ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เม.ย. 67 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หวั่น ‘ขึ้นค่าแรง 400 บาท’

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เม.ย. 67 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หวั่น ‘ขึ้นค่าแรง 400 บาท’ ขณะที่การจ้างงานหดตัวอยู่ระดับ 57.4 วอนรัฐทบทวนมาตรการใหม่ คาดการณ์จีดีพีปี’67 โตถึง 3%

วันที่ 15 พฤษภาคม 2567 นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index : CCI) เดือนเมษายน 2567 ปรับตัวลดลงจากระดับ 63.0 เป็น 62.1 ปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 เป็นต้นมา

การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้าค่าครองชีพสูงและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยและทั่วโลก

อีกทั้งยังมีเรื่องสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน กับอิสราเอลกับฮามาสในฉนวนกาซาที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้

Advertisment

3 ปัจจัย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคไม่โต

แม้ว่าบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยช่วงสงกรานต์จะคึกคัก แต่ยังไม่ส่งแรงกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก เนื่องจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น หลังรัฐบาลปรับราคาน้ำมันดีเซลขึ้น รวมถึงความกังวลเรื่องเงินเฟ้อจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งสอดคคล้องกับดัชนีภาวะค่าครองชีพปรับตัวลดลงในทิศทางที่แย่ลงอยู่ระดับที่ 56.7 จากระดับที่ 59.0 ในเดือนมีนาคม 2567

ปัจจัยที่ 2 คือ สถานการณ์ทางการเมือง เนื่องจากดัชนีความคิดเห็นสถานการณ์การเมืองอยู่ระดับ 71.3 ปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 9 เดือน เนื่องจากการปรับคณะรัฐมนตรีและการออกของนายปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ปัจจัยสุดท้ายคือ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ช้า เนื่องจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวลดลงจากระดับที่ 56.9 มาอยู่ที่ 56.0 โอกาสการหางานทำ ลดลงจากระดับที่ 59.8 มาอยู่ที่ 58.9 และรายได้ในอนาคตปรับตัวลดลงจากระดับที่ 72.2 มาอยู่ที่ 71.5

การที่ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่า ผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ ราคาพลังงานและค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง

Advertisment

ส่วนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 46.0 เป็น 45.3 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวลดลงจากระดับ 71.2 มาอยู่ที่ระดับ 70.2 การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาปรับตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 9 เดือนทุกรายการ

แสดงว่า ผู้บริโภคเริ่มไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นได้อย่างรวดเร็วหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันเริ่มมีความผันผวนมากขึ้นในมุมมองของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ในอนาคตอันใกล้ หากรัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

นายธนวรรธน์กล่าวว่า มหาวิทยาลัยคาดว่าเศรษฐกิจไทย ปี 2567 มีโอกาสจะขยายตัวถึง 2.6-3.0% จากประชาชนยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย แต่หากนโยบายเงินดิจิทัลวอลเลต ออกมาในไตรมาส 4 บวกกับการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมจะทำให้มีเงินอัดฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจประมาณ 100,000 ล้านบาท ส่วนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทแม้จะมีผลกระทบกับภาคธุรกิจ แต่ถ้าทยอยปรับขึ้นก็ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจติดลบ

เอกชนทั่วประเทศกังวลค่าแรง 400

นายธนวรรธน์เผยว่า ภาคธุรกิจมองว่า นับตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยฟื้นที่ฐานเดิมหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ทว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นกลับมาไม่มาก เนื่องจากภาคเอกชนเจอภาวะต้นทุนที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟหรือดอกเบี้ย ทำให้ภาคเอกชนตอบสนองกับนโยบายรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับมาตรการดูแลค่าไฟและดอกเบี้ย ทว่าสำหรับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ

โดยส่วนใหญ่เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ควรขึ้นค่าแรงตามศักยภาพตามแต่ละจังหวัด อาทิ แม้จังหวัดภูเก็ตได้รับอานิงส์จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นกลับมา แต่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 370 บาทเป็น 400 บาท นั่นหมายความว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 30 บาท ขณะที่การขึ้นค่าแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีค่าแรงต่ำสุดอยู่ที่ 330 บาท เท่ากับว่าต้องจ่ายเพิ่มถึง 70 บาท ดังนั้นการคำนวณขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้องวิเคราะห์จากเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพในแต่ละจังหวัด

