะคงอยู่ในชั้นบรรยากาศระหว่าง 200-450 ปี ถ้าโลกยังไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มันก็จะทับถมไปเรื่อย ๆ ตอนนี้คิดเป็น 3 Generations ของชั่วอายุคนแล้ว ที่ก๊าซเรือนกระจกสะสมอยู่จนกว่าจะสลายไปเอง “การที่อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นถึง 1.77 องศานั้นเป็นผลมาจากสภาวการณ์เอลนีโญหรือไม่ เป็น Climate Change มาเสริม El Nino หรือ El Nino มาเสริม Climate Change ทำให้มันรุนแรงขึ้น ทาง C3S เชื่อว่ามันเสริมซึ่งกันและกัน แต่ที่สำคัญก็คือ สภาวะอากาศมันสุดขั้วทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นแน่ ๆ”

เดือนมิถุนายนงดปลูกข้าวนาปี

สำหรับแบบจำลองล่าสุดของ NOAA หรือ องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศสหรัฐ ที่รายงานในช่วงของวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ระบุว่า สภาวะเอลนีโญ่ หรือ ฝนน้อยน้ำน้อย กำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ภาวะปกติในเดือนมิถุนายน ต่อเนื่องด้วยการเกิดสภาวะลานีญา หรือ ฝนมากน้ำมาก มีโอกาสเกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนจนถึงเดือนสิงหาคม ถึง 49% และมีโอกาสถึง 69% ที่ภาวะลานีญาจะเข้าสู่ช่วงสูงสุดในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน โดยอุณหภูมิของผิวน้ำทะเล ณ จุดต่าง ๆ ในเขตศูนย์สูตรด้านตะวันตก ตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิก จะมีค่า “สูงกว่า” ค่าเฉลี่ยปกติของปี

โดยแบบจำลองนี้บอกว่า ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงกว่าค่าเฉลี่ยบริเวณเส้นศูนย์สูตร 1.8 องศา คือ สภาวะเอลนีโญ ฝนน้อยน้ำน้อย Peak สุด ซึ่งประเทศไทยผ่านช่วงนั้นมาแล้ว ต่อมาอุณหภูมิของน้ำทะเลลดลงมาเหลือ 1 องศา และต่ำกว่า 0.5 องศา หรือกำลังเข้าสู่ Zone เป็นกลางในช่วงเดือนมิถุนายน และมีโอกาสถึง 69% ที่จะเข้าสู่สภาวะฝนมากน้ำมาก ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม-กันยายน ซึ่งค่าเฉลี่ยที่เป็นค่ากลางจากแบบจำลองนี้ น่าจะอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคมที่จะเกิดสภาวะลานีญาเต็มที่

อย่างไรก็ตาม เมื่อหันมาพิจารณา “ร่องฝน” หรือ “ร่องความกดอากาศต่ำ” ซึ่งจะปรากฏชัดเจนในช่วงกลางเดือนมิถุนายน ช่วงนี้ร่องฝนจะเลื่อนขึ้นไปยัง สปป.ลาว และจีนบริเวณคุนหมิงก็จะเกิดฝนตกมาก ส่งผลให้ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนตกน้อยลงในบางพื้นที่ มาจนถึงเดือนกรกฎาคมร่องฝนก็ยังไม่กลับเข้ามายังประเทศไทย ดังนั้นในช่วงเดือนกรกฎาคมจึงมีโอกาสสูงมากที่จะเกิดปรากฏการณ์ “ฝนทิ้งช่วง” ขึ้น เป็นบางพื้นที่ในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับการคาดหมายฤดูฝนของกรมชลประทาน ที่ว่าช่วงกลางเดือนมิถุนายน-กลางเดือนกรกฎาคม ปริมาณและการกระจายตัวของฝนในประเทศจะลดลง อาจทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่นอกเขตชลประทานขึ้นได้

Advertisment

“จะเกิดฝนทิ้งช่วงเป็นบางพื้นที่ของประเทศตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน ฝนจะน้อยลงแน่ จึงอยากเตือนเกษตรกรอย่าปลูกข้าวในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ เพราะข้าวจะขาดน้ำ มีโอกาสตายสูงมาก ถึงตอนนั้น กรมชลประทาน อาจจะไม่จัดสรรน้ำ หรือจัดสรรน้ำให้กับการเกษตรกรรมลดลง เนื่องจากปริมาตรน้ำใช้การได้ในเขื่อนหลักอย่าง เขื่อนภูมิพล ปัจจุบัน ณ วันที่ 7 มิถุนายน 2567 เหลือน้ำใช้การได้ คิดเป็นร้อยละ 21 (2,076 ล้าน ลบ.ม.) ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์ เหลือน้ำใช้การได้แค่ร้อยละ 15 (1,029 ล้าน ลบ.ม.) 2 เขื่อนรวมกันเหลือน้ำใช้การได้แค่ 3,105 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 19 เท่านั้น” นายชวลิตกล่าว

สาเหตุที่เขื่อนหลักทั้ง 2 แห่งมีปริมาตรน้ำใช้การได้เหลืออยู่ 3,105 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งถือว่า “ต่ำ” ทั้ง ๆ ที่ตามปกติควรจะต้องเหลือน้ำใช้การได้ในช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูฝนไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้าน ลบ.ม.นั้น เป็นเพราะที่ผ่านมามีการจัดสรรน้ำให้กับพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังเกินไปกว่าแผนที่กำหนด เนื่องจากมีการประเมินว่า ถึงที่สุดแล้วในช่วงเดือนสิงหาคม ประเทศไทยจะเข้าสู่สภาวะลานีญา หรือฝนมากน้ำมาก ปริมาณน้ำที่เหลืออยู่น่าจะเพียงพอ แต่มันก็มีความเสี่ยง หากชาวนายังปลูกข้าวนาปีตามปกติในช่วงเดือนมิถุนายน ซึ่งปลูกเกินไปกว่าแผนที่กำหนดไว้อยู่แล้ว

