ไทยผวาลานีญา เสี่ยง “น้ำท่วมใหญ่” ซ้ำรอยปี’54 !?

lsplashing
อัพเดตล่าสุด 30 พ.ค. 2567 เวลา 12.52 น.

วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 นับเป็นวันแรกที่ประเทศไทยที่เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ หลังจากผ่านวิกฤตเอลนีโญ ภาวะแล้งต่อเนื่องมายาวนานยังไม่ทันกลับคืนสู่สภาวะปกติ ประเทศไทยก็อาจจะต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ “ลานีญา” ต่อ ในครึ่งหลังของปีนี้ ภาวะลานีญาอาจจะส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกจนอาจเกิดเหตุซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 จึงเป็นภารกิจสำคัญของกรมชลประทานในฐานะผู้บริหารจัดการน้ำที่จะต้องรับมือกับวิกฤตครั้งนี้ เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

ยันน้ำไม่ท่วมเหมือนปี’54

นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า หลายฝ่ายอาจกังวลว่าจะซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 จากปรากฏการณ์ลานีญา ทว่าความแตกต่างระหว่างปี 2567 และปี 2554 คือ การบริหารจัดการน้ำ

ชูชาติ รักจิตร
ชูชาติ รักจิตร

โดยเมื่อครั้งน้ำท่วมครั้งใหญ่ปี 2554 เราไม่เคยใช้พื้นที่ลุ่มต่ำอย่างทุ่งบางระกำและทุ่งรับน้ำ 10 ทุ่งใต้เขื่อนเจ้าพระยาเป็นเครื่องมือรับน้ำมาก่อน ทุ่งรับน้ำเหล่านี้เป็นตัวช่วยตัดยอดน้ำ ซึ่งนี่คือความแตกต่างกับปี 2554 อีกทั้งกรมยังใช้แนวทางนี้กับการบริหารจัดการน้ำในลุ่มแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลด้วย เช่น เราให้พื้นที่ลุ่มต่ำเหล่านี้เพาะปลูกก่อน เพื่อเตรียมพื้นที่รองรับน้ำไหลผ่านในช่วงสิงหาคม-กันยายน 2567

“ความจริงแล้ว จำนวนพายุปี 2554 พายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้ามาต่อเนื่องตั้งแต่กรกฎาคมแล้ว และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปีนี้คาดว่าจะมีพายุเกิดขึ้นแค่ 2 ลูก และเกิดในช่วงสิงหาคม-กันยายน รวมถึงเรายังมีเครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่มีความพร้อมต่างจากปี 2554 ทั้งยังเร่งจัดการสิ่งกีดขวางทางลุ่มน้ำให้ทันก่อนเดือนกันยายน สิ่งเหล่านี้ก็คงช่วยยืนยันให้ความมั่นใจได้ระดับหนึ่งว่าจะไม่ซ้ำรอยปี 2554 แต่อย่างไรก็ตาม ต้องเฝ้าติดตามต่อในอนาคต”

หมดเอลนีโญ เสี่ยงลานีญา

นางสาวกรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เผยว่า ปริมาณฝนสะสมของประเทศไทยปี 2567 ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนเมษายน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 24% แต่เมื่อเข้าสู่เดือนพฤษภาคมปริมาณน้ำฝนเริ่มเพิ่มขึ้นเพราะอานิสงส์จากพายุฤดูร้อน รวมถึงเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567

Advertisment

ซึ่งทางกรมอุตุนิยมฯได้ประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่หน้าฝนอย่างเป็นทางการ ทำให้ปริมาณน้ำฝนในแต่ละภาคเริ่มดีขึ้น ซึ่งเฉลี่ยภาพรวม “สูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ” 16% รวมถึงจากพยากรณ์ 7 วันล่วงหน้า (27 พ.ค.-2 มิ.ย. 67) ยังพบว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทย ส่งผลให้มีฝนเพิ่มขึ้นและฝนมากบางแห่ง

“สถานการณ์เอลนีโญตอนนี้อยู่ในเกณฑ์ภาวะที่เป็นกลางเพิ่มมากขึ้นในเดือนมิถุนายน โดยมีแนวโน้มประมาณ 69% ที่จะเปลี่ยนไปสู่เป็นปรากฏการณ์ลานีญา ในเดือนกรกฎาคม-กันยายน และต่อเนื่องจนถึงปลายปี 2567 แต่อย่างไรก็ตาม บ้านเรามีหลายปัจจัยมากที่มีผลต่อปริมาณน้ำฝน ไม่ได้มีแค่ปรากฏการณ์ลานีญาเท่านั้น อาทิ หย่อมความกดอากาศต่ำ พายุหมุนเขตร้อน หรือมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตลอดจนแนวร่องความกดอากาศต่ำที่พาดผ่าน ก็เป็นอีกปัจจัยที่จะกระทบกับปริมาณน้ำฝน”

กราฟฟิก จัดการน้ำ

อีกทั้งคาดว่า ปริมาณน้ำฝนตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมจนถึงกันยายนจะกระจายตัวดีต่อเนื่อง ยกเว้นช่วงกลางมิถุนายนจนถึงกลางกรกฎาคม ที่ปริมาณการกระจายฝนลดลง เพราะร่องความกดอากาศต่ำมีแนวโน้มเคลื่อนไปประเทศจีนตอนใต้ ทำให้ปริมาณฝนลดไปบ้าง แต่ไม่ถึงกับว่าขาดไป แม้ว่าปริมาณฝนจะน้อยกว่าเมื่อเทียบกับปี 2566 แต่ฝนจะเยอะช่วงปลายปีมากกว่า ซึ่งคาดว่าปริมาณน้ำฝนของฤดูฝนปีนี้จะใกล้เคียงกับค่าปกติหรือสูงกว่าค่าปกติเล็กน้อย