เอกชนจึงแสดงออกมาว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะต้องมีหาแนวทางการแก้ไขหรือมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ หากมีการขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่าขึ้นตามประกาศรัฐบาล เพราะภาระทางการเงินจะอยู่ที่เอกชน 100% แตกต่างจากนโยบายทางการคลังที่รัฐเป็นเจ้าของนโยบาย อาทิ เงินดิจิทัลวอลเลต ขณะที่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำกระทบกับภาคเอกชนโดยตรง ประกอบกับเศรษฐกิจเพิ่งฟื้นและมีภาระต้นทุนที่สูงขึ้น รวมถึงจากประสบการณ์ที่ผ่านมาก็มีเอกชนในหลายธุรกิจก็ล้มหายตายจากไปมากพอสมควร อาทิ ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย อยู่ที่ 53.3

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนเมษายน 2567 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย อยู่ระดับที่ 53.3 ในเดือนเมษายน 2567 เพิ่มขึ้นจาก 53.1 ในเดือนมีนาคม โดยเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในอนาคตปรับตัวลดลง 0.1 จากระดับที่ 57.3 มาอยู่ระดับที่ 57.2 แสดงว่า ผู้ประกอบการยังอยู่ในสถานการณ์เชื่อมั่นปกติ แต่เริ่มมีสัญญาณถึงความไม่มั่นใจในอนาคต

แต่อย่างไรก็ตามทุกดัชนีมีอัตราการเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาในทุกรายการประมาณ 0.1 และมีเพียงดัชนีการท่องเที่ยวที่ยังไม่เกินระดับที่ 50 เพราะแม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเข้ามามาก แต่ยังไม่เท่ากับสภาวะปกติ อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

ส่วนเศรษฐกิจของจังหวัดโดยรวม มีทั้งจังหวัดที่เศรษฐกิจขยายตัวดีและชะลอตัว ส่วนการบริโภคในหลายพื้นที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในจังหวัดมีการชะลอตัวเพื่อรอดูภาวะเศรษฐกิจและมาตรการรัฐ ส่วนการท่องเที่ยวแม้ปรับตัวดีขึ้นจากเทศกาลสงกรานต์ แต่ในบางพื้นที่ นักท่องเที่ยวก็ไม่ได้เยอะเมื่อเทียบกับหลายพื้นที่

สำหรับภาคเกษตรก็มีดีขึ้นในบางพื้นที่เนื่องจากราคาผลผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามก็มีอีกหลายพื้นที่แย่ลงเนื่องกจากผลผลิตขาดแคลนจากภาวะแล้ง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้า ภาคการค้าชายแดนจังหวัด และภาคบริการของจังหวัดปรับตัวดีขึ้น ทว่า การจ้างงานในจังหวัดปรับตัวลดลงระดับที่ 57.4 แสดงว่า ภาคเอกชนยังชะลอตัวการจ้างงาน เพื่อรอการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่เกิดขึ้น แต่อย่างไรคาดว่า ในอีก 6 เดือนข้างหน้าสถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้น

ข้อเสนอรัฐ กระตุ้นเศรษฐกิจ เร่งใช้งบฯปี’67

ทางเอกชนจึงขอให้รัฐบาลเร่งมาตรการส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งแนวทางการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มีการจับจ่ายซื้อของเพื่อเพิ่มกาลังซื้อในพื้นที่ อาทิ นโยบายฟรีวิซ่าจีน และการขยายวีซ่าให้นักท่องเที่ยวอินเดียและไต้หวัน

เนื่องจากดัชนีการท่องเที่ยวของกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงภาคกลางยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50% แสดงให้เห็นว่า การท่องเที่ยวยังไม่กลับมาครบถ้วนตามปริมาณอุปทานที่มีอยู่ ขณะที่การท่องเที่ยวในหัวเมืองก็เพิ่งปรับค่าแรงเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาเป็น 400 บาท ทำให้การท่องเที่ยวในเมืองหลักไม่ได้กลับมาฟื้นตัวอย่างโดดเด่น

นอกจากนี้ รัฐบาลต้องเร่งระบายการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้าง ทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า ภายในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม จะเริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจมีความคล่องตัวขึ้น ส่วนปัญหาภัยแล้งเองก็น่าจะทุเลาลง หากมีการบริหารจัดการน้ำที่ถูกต้องและเพียงพอกับภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน

ทั้งนี้ ต้องหามาตรการดูแลและรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และการค้าการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพราะหากค่าเงินไทยอ่อนมากเกินไปจะเป็นภาระต้นทุนมากกว่าผลดีการส่งออก ควรแกว่งตัวอยู่ในกรอบไม่เกิน 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และไม่ควรผันผวนมากเพื่อให้เอกชนสามารถคำนวณราคาต้นทุนได้ถูกต้อง