เอลนีโญมาแล้ว กระทรวงทรัพย์ฯเปิดแผนรับมือภัยแล้ง เตรียมจุดจ่ายน้ำบาดาล 607 แห่ง

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเมินเอลนีโญทำวิกฤตภัยแล้งกระทบทั้งประชาชนและภาคการเกษตร เตรียมจุดจ่ายน้ำบาดาล 607 แห่ง เตือน 13 จังหวัดเสี่ยงขาดแคลนน้ำ เปิดแผนรับมือทั้งระยะสั้น-ยาว งบประมาณ 12,048 ล้านบาท ลุย 945 โครงการ น้ำต้นทุนเพิ่ม 120.59 ล้าน ลบ.ม. พร้อมเปิดศูนย์บรรเทาทุกข์ชาวบ้าน เพิ่มสายด่วน Green Call รับแจ้งภาวะน้ำแล้ง

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปี 2567 นี้ คาดว่าวิกฤตภัยแล้งจะมีความรุนแรงและยาวนานกว่าที่ผ่านมา ด้วยภาวะเอลนีโญ ซึ่งปัญหาภัยแล้งดังกล่าวจะส่งผลกระทบทั้งประชาชนทั่วไปและภาคการเกษตร

ดังนั้น จึงส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยแล้ง สำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ต้นน้ำและแหล่งน้ำสาธารณะที่มีศักยภาพ เพื่อให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น สำรวจพื้นที่ขาดแคลนน้ำและจัดทำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จุดจ่ายน้ำบาดาลต้องพร้อมใช้งาน จุดไหนมีปัญหาให้เร่งซ่อมแซม

นอกจากนี้ ยังเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง มีการจัดบ่อน้ำบาดาลทั่วประเทศ เฉพาะบ่อราชการ 105,243 บ่อ และบ่อสังเกตการณ์ระดับน้ำบาดาลและคุณภาพน้ำบาดาล 1,956 บ่อ 1,183 สถานี รวมถึงการเปิดศูนย์บรรเทาภัยแล้งที่อยู่ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อร่วมกันทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและบรรเทาภาวะขาดแคลนน้ำ

Advertisment

นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลกล่าวว่า กรมได้เตรียมความพร้อมมาตรการเชิงรุกใน 5 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการซ่อมบำรุงรักษาและฟื้นฟูระบบประปาบาดาลเดิม 1,714 แห่ง โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบน้ำบาดาลด้วยการเจาะน้ำบาดาลเพิ่มเติม ในโครงการระบบประปาบาดาลเดิมที่ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ในพื้นที่ที่มีศักยภาพน้ำบาดาล 210 แห่ง

โครงการเพิ่มน้ำต้นทุนให้กับประชาชน ทั้งน้ำอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่โครงการพระราชดำริ 12 แห่ง โครงการน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน 243 แห่ง โครงการน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ 336 แห่ง โดยทั้งหมดจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน 36.37 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี มีครัวเรือนได้รับประโยชน์ 73,388 ครัวเรือน (293,552 ราย) และมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 20,160 ไร่

นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำกล่าวว่า สำหรับแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2566/2567 คาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การ ณ วันที่ 1 พ.ย. 2566 อยู่ที่ 74,016 ล้าน ลบ.ม. และมีสำรองน้ำต้นฤดูปี 2567 ที่ 43,475 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจัดสรรให้อุปโภคบริโภค 14% รักษาระบบนิเวศ 34% เกษตรฤดูแล้ง 48% อุตสาหกรรม 4%

ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ หากเป็นทางด้านการเกษตร นอกเขตชลประทาน คือพื้นที่นารอบที่ 2 (นาปรัง) 13 จังหวัด 33 อำเภอ 64 ตำบล พื้นที่พืชต่อเนื่อง (ไม้ผลที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ) 22 จังหวัด 68 อำเภอ 168 ตำบล

Advertisment

ทั้งนี้ ภายใต้โครงการเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือช่วงฤดูแล้ง ปี 2567 ซึ่งจะมีทั้งหมด 945 โครงการนั้น เตรียมงบประมาณไว้ 12,048 ล้านบาท ผลที่จะได้รับคือ มีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่ม 120.59 ล้าน ลบ.ม. จำนวนครั้วเรือน 178,670 ครัวเรือน พื้นที่ได้รับประโยชน์ 357,863 ไร่

สำหรับช่องทางรับแจ้งภาวะน้ำแล้งผ่านสายด่วน Green Call 1310 กด 4 กรมทรัพยากรน้ำบาดาล 1310 กด 5 กรมทรัพยากรน้ำ