“การปลูกข้าวต้องใช้น้ำมาก ถ้าชาวนายังคงปลูกข้าวทั้ง ๆ ที่รู้ว่า ช่วงเดือนกรกฎาคมจะเกิดปรากฏการณ์ฝนทิ้งช่วงแน่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกข้าวในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะต้องใช้น้ำรวมกันจาก 2 เขื่อน เดือนละ 1,000 ล้าน ลบ.ม. ก็จะยิ่งเกิดความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำได้ ตรงนี้ทาง สทนช.คงต้องตัดสินใจ หากเกิดภาวะแห่กันปลูกข้าวในช่วงเดือนมิถุนายน จะจัดสรรน้ำให้หรือไม่ เพราะลำพังปริมาณน้ำที่ 3,105 ล้าน ลบ.ม. หากจะใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค อุตสาหกรรม รักษาระบบนิเวศ แล้วยังมีน้ำเพียงพอไปจนกระทั่งถึงเดือนสิงหาคมที่ฝนจะตกมาก แต่หากยังจัดสรรน้ำให้กับการปลูกข้าวในเดือนกรกฎาคมแล้ว ปริมาณน้ำก็จะเหลืออยู่ในระดับ 400-500 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งถือว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และเกิดความเสี่ยงมาก” นายชวลิตกล่าว

ระวังอุบลน้ำท่วมซ้ำซาก

แนวโน้มของ “ร่องฝน” ในเดือนสิงหาคม 2567 จะกลับมาพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยเข้าสู่สภาวะลานีญาอย่างสมบูรณ์แล้ว ตามปกติหากร่องฝนเคลื่อนที่จากจีน-สปป.ลาวลงมา “พายุ” ก็จะตามเข้ามาด้วย สิ่งที่ต้องติดตามก็คือ การก่อตัวของพายุในเขตมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก จะข้ามผ่านประเทศฟิลิปปินส์และดึงความชื้นจากทะเลจีนใต้เข้ามาขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนาม เคลื่อนที่ผ่านเข้ามายัง สปป.ลาว ก็จะเกิดทั้งฝนที่ตกตามปกติจากฤดูฝน และฝนที่เกิดจากพายุ

“ที่สำคัญก็คือ การเกิดสภาวะลานีญา ลมบริเวณเส้นศูนย์สูตรจะมีความแรงขึ้น ทำให้เกิดฝนตกมาก อุณหภูมิของผิวน้ำทะเลจะ ‘ต่ำกว่า’ ค่าเฉลี่ย มันจะดันพายุเคลื่อนที่เข้ามารุนแรงขึ้น จำนวนพายุไต้ฝุ่นที่จะเกิดในปีนี้จะเท่าเดิม ไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่พายุจะเดินทางได้เร็วขึ้น จนมีโอกาสที่พายุไต้ฝุ่นจะพัดเข้าสู่พื้นที่ของประเทศไทยตรง ๆ ใน 1 ปีเฉลี่ยจะมีพายุเกิดขึ้นประมาณ 30 ลูก ในจำนวนนี้พายุจะเคลื่อนที่ขึ้นฝั่งทั้งที่ฟิลิปปินส์-ไต้หวัน-ฮ่องกง ประมาณ 15 ลูก แต่จะมีพายุทะลุมาขึ้นฝั่งที่เวียดนามประมาณ 5 ลูก และทะลุเข้ามาถึง สปป.ลาว-ประเทศไทย ระหว่าง 1-3 ลูกเท่านั้น

ตรงนี้จะเห็นได้ว่า สภาวะลานีญ่าไม่ได้ทำให้จำนวนพายุเพิ่มขึ้น ฤดูกาลยังเหมือนเดิม แต่ลานีญาทำให้ความรุนแรงของพายุเพิ่มขึ้น ประกอบกับการเกิดปรากฏการณ์โลกร้อน ฝนที่ตกหนักถึงหนักมากจากทั้งฝนตามฤดูกาลปกติ กับฝนจากพายุ อาจจะเกิดขึ้นเป็นหย่อม ๆ ไม่ได้กระจายไปทั่วประเทศ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมหนักเป็นจุด ๆ ไปตั้งแต่เดือนสิงหาคม-กันยายน หากพื้นที่นั้นมีฝนตกหนักเกินไปกว่า 200 มิลลิเมตร” นายชวลิตกล่าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังก็คือ พายุจะเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณไหน ตามปกติในช่วงเดือนสิงหาคม ร่องฝนจะเคลื่อนที่พาดผ่านบริเวณนครพนม-มุกดาหาร ถัดมาในเดือนกันยายนก็จะเลื่อนลงมาบริเวณอุบลราชธานี

ดังนั้น พื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีจะต้องเตรียมตัวเฝ้าระวังมาก เพราะจังหวัดอุบลฯเป็นพื้นที่ปลายน้ำที่จะรับน้ำทั้งจากฝนที่ตกในจังหวัดเอง และฝนที่ตกในพื้นที่ตอนใน ตั้งแต่ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร ชัยภูมิ ก็จะไหลมาสมทบรวมกันที่จังหวัดอุบลราชธานี จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมอุบลราชธานีถึงน้ำท่วมนาน ไม่ต่ำกว่า 3 เดือน

ยิ่งปีนี้เป็นปีลานีญาด้วย น้ำก็จะมากเป็นพิเศษ หลังจากเดือนกันยายนไปแล้ว ร่องฝนก็จะเคลื่อนที่ไปยังพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ จะส่งผลให้แถบจังหวัดอีสานใต้และนครราชสีมามีฝนตกหนัก