Advertisment

“ช่วงสิงหาคม-กันยายนเป็นช่วงฝนตกชุก เหมาะสำหรับการบริหารจัดการน้ำเพื่อเตรียมความพร้อมหน้าแล้งปี 2568 อีกทั้งคาดว่าในช่วงดังกล่าวมีโอกาสสูงที่พายุหมุนเขตร้อนจะเคลื่อนเข้าใกล้หรือเคลื่อนผ่านไทย บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ประมาณ 1-2 ลูก ซึ่งเป็นการคาดการณ์ในระยะยาว ยังต้องเฝ้าติดตามพยากรณ์อย่างต่อเนื่อง”

เปิดแผนจัดการน้ำปี’67

นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ปัจจุบัน (26 พ.ค. 2567) ประเทศไทยมีน้ำกักเก็บ 39,500 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 51% ต่ำกว่าข้อมูลเมื่อต้นฤดูฝน (1 พ.ค. 2567) ไทยมีน้ำกักเก็บ 41,765 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 55% จากความสามารถกักเก็บน้ำ ซึ่งในตอนนั้นก็ยังนับว่าน้อยกว่าปี 2566 อยู่ที่ 3% หรือคิดเป็น 2,239 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปริมาณน้ำลดลงในเกือบทุกภาค โดยเฉพาะภาคกลางที่ปริมาณน้ำลดลงถึง 12%

สำหรับปริมาณน้ำใช้การ (26 พ.ค. 2567) ปริมาณ 15,518 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 29% ต่ำกว่าตัวเลขต้นฤดู ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ที่มี 17,826 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ความต้องการใช้น้ำทั้งหมดที่วางแผนอยู่ที่ 36,185 ล้าน ลบ.ม.

หากแยกรายภาค ปริมาณน้ำเก็บกักอ่างน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ภาคเหนือมีปริมาณ 12,117 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 7% จากปี 2566 สามารถรับน้ำเพิ่มได้ 13,791 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันตกมีปริมาณ 18,125 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 0.1% จากปีก่อน สามารถรับน้ำได้เพิ่ม 8,644 ล้าน ลบ.ม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณ 4,748 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 0.2% จากปีก่อนและสามารถรับน้ำเพิ่มได้ 5,681 ล้าน ลบ.ม. ภาคกลาง มีปริมาณน้ำ 420 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 12% จากปี 2566 รับน้ำได้อีก 1,417 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกมีปริมาณ 819 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 10% จากปีก่อน และสามารถรับน้ำเพิ่มอีก 1,702 ล้าน ลบ.ม. มีเพียงภาคใต้เท่านั้นที่ปริมาณกักเก็บน้ำ 5,536 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 2% จากปี 2566 และสามารถรับน้ำได้เพิ่มอีก 3,337 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับการจัดสรรน้ำฤดูฝนตามแผนประมาณ 15,300 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปัจจุบันก็จัดสรรไปแล้ว 3,379 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 22% จากแผน คงเหลือที่ต้องจัดสรรอีก 11,921 ล้าน ลบ.ม.

ซึ่งแผนการปลูกข้าวนาปีอยู่ที่ 17 ล้านไร่ วันนี้ปลูกไปแล้ว 2.15 ล้านไร่ หรือประมาณ 13% ด้วยกัน

เดินหน้า 10 มาตรการ

ทั้งนี้ กรมชลประทานยังคงยึด 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2567 ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) วางไว้ แต่ได้ต่อยอดมาสู่ 6 แนวทางปฏิบัติ ได้แก่ 1.เก็บกักน้ำเต็มประสิทธิภาพ โดยใช้กระบวนการ SWOC และเครือข่าย สชป. 1-17 พร้อมจัดทำเส้น DOC (Dynamic Operation Curve) ทุกสัปดาห์ เพื่อบริหารน้ำตั้งรับภัยแล้งปี 2568

2.คาดการณ์พื้นที่เสี่ยง จำนวน 1,267 จุด รวมถึงปรับปฏิทินการเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มน้ำต่ำ เพื่อให้ปลูกและเก็บเกี่ยวก่อนที่น้ำมา เช่นเดียวกับพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนล่าง

ทั้งยังมี 3.หลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางทางน้ำ ซึ่งตอนนี้สามารถกำจัดวัชพืชไปได้แล้ว 3.42 ล้านตัน หรือประมาณ 44.17% จากทั้งหมด 7.74 ล้านตัน รวมถึงมีการขุดลอกแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำ 37.38 ล้าน ลบ.ม. และ 4.ระบบชลประทานเร่งระบาย ตลอดจน 5.Stand by เครื่องมือเครื่องจักร และ 6.แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์

ซึ่งแม้ว่าโอกาสที่จะเกิด “น้ำท่วมใหญ่” ซ้ำรอยปี 2554 ยังเป็นไปได้ยาก แต่ไทยต้องเตรียมแผนรับมือ “ปริมาณน้ำ” ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะมีผลเชื่อมโยงต่อผลผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิดอาจจะมีปริมาณมาก ซึ่งต้องเตรียมหาตลาดรองรับไว้ด้วย